เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทำให้โลกทั้งใบติดต่อสื่อสารกันได้ภายในเสี้ยววินาทีด้วยอินเตอร์เนตความเร็วสูง แต่เทคโนโลยีที่รวดเร็วและทันสมัยไม่ได้ถูกนำไปใช้ในด้านดีเพียงอย่างเดียวกลับถูกคนบางจำพวก นำไปใช้หาประโยชน์หนึ่งในนั้นคือการพนันออนไลน์ มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชนของเรา
วันก่อนศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “เปิดพฤติกรรมเยาวชนไทย...รู้เท่าทันภัยพนัน?” ที่โรงแรมแมนดาริน มี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ
รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ อาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หัวหน้าทีมวิจัย เรื่อง การรู้เท่าทันสื่อชวนพนันออนไลน์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เปิดประเด็นงานวิจัยว่าได้สุ่มเลือกนักศึกษาที่กำลังศึกษาและจบไปแล้วที่มีพฤติกรรมเล่น พนันออนไลน์ 12 คน กับถามนักศึกษาอีก 400 คน พบว่าสาเหตุการเล่นพนันออนไลน์นั้น เกิดจากความรู้ที่ไม่เพียงพอคิดว่าเป็นเพียงเกมออนไลน์ที่มีเงินรางวัลเป็นเพียงการเสี่ยงโชคทำให้สนุกตื่นเต้น และสิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์เพราะพบเห็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และอยู่ในชุมชนที่เล่นพนันออนไลน์จึงมองว่าเป็นเรื่องปกติ
ส่วนการรู้เท่าทันสื่อชวนพนันออนไลน์นั้นนักศึกษาค่อนข้างรู้ดีว่าสื่อโฆษณาเกี่ยวกับการชวนเล่น พนันออนไลน์นั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เป็นเพียงข้อเสนอให้ผู้รับสารเลือกเองว่าจะเข้าไปเล่นหรือไม่ โดยไม่ได้บังคับขู่เข็ญ และไม่คิดว่าการใช้กฎหมายเข้ามาจัดการกับการเล่นพนันออนไลน์ของวัยรุ่นนักศึกษาจะได้ผล เพราะนักศึกษาไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือสร้างความเสียหายใดๆ ไม่คิดว่าต้องเกรงกลัวกฎหมายรวมถึงคิดว่ามีการเก็บส่วยจากเจ้าของเว็บพนัน จึงเชื่อว่าไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการเพื่อติดตามจับกุมหรือลงโทษมากนัก ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ควรใช้การเรียนรู้ที่สนุกสนานผ่านเกมที่วัยรุ่นชอบเล่นกัน รวมทั้งให้คนที่มีประสบการณ์จริงเล่าปัญหาและผลกระทบกับนักศึกษาน่าจะได้รับความสนใจและน่าเชื่อถือมากกว่าให้อาจารย์มาสอน
งานวิจัยชิ้นที่ 2 นำเสนอโดย ผศ.ดร.ไพฑูรย์ สอนทน อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์กับปัญหาการพนัน ของนักเรียนมัธยมศึกษา จ.เพชรบูรณ์ ถามนักเรียนชั้นม.1-ม. 6 จำนวน 4 โรงเรียน กลุ่มตัวอย่าง 3,744 คน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 50.1 มีทัศนคติที่ดีต่อการเล่นพนัน แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.10 เห็นด้วยหากจะห้ามเล่นการพนันอย่างสิ้นเชิงรวมทั้งนักเรียนส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นและมองว่าตัวเองไม่มีปัญหาจากการพนันเลย ส่วนคนที่เล่นการพนันออนไลน์บ่อยสุด 1-4 ครั้งต่อวัน เพราะเห็นว่าสะดวกเล่นได้ทุกที่ เพื่อนชวนเล่นเพื่อเข้ากลุ่ม ช่องทางในการเล่นมีทั้งผ่านไลน์ แอปแชทและเล่นโดยตรงกับเว็บไซต์พนัน
ด้านผลกระทบพบว่าคนที่เล่นพนันออนไลน์เป็นบางครั้งมีความเสี่ยงต่อปัญหาการพนัน 3 เท่า แต่คนที่เล่นเป็นประจำมีความเสี่ยงถึง 6 เท่า เมื่อเทียบผู้ไม่เล่นการพนันออนไลน์ และยังพบว่าผู้ที่มีปัญหาการติดพนันมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่มีปัญหาการพนันข้อค้นพบอีกอย่างหนึ่งที่น่าตกใจคือเด็กมัธยมจังหวัดเพชรบูรณ์มีภาวะซึมเศร้าปานกลางถึงรุนแรง สูงถึงร้อยละ 29.7 รวมทั้งยังมีปัญหาความเสี่ยงทางสุขภาพอื่นเช่นนักเรียนถึงร้อยละ 53.6 ที่รับประทานอาหารหวาน และน้ำอัดลมบ่อยๆ และยังมีการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ไฟฟ้า รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา สูบบุหรี่มวน สูบกัญชา รวมร้อยละ 46.4 จึงต้องหาทางแก้ไขทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติเพื่อลดการเข้าถึงและลดผลกระทบโดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า
ส่วน นายอุบล สวัสดิ์ผล หัวหน้าทีมวิจัยเรื่อง วัคซีนต้นกล้า..การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เท่าทันการ พนันออนไลน์ในโรงเรียนกีฬา บอกว่าทีมวิจัยเลือกพื้นที่
วิจัยแบบเจาะจงคือโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ผ่านแกนนำนักวิจัยสภานักเรียน 25 คน กลุ่มนักเรียน ม.1-ม.6 จำนวน 569 คน และครูแกนนำ 8 กลุ่มสาระ 20 คนโดยการหาวิธีการให้ความรู้เพื่อให้เด็กได้รู้เท่าทันการพนันการพนันออนไลน์ผ่านการตั้งคำถามพบว่าเมื่อพูดถึงคำว่าเล่นพนันนักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 44.3 นึกถึงพนันออนไลน์มากที่สุด ทั้งสล็อต สล็อต PG บาคาร่า ไพ่ ยิงปลา มีเพียงร้อยละ 24.5 ที่นึกถึงกฎหมาย ศีลธรรมและผลกระทบ
ส่วนการรับรู้พฤติกรรมและการเข้าถึงการพนันนั้นปรากฏว่า มีนักเรียนถึงร้อยละ 79.5 รู้ว่ามีการเล่นพนันในโรงเรียน นอกจากนั้นยังรู้ว่าคนในชุมชน ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวเล่นพนันเช่นกัน การรู้จักและเข้าถึงการพนันมาจากช่องทางสื่อออนไลน์สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อนักเรียนมาก ที่น่าห่วงคือนักเรียนมีประสบการณ์เคยเล่นพนันออนไลน์ทั้งหวยหุ้นไทยและต่างประเทศ ปลากัด แข่งม้า วัวชน ชนไก่ ผลการวิจัยสะท้อนว่าพื้นฐานที่แตกต่างกัน รายได้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การสื่อสารทำให้มุมมองด้านทัศนคติ การรับรู้การเข้าถึง มีผลต่อพฤติกรรมและผลกระทบจากพนันออนไลน์มากกว่าการพนันปกติที่เด็กเคยมีประสบการณ์ในอดีต การเรียนรู้เพื่อเท่าทันพนันออนไลน์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้วยกระบวนการกลุ่มเรียนรู้ภายใต้แนวคิด EF หรือ Executive Function ทำให้เด็กได้ควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรมเพื่อยับยั้งชั่งใจ การพึ่งพาตัวเองในการเอาตัวรอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน แสดงความเห็นว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนักการพนันหน้าใหม่เกิดขึ้น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนมีเวลาอยู่บ้านและเล่นอินเตอร์เนตเห็นการโฆษณาพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่องทำให้มีการเล่นการพนันเกือบ 3 ล้านคน อยากให้สื่อมวลชนช่วยลองคิดวิธีการรณรงค์ในรูปแบบใหม่ๆ นำเสนอซึ่งศูนย์ฯ ก็พร้อมจะประสานความร่วมมือทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ นายพิทักษ์เดช ชุมไชโย รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เห็นว่าการที่เด็กเห็นโฆษณาบ่อยๆ ทำให้อยากเข้าไปทดลองเล่นการพนัน จนกลายเป็นติดการพนัน เด็กทุกคนรู้ว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องผิด รู้ว่าไม่ดี แต่ทำไมยังเล่น เพราะเขาขาดความตระหนัก เห็นด้วยกับการนำคนที่มีประสบการณ์มาบอกเล่า นั่นคือแนวทางที่สภาฯจะต้องนำไปเป็นเครื่องมือในการสื่อสารต่อไป
ด้านสื่อมวลชน และเยาวชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายว่าเห็นด้วยกับการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ควรทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยทั้งการผลักดันเนื้อหาเข้าไปในหลักสูตรต่างๆ การปรับปรุงกฎหมายพนันออนไลน์ การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักปิดช่องทางทั้งในและต่างประเทศการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เอื้อประโยชน์และเกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์
ปิดท้ายด้วย รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน บอกว่าการรู้เท่าทันภัยพนันจำเป็นต้องช่วยกันหาคำตอบใหม่เพื่อตอบโจทย์ใหม่ๆ เช่น เรื่องการรับรู้และมุมมองที่แตกต่าง การบอกว่าพนันไม่ดีแต่คนเล่นจะสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองว่าพนันก็เป็นแค่เล่นหรือหารายได้ไม่ได้เสี่ยงอะไร
ครับ เมื่อสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กและเยาวชนเต็มไปด้วยการพนันอย่างนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ใช่โยนภาระไปให้ใครต้องรับผิดชอบแต่เพียงลำพัง