“ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” เป็นทั้งคำนิยามและความคาดหวังของประชาชนต่ออาชีพ “ตำรวจ” ในฐานะผู้รักษากฎหมาย เป็นด่านแรกของกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ-
อัยการ-ศาล-ราชทัณฑ์) “แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทยเมื่อพูดถึงตำรวจ ในสายตาประชาชนมีแต่ความเคลือบแคลงสงสัย” ดูจะไม่ค่อยเชื่อมั่นศรัทธาเท่าไร ซึ่งก็มีมูลเหตุจาก “ข่าวฉาว” หลายต่อหลายครั้งใน “แวดวงสีกากี” เสียงเรียกร้องให้ “ปฏิรูปตำรวจ” จึงดังอย่างต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าองค์กรตำรวจได้รับการปฏิรูปแล้วอย่างแท้จริง
รายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนต่อองค์กรตำรวจ ว่า จริงๆ แล้วคนที่มุ่งมั่นเข้ามาเป็นตำรวจทุกคนอยากเป็น “ตำรวจอาชีพ” แต่เมื่อเข้ามาแล้วมีหลายปัจจัยที่ทำให้ใช้อำนาจและความเป็นตำรวจไปหากินในทางที่ไม่ดี เลยกลายเป็น“คนที่มีอาชีพตำรวจ” แต่ไปทำมาหากินอย่างอื่น เช่น เปิดเว็บพนัน หรือทำธุรกิจอื่นๆ แต่แฝงตัวมาเป็นตำรวจ
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นตำรวจจึงเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจ แต่หากมองให้ลึกลงไป กรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมควรถูกปฏิรูปหรือไม่ เรื่องนี้ตนเองเห็นว่า “ตัวองค์กรไม่ผิด แต่ที่เกิดความเสียหายล้วนมาจากคน” อย่างโครงสร้างองค์กรตำรวจไทยก็มีความคล้ายกับญี่ปุ่น คำถามคือแล้วองค์กรตำรวจญี่ปุ่นเขามีปัญหาหรือไม่ ซึ่งก็ไม่มี นั่นเป็นเพราะคนของเขาดี ส่วนของไทยการแต่งตั้งโยกย้ายมีเรื่องซื้อ-ขายตำแหน่งเล่นพรรคเล่นพวก แบบนี้คนที่ทำงานดีก็หมดกำลังใจแล้วก็ไม่ทำงาน ผลคือความเดือดร้อนก็ไปตกอยู่กับประชาชน
ทางแก้คือ “ต้องทำให้คนดีเป็นผู้บริหารองค์กร” เพื่อให้เป็นแบบอย่างกับตำรวจรุ่นน้อง อย่างสมัยตนเองเป็นตำรวจใหม่ๆ ขนาดไปกินเหล้าหลังออกเวรยังเจอสารวัตรใหญ่ตำหนิ แต่ยุคนี้ถึงขนาดลูกน้องถือไวน์ไปชวนผู้บังคับบัญชากินแบบนี้จะปกครองกันได้อย่างไร มีคำถามด้วยว่าเงินซื้อไวน์มาจากไหน หรือการที่ตำรวจกินเหล้านอกเวลางาน ไปดื่มสังสรรค์ตามงานสังคมสามารถทำได้ แต่ก็ต้องดูแลตัวเองด้วยว่าไปกินกับใคร เช่น ชาวบ้านคนธรรมดาเชิญไปร่วมงานก็ไป แต่อีกคนที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพล ค้ายาเสพติดมาเชิญ ถามว่าควรจะไปหรือไม่
อีกด้านหนึ่ง “คุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่” ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ผู้การแต้ม ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา ตำรวจที่นั่นมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบครัน ในขณะที่ “ตำรวจไทย อาวุธปืน เครื่องคอมพิวเตอร์ กระดาษ ฯลฯ ทุกอย่างเจ้าหน้าที่ต้องซื้อเองทั้งหมด คำถามคือแบบนี้จะไม่ทุจริตได้อย่างไร” จึงอยู่ที่ภาคการเมืองด้วย เพราะเวลาจะผ่านงบประมาณของตำรวจนั้นยากมาก ที่ผ่านมาเวลามีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ ไม่เคยมีตำรวจเข้าไปเป็นกรรมาธิการ อย่างมากก็เข้าไปแสดงความคิดเห็น จึงไม่เข้าใจความเดือดร้อนของตำรวจ
“เวลาพิจารณาไม่เคยพูดถึงสวัสดิการของตำรวจ ไปดูแฟลตตำรวจสิ อยู่กันอย่างสลัม แต่ไปดูแฟลตทหาร ไม่ได้อิจฉาเขานะ แต่ผู้บังคับบัญชาเขาดี แล้วเขาก็มีกำลังใจ แต่ตำรวจไม่ใช่ ไปดูโรงพัก ตำรวจอยู่อย่างสลัม อย่างนี้เวลาประชุมหรือพูดกัน จะเอาตำรวจอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คุณไม่มองหันหลังดูเขาเลย” พล.ต.ต.วิชัย กล่าว
พล.ต.ต.วิชัย กล่าวต่อไปว่า อย่างกรณีที่มีข้อเรียกร้องให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ออกไปก่อน เพราะกฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องมีกล้องบันทึกวีดีโอติดตัวขณะออกปฏิบัติหน้าที่ แต่ตำรวจยังไม่มี
งบประมาณเพียงพอในการจัดซื้อกล้อง ซึ่งจริงๆ แล้ว ต้องเตรียมการเรื่องนี้มาก่อนที่จะออกกฎหมายมาบังคับใช้ ในขณะที่ตำรวจสหรัฐฯมีกล้องติดตัวพร้อม เพื่อความปลอดภัยไม่ใช่เฉพาะของผู้ถูกจับกุมแต่ยังรวมถึงตัวเจ้าหน้าที่เองด้วย
และต้องยอมรับว่า “ในประเทศไทยข้าราชการที่ทำงานหนักแต่รายได้น้อยที่สุดคือตำรวจ” เจ้าหน้าที่หลายนายก็ต้องนอนกันในโรงพัก อย่างตนเองก็เคยนอนที่ทำงานและกลับบ้านเพียงสัปดาห์ละครั้ง เพราะงานเยอะมากชุดนอนคือใส่กางเกงสีกากี เสื้อคอกลม เตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ส่วนคำถามเรื่องตำรวจชั้นยศนายพลมีมากเกินไปหรือไม่ บอกได้ว่าไม่มากเหมือนทหาร เพราะแต่ละชั้นยศมีตำแหน่งระบุชัดเจน แต่จะมีช่วงที่มีนโยบายเกษียณก่อนครบอายุกำหนด ผู้สมัครใจเข้าโครงการนี้ก็จะได้ยศเพิ่มขั้นหนึ่ง เช่น จากพลตำรวจตรีเป็นพลตำรวจโท
“ประเทศญี่ปุ่น รู้ไหมข้าราชการอะไรเงินเดือนเยอะที่สุด ตำรวจกับครู ทำไมเขาให้ตำรวจเยอะ เพราะตำรวจดูแลความทุกข์-สุขของเขา เขาต้องให้เงินเยอะตำรวจจะได้ทำงาน เขาจะได้ปลอดภัย ตำรวจเงินเดือนเยอะจะได้ไม่ทุจริตต่อหน้าที่ นี่ตรรกะของญี่ปุ่นเขาวางไว้ทำไมเขาให้เงินเดือนครูเยอะ ถ้าเงินเดือนครูเยอะครูเก่งๆ ก็จะมาสอบ ครูเก่งเด็กก็เก่ง ชาติเจริญมีระเบียบวินัยดังนั้น ตรรกะอันนี้ประเทศไทยมันกลับกัน ครูดันเงินเดือนน้อยพูดตรงๆ ไม่ได้ดูถูก สอบอะไรไม่ได้ก็มาสอบครูอีกอันตำรวจดันให้เงินเดือนน้อยอีก แล้วบอกจะให้ทำงานดีมันก็ผิดกัน นี่คือหลักการ” อดีตรอง ผบช.น. กล่าว
ผู้การแต้มยังเล่าต่ออีกถึงคุณภาพชีวิตตำรวจในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หากตำรวจจะซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง จะมีกองทุนที่ไปซื้อบ้านหลังนั้นมาก่อนแล้วเจ้าหน้าที่นายนั้นก็มาผ่อนกับกองทุนของตำรวจ อีกทั้งการผ่อนยังคำนวณค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ก่อน อาทิ ค่ากินอยู่ประจำวัน ค่าเทอมลูก แล้วส่วนที่เหลือจึงนำไปผ่อนบ้าน แต่ประเทศไทย เงินเดือนตำรวจออกมาแทบไม่เหลือเพราะต้องเอาไปชำระหนี้ต่างๆ ก่อน เรื่องนี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาตำรวจมีพฤติกรรมรีดไถ
จากประเด็นการปฏิรูปตำรวจ “การตั้งด่าน” เป็นหนึ่งในเรื่องที่ประชาชนสงสัยว่าตกลงตั้งได้หรือไม่? รูปแบบการตั้งที่ถูกต้องเป็นแบบใด? ประเด็นนี้ พล.ต.ต.วิชัยอธิบายว่า การตั้งด่านมีหลายแบบ เช่น 1.ด่านความมั่นคง ตรวจหาอาวุธหรือวัตถุระเบิด เพื่อป้องกันการนำไปก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจภารกิจของตนเองด้วย ไม่ใช่บอกว่าตั้งด่านความมั่นคงแต่ไปขอใบขับขี่ประชาชน หรือไปตรวจเมาแล้วขับ กับ 2.ด่านกวดขันวินัยจราจร จุดไหนที่มีปัญหาการจราจรก็ไปตั้งด่าน
แต่เป็นเพราะที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนพฤติกรรมรีดไถของตำรวจกันมาก ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องออกระเบียบการตั้งด่าน เช่น มีการติดป้าย
มีการระบุชื่อผู้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติหน้าที่ในด่านนั้น เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ ขณะที่ประเด็น “การออกใบสั่งจากกล้องวงจรปิด-กล้องจับภาพเร็วแล้วส่งทางไปรษณีย์” ที่มีคำถามว่าทำได้หรือไม่เพราะประชาชนก็แย้งว่าต้องเปิดโอกาสให้โต้แย้งได้
เรื่องนี้หากไปดูที่ต่างประเทศ เช่น อังกฤษ หากขับรถไปจอดในที่ห้ามจอด ตำรวจจะมาเขียนใบสั่งทิ้งไว้พร้อมกับถ่ายรูป ซึ่งไม่สามารถโต้แย้งได้ “ที่อังกฤษมีศาลจราจร” โดยผู้ที่กระทำผิดจะต้องไปเสียค่าปรับภายใน 15 วัน หากเกินไปกว่านั้นค่าปรับจะต้องเสียแพงขึ้น หากยังไม่จ่ายค่าปรับอีกก็จะถูกส่งฟ้องศาล และการทำผิดกฎจราจรยังถูกตัดแต้ม ไปจนถึงถูกระงับการใช้ใบขับขี่ และการขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ก็มีโทษถึงจำคุก ดังนั้นใบสั่งทุกใบในอังกฤษออกไปแล้วจะเก็บเงินค่าปรับได้ทั้งหมด
แต่ในประเทศไทย อย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการออกใบสั่ง 1.2 ล้านใบ แต่ใบสั่งที่มีผู้มาเสียค่าปรับมีเพียง 3 แสนใบ ในขณะที่ประเทศอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศส เขามีเงินจากค่าปรับจราจรถึงขั้นนำไปเป็นงบประมาณแผ่นดินได้ ซึ่งในไทยพยายามแก้ไขด้วยการออกระเบียบว่าหากไม่เสียค่าปรับก็จะไม่ต่อทะเบียนให้ แต่ทาง กรมการขนส่งทางบก ก็ไม่ยอมอีกมองว่าคนละหน้าที่กัน ทั้งที่การบริหารงานภาครัฐต้องมีความเกี่ยวข้องกัน และในต่างประเทศฐานข้อมูลภาครัฐเขาเชื่อมถึงกันหมด
ส่วนการกำหนดอัตราค่าปรับตายตัว เอาจริงๆ อาจเป็นการช่วยเหลือเสียด้วยซ้ำ เพราะเลือกอัตราต่ำสุด เช่น กฎหมายบอกว่าปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ก็นำอัตรา 400 บาท มาเป็นตัวตั้ง หรือหากกฎหมายเขียนว่าปรับไม่เกิน 400 บาท ก็จะใช้อัตราต่ำกว่านั้น เช่น 200 บาท เป็นตัวตั้งทั้งนี้ ผู้มีอำนาจปรับคือพนักงานสอบสวน แต่ในความเป็นจริงแต่ละวันมีใบสั่งหลายร้อยใบ ตำรวจไม่มีพนักงานสอบสวนเพียงพอมาประจำเพื่อรอคนมาเสียค่าปรับ และในทางกฎหมายทำแบบนี้ก็ไม่ผิดแต่คนไม่เข้าใจ บอกพนักงานสอบสวนไม่ได้สั่ง แต่จริงๆ สั่งแล้วตามฐานข้อหา
หรือการ “ล็อกล้อ” ก็มีข้อถกเถียงว่าทำแล้วได้ประโยชน์อะไรเพราะส่งผลให้การจราจรติดขัด แต่เรื่องนี้มีที่มาจากพฤติกรรม “ยึดเลนซ้ายเป็นที่จอดรถ” จากบ้านเรือนหรือร้านค้าต่างๆ ทางตำรวจจึงต้องการ “ดัดสันดาน” เกิดเป็นมาตรการล็อกล้อขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ ผู้การแต้มบอกว่าไม่เห็นด้วยสิ่งที่ควรทำคือใช้วิธีการแบบในต่างประเทศ คือออกใบสั่งที่สามารถบังคับให้คนมาเสียค่าปรับได้จริง
“ของเราพอออกใบสั่ง ไม่มาเสียค่าปรับก็ไม่ดำเนินการอื่น ไม่ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ฝรั่ง ถ้าคุณไม่มาเขาตัดแต้ม ถ้าไปเที่ยวตามรถทัวร์ ขับช้าเหลือเกินบอกว่าเร่งหน่อย บอกไม่ได้! เขาล็อกไว้ 80 (กม./ชม.) ถ้าเกิดโดนยึดใบขับขี่ขึ้นมาเขาไม่มีอาชีพเลย ดังนั้น เขากลัวแต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น คนก็โวยวาย ฉะนั้นคุณต้องมองว่าบางครั้งมันผิดที่ประชาชนด้วย ผิดที่ผู้ใช้กฎหมายด้วย” พล.ต.ต.วิชัย กล่าว
ล่าสุดกับเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีข้อถกเถียง “ปริมาณยาเสพติดกับการแบ่งระหว่างผู้เสพกับผู้ค้า” เช่น ควรมียาบ้ากี่เม็ดจึงจะถือเป็นผู้ค้า ซึ่งก็มีทั้งที่บอกว่า 1 เม็ดบ้าง 5 เม็ดบ้าง10 เม็ดบ้าง ซึ่งเป็นการเขียนไว้ในกฎหมายว่าหากมีเกินจากนั้นให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ พล.ต.ต.วิชัยให้ความเห็นว่า “จำนวนไม่สำคัญเท่าพฤติกรรม” เพราะแม้จะมียาบ้า 1 เม็ด หากนำยาบ้านั้นไปส่งให้อีกฝ่ายแล้วได้เงินกลับมาก็ถือเป็นผู้ค้าแล้ว ในทางกลับกัน ในตัวไม่มียาบ้าแม้แต่เม็ดเดียว แต่เมื่อตรวจปัสสาวะเป็นสีม่วงก็ถูกดำเนินคดีฐานเป็นผู้เสพ
ซึ่งการไปแบ่งผู้ค้ากับผู้เสพด้วยปริมาณยาเสพติดที่ครอบครองก็กลายเป็นช่องว่างได้อีก เช่น กฎหมายกำหนดว่ามียาบ้า 10 เม็ด เป็นผู้ค้า คนหนึ่งถือไป 9 เม็ด จะนำไปขายแต่ถูกตำรวจจับเสียก่อนก็อ้างว่าเป็นผู้เสพไม่ใช่ผู้ค้า และการเป็นผู้เสพก็ต้องส่งตัวไปบำบัด คำถามคือมีสถานที่บำบัดเพียงพอหรือไม่ สุดท้ายก็ต้องปล่อยกลับบ้านแล้วก็กลับไปขายยาบ้าเหมือนเดิม “การแก้ปัญหายาเสพติดต้องทำทั้งระบบ” เป็นวาระแห่งชาติ ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ยาเสพติดมีน้อยลง แต่ขณะเดียวกันหากบอกว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยก็ต้องมีความพร้อมด้านสถานที่บำบัด
“การแก้ปัญหายาเสพติดส่วนหนึ่งมันต้องให้ความรู้เด็กบางคนที่ติดยาเพราะขาดความรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติดดังนั้น เราต้องให้ความรู้ คนที่ให้ความรู้ด่านแรกคือครอบครัว พ่อแม่ต้องสอน แต่บ้านเรามันปากกัดตีนถีบพ่อแม่ก็ไม่มีเวลาสอนลูก ลูกก็ไปอยู่กับเพื่อน เพื่อนก็ติดยาเสพติด พอเลยครอบครัว ก็ต้องโรงเรียน ต้องช่วยสอนสามก็คือสังคม สี่ก็เป็นหน้าที่รัฐบาล รัฐบาลก็ทำมาทุกระบบไม่ใช่ตำรวจอย่างเดียว ตำรวจมันปลายเหตุ” พล.ต.ต.วิชัย กล่าว
สุดท้ายคือเรื่องของ “ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4” ซึ่งอดีตรอง ผบช.น. กล่าวว่า หากไปดูในต่างประเทศเช่น ออสเตรเลีย ร้านเหล้าปิดเที่ยงคืน บางเมืองปิด 2 ทุ่ม ยกเว้นร้านในโรงแรมที่ปิดเที่ยงคืน ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่ก็เข้าใจว่าประเทศไทยอย่างดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะชาวต่างชาติมาไทยก็เที่ยวแบบนี้ได้มากขึ้น จึงมีข้อเสนอว่า ไม่จำเป็นต้องอนุญาตเพียง 4 จังหวัด แต่ให้อนุญาตในทุกจังหวัดท่องเที่ยวหรือจังหวัดใหญ่ๆ บนพื้นฐานว่า“โซนนิ่งต้องทำได้จริง” เพราะการกำหนดย่านสถานบันเทิงที่ชัดเจน จะทำให้ตำรวจและฝ่ายปกครองควบคุมปัญหา
ได้ดีขึ้น!!!
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำ
โดยประมาณ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี