“โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT)” กำหนดให้ “วันจันทร์แรกในเดือนตุลาคม” ของทุกปีเป็น “วันที่อยู่อาศัยสากล (World Habitat Day)” เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการจัดหาที่อยู่อาศัยและการจัดการชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องด้วยที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัย 4 จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้
สำหรับวันที่อยู่อาศัยสากล ประจำปี 2566 จะตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ต.ค. 2566 ซึ่งตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย. 2566 เป็นต้นมา ได้มีหลายเวทีที่จัดร่วมกันระหว่างภาครัฐ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย นอกจากจะสะท้อนปัญหาข้อพิพาทเรื่องผู้อยู่อาศัยบนที่ดินของหน่วยงานรัฐแล้ว “คนเช่าห้องอยู่” ก็เป็นอีกเรื่องที่ถูกพูดถึง
วงเสวนา “สถานการณ์ผู้เช่าห้อง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวทีขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก สำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง จัดขึ้นที่ พอช. เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566ที่ผ่านมา ธนชัย วรอาจ ผู้ออกแบบรายการ Poor Cultureเล่าถึงรายการของตนที่พาไปดูชีวิตของผู้คนในชุมชนแออัด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยวัดขนาดห้องที่คนเหล่านี้อยู่ พบมีขนาดกว้าง 2.2 เมตร ยาว 2.7 เมตร ผู้อาศัยเล่าว่าอยู่ที่นี่มา 30 ปีแล้ว ที่ย้ายเข้ามาเพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตั้งอยู่และแม้ภายหลังโรงงานจะปิดแต่ก็ไม่ได้ย้ายไปไหนอีก เสียค่าเช่าเดือนละ 280 บาท ค่าน้ำ-ไฟฟ้า เดือนละ 600 บาท
“ผมโตมากับการที่เห็นคนรอบๆ บ้านผมมีที่อยู่คล้ายๆ กัน แต่ผมต้องไปตลาดเพื่อซื้อของเข้าบ้าน พี่ๆ ที่เอาของมาขายผมนี่แหละมีชีวิตอยู่ไม่ได้สะดวกเหมือนที่ผมอยู่แต่เขาทำให้ผมมีกิน เขาขับเคลื่อนชีวิตผม ขับเคลื่อนชีวิตคนอื่นๆ ในสังคม แต่เราแทบไม่มีโอกาสได้เห็นเลยว่าเขาอยู่อย่างไร วันหนึ่งผมโตขึ้นมา บนอินเตอร์เนตเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่าโฮมทัวร์ พาไปดูบ้านคนโน้นคนนี้ ไปดูแต่บ้านคนรวยมันทำให้คนมีความหวังอยากมีชีวิตที่ดี แต่ในอีกทางหนึ่ง มันกลับเป็นการปิดกั้นการรับรู้ของเราพอสมควรว่าจริงๆ แล้วประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้มีชีวิตอยู่แบบนั้น” ธนชัย กล่าว
ข้อคิดที่ได้จากการทำรายการ Poor Culture ธนชัย มองว่า คือไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือเป็นสื่อ หากสามารถพูดคุยได้ก็อยากให้ช่วยกันพูดคุยประเด็นที่อยู่อาศัย “เราอยู่ในสังคมที่แต่ละคนจะรับรู้เฉพาะวิถีชีวิตของคนระดับเดียวกัน แต่ไม่ค่อยได้รับรู้วิถีชีวิตของคนที่มีระดับแตกต่างกันออกไป” คนจน-ชนชั้นล่าง อยู่ห้องเช่าราคาถูก ก็จะรับรู้คุณภาพชีวิตและเงื่อนไขการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ แต่ชนชั้นกลางระดับบนไปจนถึงคนรวยก็มักจะไม่มีโอกาสได้รับรู้เรื่องเหล่านี้ เมื่อไม่เห็นก็จะไม่เข้าใจ และหากไม่เข้าใจก็ไม่ต้องพูดถึงการเคลื่อนไหวอื่นๆ อีก
ณภัทร เสนาะพิณ ผู้แทนกลุ่มห้องเช่าหัวลำโพงและปทุมธานี เล่าถึงโครงการ “ห้องเช่าคนละครึ่ง” ที่ช่วยให้ “คนไร้บ้าน” จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มนับหนึ่งใหม่ในชีวิตอีกครั้งได้ด้วยการใช้จุดนี่เป็นที่อยู่อาศัยตั้งต้น โดยจ่ายค่าเช่าเพียงครึ่งหนึ่ง กระทั่งต่อมาสามารถออกไปหาที่พักภายนอกและจ่ายค่าเช่าได้ในราคาเต็ม พร้อมๆ กับการกลับมามีงานทำอีกครั้ง ซึ่งโครงการห้องเช่าคนละครึ่งทำให้คนสามารถก้าวออกมาจากจุดที่ตนเองไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีกับชีวิต เช่น เมื่อจะไปสมัครงานก็ตอบนายจ้างได้ว่าพักอาศัยอยู่ที่ใด ไม่ใช่นอนอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
“ส่วนมากเลยในมุมของคนไร้บ้าน มันก็ขึ้นอยู่กับตัวคนไร้บ้านเองด้วยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองในทางที่ดีขึ้น แล้วบวกกับโอกาสที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นเข้ามาแล้วเราสามารถที่จะรับตรงนี้ไว้ได้ด้วย แล้วก็อยากให้มีห้องเช่าราคาถูกนี้ที่จะสามารถผลักดันให้มีที่พักเป็นของตัวเองไม่ต้องกลับไปอยู่ในสภาวะคนไร้บ้านแบบเดิมๆ” ผู้แทนกลุ่มห้องเช่าหัวลำโพงและปทุมธานี กล่าว
ทองม้วน ลุนไชยภา ผู้เช่าห้องย่านกีบหมู กล่าวว่าห้องพักที่ตนอยู่นั้นขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร อยู่กัน 5 คน โดยพื้นเพเดิมเป็นชาว จ.อุดรธานี เข้ากรุงเทพฯ มาทำงานเป็นช่างก่อสร้างและพักที่ชุมชนกีบหมูแล้ว 15 ปี ค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่าห้องและค่าน้ำ-ไฟฟ้า เฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาทต่อเดือน
ยังไม่นับค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประจำวัน และ “ความฝันที่อยากเก็บเงินซื้อที่ดินปลูกบ้านสักหลังที่บ้านเกิดนั้นยังห่างไกล” จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ซึ่งตนก็อยากได้บ้านหรือห้องเช่าที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้
“เช้าตื่นมาต้องเตรียมตัวไปเลย ไปรองาน ไม่รู้จะได้หรือไม่ได้ เถ้าแก่บางเจ้ามาเรียกถึงจะได้ไป ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ไปก็ตกงานไปเลยวันนั้น รายได้ต่ำสุด 7,000 บาทต่อเดือน สูงสุดประมาณ 15,000 บาท แบ่งค่าใช้จ่ายเป็นค่ากับข้าวใช้ค่าห้องเป็นส่วนมาก เน้นที่ค่าอยู่อาศัย กีบหมูมีผู้อยู่อาศัยแบบเราเยอะ ความยากลำบากที่เจอคือไม่มีงานทำ หรือตอนที่เราตกงานก็ไม่มีสตางค์ เงินมันต้องใช้จ่ายทุกวัน” ทองม้วน กล่าว
อภิญญา จารุวัฒนชัยกุล ตัวแทนผู้เช่าห้องย่านสัมพันธวงศ์ กล่าวว่า เขตสัมพันธวงศ์ถือเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ จากการสำรวจพบห้องเช่า 71 จุด ในจำนวนนี้37 จุด มีลักษณะของห้องไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เช่น มีสภาพเก่าทรุดโทรม คับแคบแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวกและแสงสว่างไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นผลมาจากการความต้องการใช้สอยพื้นที่อาคารกันแบบทุกตารางเมตร ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย และใช้ห้องน้ำรวมเนื่องจากอาคารไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับเพื่อการอยู่อาศัยตั้งแต่ต้น อาทิ เคยเป็นโกดังหรืออาคารพาณิชย์
“หลังจากที่เราพบจุดที่เป็นห้องเช่าแล้ว เราก็ไปสำรวจกันต่อว่าใครที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็แน่นอน เป็นใครไปไมได้นอกจากแรงงานรายได้ต่ำที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยที่ย้ายถิ่นเข้ามาจากต่างจังหวัด ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอยหรือว่ารับจ้างทั่วไป รวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองและไม่สามารถขยับขยายฐานะไปซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองได้ และประชากรที่เราพบเยอะที่สุดในพื้นที่ก็จะเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าเมียนมา กัมพูชา ลาว” อภิญญา ระบุ
ชิตชัย พรมรัตน์ ผู้อยู่อาศัยในอาคารร้างสิรินเพลส กล่าวว่า อาคารแห่งนี้อยู่ในย่านรามคำแหง 83 ตนอยู่อาศัยมาแล้วเกือบ 20 ปี อาคารนี้ในช่วงแรกที่เริ่มก่อสร้าง มีการจ้าง รปภ. ดูแลพื้นที่ และสุดท้ายโครงการสร้างไม่แล้วเสร็จจึงมีการขนย้ายเครื่องจักรและวัสดุสิ่งของต่างๆ ออกไป และไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้ รปภ. อีก ต่อมาอาคารแห่งนี้ก็มีคนเข้ามาอยู่มากขึ้นโดยอาศัยการชักชวนคนรู้จักกันมา เหตุที่คนเลือกเข้ามาอยู่เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่า จ่ายเฉพาะค่าน้ำ-ไฟฟ้า โดยขอต่อพ่วงกับอาคารบ้านเรือนใกล้เคียง
“คนที่อยู่อาศัยด้วยกัน ส่วนมาก 90% ก็จะมีความสุขก็จะสามัคคีกัน ส่วนมากจะไม่ใช่คนตกงานที่พักอาศัย เลิกงานมาก็จะมาเสวนากัน ซึ่งผมก็จะทำเป็นจุดคล้ายๆ สร้างขึ้นมาเอง จุดหน้าบ้านก็จะเป็นจุดผ่อนคลายสำหรับคนที่จะมาพักอาศัย มาพูดคุยปัญหาอะไรอย่างนี้ แต่ส่วนน้อยที่เขาอาจจะมีลักษณะของอาชีพที่เขาไม่ต้องการความช่วยเหลือจากส่วนรวมแล้ว เขาก็จะปลีกตัวออกไปส่วนหนึ่ง อาคารเป็นของธนาคาร อยู่ในบังคับคดีอยู่ ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาคุยกับเราทุกปลายปี เตรียมตัวไว้ถ้าขายได้เมื่อไรก็ย้ายออกไป”ชิตชัย กล่าว
เพชรลดา ศรัทธารัตนตรัย ผู้แทนคนรุ่นใหม่ สะท้อนปัญหา “ค่าเช่าที่อยู่อาศัย” ที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ โดยราคาค่าเช่าห้องที่มีสิ่งของจำเป็นพื้นฐาน เฉลี่ยจะอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ก็ถือว่าสูงถึงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ ทั้งที่ตามหลักแล้วค่าเช่าที่อยู่อาศัยไม่ควรเกินร้อยละ 25 ของรายได้ ยังไม่รวมค่าน้ำ-ไฟฟ้า ที่คิดเพิ่มจากราคาจริงที่หน่วยงานเก็บกับอาคารบ้านเรือนทั่วไป
“มันจะดีแค่ไหนถ้าเรามีบ้านเช่าราคาถูก ปลอดภัย สะดวกสบาย มีค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ มันคงจะดีไม่น้อย เพราะเราจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และอาจกระตุ้นให้พวกเขามีเสถียรภาพทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น” เพชรลดา กล่าว
(อ่านต่อฉบับวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2566)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี