จาก‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’ถึง‘ลดทอนความผิดครอบครองปริมาณน้อย’ กับคำถามความเหมาะสม‘หลักสากลvsสังคมไทย’
ในปี 2566 เรื่องของ “การครอบครองยาเสพติด” เป็น “ดรามา” ตั้งแต่ต้นปี โดยเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2566 “กระทรวงสาธารณสุข” ในยุคที่เจ้ากระทรวงชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ได้เสนอไอเดีย “ใครมียาบ้าเกิน 1 เม็ดให้ถือเป็นผู้ค้า” โดยให้เหตุผลว่าต้องการ “อุดช่องโหว่” จากเดิมเคยกำหนดว่ายาบ้าไม่เกิน 15 เม็ดคือผู้เสพ ทำให้แค่บำบัด จึงทำให้ผู้ค้าเลี่ยงบาลี โดยทางเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ไหวเพราะทำให้เลี่ยงบาลีจำนวนมาก และแม้ต่อมาได้ลดเกณฑ์ลงมาเหลือ 5 เม็ด แต่ก็ยังหลบเลี่ยงกันอีก จึงมาสรุปที่ 1 เม็ด
แน่นอนว่าเกิด “แรงต้าน” อย่างกว้างขวาง ถึงขนาดที่มีกลุ่มประชาชนในนาม “เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านยาเสพติด” ไปร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้เข้ามาตรวจสอบ โดยกลุ่มผู้ร้องเรียนได้อ้างทั้ง “หลักสากล” คือ “การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ปี 5559 (UNGASS 2016)” ที่มีสาระสำคัญคือ ยอมรับว่าโลกที่ปราศจากยาเสพติดไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง รัฐชาติต่างๆ จึงควรเปลี่ยนแนวคิดจากการทำสงครามกับยาเสพติด ไปสู่การใช้มาตรการที่หลากหลายมากขึ้น
กล่าวคือ บังคับใช้กฎหมายกับผู้ผลิต นำเข้าหรือค้ายาเสพติด แต่ในส่วนของ “ผู้เสพ (หรือผู้ใช้ยาเสพติด)” ให้ถือเป็น “ผู้ป่วย” ต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ไม่ใช่การลงโทษ รวมถึง “หลักกฎหมายไทย” คือ “ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองยาเสพติดสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นผู้เสพหรือไม่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดต่อไป
กระทั่งเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนขั้วหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แนวคิดดังกล่าวก็ตกไป จนล่าเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนใหม่คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จากพรรคเพื่อไทย คราวนี้ “ไปสุดในอีกทาง” กับข้อเสนอ “มียาบ้าไม่เกิน 10 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ” โดยในวันที่ 30 ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ระบุว่า เป็นการใช้เหตุผลในทุกมิติรองรับ ทั้งด้านการแพทย์ เรื่องฤทธิ์ของยา มิติทางด้านเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมายและพฤติกรรมของการเป็นผู้ค้าที่ส่วนใหญ่จะทำบรรจุห่อละ 10 เม็ด อย่างไรก็ตาม ตำรวจยังสามารถสืบสวนได้ โดยหากพบว่ามีพฤติกรรมเป็นผู้ค้า แม้มียาบ้าเพียง 1 เม็ดก็มีความผิด
เรื่องนี้เมื่อมีผู้ไปถาม “เสี่ยหนู-อนุทิน” ที่ปัจจุบันย้ายไปเป็นเจ้ากระทรวงมหาดไทย ก็ได้รับคำตอบเพียงว่า รัฐมนตรีแต่ละท่านก็มีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป และตนเองก็หมดหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ปัจจุบันเมื่อมาดูแลกระทรวงมหาดไทยก็ค้องเน้นการปราบปราม ขณะที่ในฝั่งผู้คัดค้าน อาทิ “ทนายรัชพล ศิริสาคร” ทนายความชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ระบุ 3 ข้อ
1.คนที่เสพยาบ้า รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นความผิด แต่ก็ยังไปเสพ แบบนี้มีเจตนากระทำความผิดชัดเจน ไม่ควรได้รับการยกเว้นโทษ 2.หากเสพยาบ้าแล้วไม่ติดคุก (กรณีมีไม่เกิน 10 เม็ด) มันเป็นการสนับสนุนให้คนมาเสพยาบ้ามากขึ้นหรือไม่ เพราะทำผิดแล้วไม่ติดคุก และ 3.ถ้าจะยกเว้นโทษ ควรยกเว้นให้คนที่สมัครใจมารักษามากกว่า เพราะคนที่แอบเสพ คนกลุ่มนี้อาจไม่ได้ตั้งใจจะเลิกเสพซะด้วยซ้ำ แต่บำบัดเพราะถูกบังคับ หลังจากบำบัดแล้ว อาจกลับไปเสพอีก อย่างน้อยควรติดคุกก่อน จะได้หลาบจำบ้าง รวมถึงมีข้อกังวลว่า ทุกวันนี้ยาบ้าเกลื่อนเมืองอยู่แล้ว ถ้ายังจะยกเว้นโทษ เราอาจจะได้เห็นคนบริสุทธิ์ตาย จากคนเมายาบ้าเพิ่มขึ้น
รวมถึงในวันที่ 31 ต.ค. 2566 ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่คัดค้านโดยยกเหตุผลว่า “จากปัจจุบันขนาดระบุว่ามียาบ้า 5 เม็ดให้ถือเป็นผู้เสพก็ยังมีปัญหาด้านการบำบัด” กล่าวคือ นัดผู้บำบัดมาตรวจร่างกายและจ่ายยาเหมือนผู้ป่วยอื่นๆ ทั่วไป แต่หากไม่ได้กินยาหรือไม่มีมาตรการควบคุมตัวที่ดีพอ ผู้บำบัดก็จะเกิดอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายคนรอบข้างได้ พร้อมกับแนะนำให้ นพ.ชลน่าน ลงไปดูข้อเท็จจริงว่ากระบวนการปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร
เรื่องของการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดโดยไม่เอาผิดผู้เสพ บทความ “การยกเลิกความผิดอาญา : ศึกษากรณีผู้เสพยาเสพติด” ที่เขียนโดย ธีรเดช พรหมวาศ นักศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และ ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ ในฐานะที่ปีรึกษาวิทยานิพนธ ยกตัวอย่าง 2 ประเทศ คือ “โปรตุเกส” เป็นประเทศแรกในโลกที่ได้กา หนดมาตรการในการลดทอนความเป็นอาชญากรรมในคดียาเสพติด โดยโมีการตรากฎหมาย Law 30/2000 ซึ่งเป็นฎหมายที่บัญญัติกรอบที่จะนำไปใช้กับการเสพยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของคดียาเสพติดในกรณีของการครอบครองสารเสพติดควบคุมปริมาณน้อยเพื่อใช้เสพส่วนตัว เปลี่ยนสถานะของผู้ใช้ยาที่ผิดกฎหมายแบบครั้งคราวหรือเสพต่อเนื่องในลักษณะติดยา, การบริโภค, การแสวงหา, การครอบครองเพื่อใช้ส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต จากความเป็นอาชญากรซึ่งต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็นการกระทำที่ีไม่มีความผิดทางอาญา
กับ “เยอรมนี” แต่เดิมก็ได้ประกาศใช้นโยบายในการปราบปรามยาเสพติดและลงโทษอย่างหนักต่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ผลสะท้อนที่เห็นได้ชัดคือการปราบปรามโดยใช้ปริมาณเป็นตัวชี้วัดไม่ได้ทำให้ปัญหาของยาเสพติดที่แพร่ระบาดลดลง จึงทบทวนนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดขึ้นใหม่โดยตรากฎหมายว่าด้วยสารควบคุมและการค้ายาเสพติด (BtMG) เป็นมาตรการกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมยาเสพติดและการป้องกันสุขภาพของประชาชน สาระสำคัญคือ ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในด้านอื่นๆ (ผลิต นำเข้า ค้า ขนส่ง) ยังคงถูกลงโทษ เว้นแต่เฉพาะผู้เสพเท่านั้นที่ให้ไปเข้ากระบวนการบำบัดรักษา
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความยังได้เสนอแนะด้วยว่า “หากยกเลิกการลงโทษทางอาญากับผู้เสพ ก็ต้องนำมาตรการทางปกครองมาบังคับใช้” เช่น การห้ามเข้าไปในสถานที่ใดๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้แสพหวนกลับไปใช้ยาเสพติด การห้ามคบค้าสมาคมกับบุคคลบางกลุ่มมที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดซ้ำ รวมไปถึงการให้ทำงานบริการสาธารณะต่อสังคม หรือการเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ข้ดคิดเห็นตามที่มีผู้ร้องขอให้พิจารณาว่า แนวคิดยาบ้า (แอมเฟตามีน) เกิน 1 เม็ดเป็นผู้ต้า ที่ รมต.อนุทิน เสนอแนะนั้นเกินว่าเหตุหรือไม่ โดย กสม. ให้ความเห็นว่า “นโยบายด้านยาเสพติดที่ให้ความสำคัญกับการลงโทษและการห้ามเสพด้วยการทำให้ผู้เสพเป็นอาชญากร ไม่ได้ทำให้ผู้เสพเลิกใช้ยาเสพติดหรือก่อให้เกิดผลในทางบวก” แต่กลับส่งผลในทางลบ ทั้งการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงต่อผู้เสพ
ดังนั้น มาตรการการลดอันตราย (Harm Reduction) ที่ใช้วิธีการลดผลกระทบด้านลบของพฤติกรรมหรือกิจกรรมบางอย่างของบุคคลให้น้อยที่สุด จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นานาชาตินำมาใช้แก้ไขปัญหานี้ โดยรัฐควรกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ที่มุ่งลดอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการเสพยาเสพติดนั้นแทน เช่น ลดการเสพยาเกินขนาด ลดการติดเชื้อเอชไอวี หรือการติดเชื้อผ่านกระแสเลือดอื่นๆ และลดการกีดกันทางสังคมต่อผู้เสพยาเสพติด เป็นต้น
โดยเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่จะทำให้มาตรการการลดอันตรายบรรลุผล คือ การลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization) ของผู้เสพ ด้วยการตรากฎหมายกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษอย่างสมเหตุสมผลเพื่อให้บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญาและเพื่อให้ผู้นั้นสามารถเข้ารับการบำบัดได้ในฐานะผู้ป่วยและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ และเพื่อบรรลุหน้าที่ของรัฐในการบริการสาธารณสุข ปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
ซึ่ง “กำหนดจำนวนการครอบครองแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในจำนวนน้อยเพียงไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่สมเหตุสมผลและขัดแย้งกับหลักการของประมวลกฎหมายยาเสพติด” ทำให้ผู้เสพยาเสพติดถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรและถูกลิดรอนสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข และสิทธิที่จะได้รับการแก้ไขฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น การพิสูจน์ว่าบุคคลมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและควรถูกลงโทษทางอาญานั้น ควรเป็นการนำสืบในชั้นศาลโดยรัฐ ไม่ใช่กำหนดข้อสันนิษฐานสำหรับผู้มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพไว้ในจำนวนที่ต่ำเกินไปเพื่อประโยชน์ในการลงโทษ ซึ่งแม้จะสามารถพิสูจน์หักล้างในกระบวนการพิจารณาของศาลได้ แต่การกำหนดข้อสันนิษฐานไว้ต่ำเกินไปนั้น เป็นการผลักภาระให้คดียาเสพติดทุกคดีต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยศาล และระหว่างนั้นผู้เสพยาเสพติดที่เป็นผู้ป่วยจะต้องถูกคุมขังหรือจำคุกแทนที่จะได้รับการแก้ไขหรือบำบัด ซึ่งในปัจจุบันข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่านักโทษคดียาเสพติดนั้นมีจำนวนมากถึงร้อยละ 80 ของนักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำของประเทศไทยทั้งหมด
ทั้งหมดนี้คือที่มาที่ไปของแนวคิด “ผู้เสพคือผู้ป่วย” และ “การลดทอนการเป็นอาชญากรของผู้เสพยาเสพติด” ซึ่งก็มีทั้งมุมสนับสนุนและคัดค้าน ส่วนแนวคิด “หมอชลน่าน” เรื่องมียาบ้า 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ จะผ่านออกมาเป็นกฎหมายหรือไม่ คงต้องติดตามกันตอ่ไป!!!
อ้างอิง
https://theactive.net/news/public-health-20230224/
https://www.naewna.com/politic/766063
https://www.naewna.com/politic/766190
https://www.naewna.com/local/731830
https://www.naewna.com/local/766496
https://www.naewna.com/politic/707582
https://www.posttoday.com/general-news/701397
https://grad.dpu.ac.th/upload/content/files/%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%205%20%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%202%20%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A12559-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A12560/vol5-2-26.pdf
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี