จากภาพข้างต้น จึงไม่แปลกที่ “ข่าวลวง (Fake News)” เกี่ยวกับโรคมะเร็งจะมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การบอกต่อสามารถทำได้ง่ายเร็ว และกว้างขวางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เห็นได้จากเว็บไซต์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)ถึงกับต้องมีแฮชแท็ก “#มะเร็ง” แยกไว้เป็นการเฉพาะ เพราะฐานข้อมูลของศูนย์ฯ รับเรื่องและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้จำนวนมาก
เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566 ที่ผ่านมามีการจัดงาน “Infodemic Literacy Forum เสวนาสาธารณะรู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ #1” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และ บริษัท เจริญเคเบิลทีวี เน็ตเวิร์ค จำกัด ซึ่ง สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ที่นอกจากบทบาทในองค์กรโคแฟค ว่าด้วยการตรวจสอบข้อมูลจริง-ลวงที่เกลื่อนโลกออนไลน์แล้ว ยังเป็น “ผู้ป่วยมะเร็ง” คนหนึ่งด้วย ได้มาเล่าเรื่องราวของตนเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดหลายคนจึงเชื่อข้อมูลเหล่านั้น
สุภิญญา เล่าว่า หลังตรวจพบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 2 ซึ่งแม้จะเป็นระยะที่ยังไม่อันตรายมากนักแต่ก็ดูเบาไม่ได้ โดยเบื้องต้นจากการปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันที่ รพ.รามาธิบดี ได้รับข้อเสนอแนวทางการรักษาอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการผ่าตัด ทำคีโมบำบัด มีการฉายแสงและกินยาต่อเนื่อง 5 ปี แต่ขณะเดียวกันก็หาข้อมูลด้านแพทย์แผนไทย ที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และแพทย์แผนจีน ที่ รพ.หัวเฉียว พร้อมกันไปด้วย นอกจากนั้นยังมีญาติสนิทมิตรสหายแนะนำสารพัดวิธีการรักษาเข้ามาอีก
“จากสถิติอ่านดู มะเร็งเต้านมมันมีความเสี่ยงมากแล้วรอเวลาไม่ได้ แล้วการรักษาแผนปัจจุบัน สถิติการหายมันเยอะ มันค่อนข้างเสถียร เพราะฉะนั้นคุณหมอบอกว่าตอนแรกให้เลือกผ่าตัดเฉพาะก้อนหรือผ่าตัดทั้งเต้า มะเร็งผ่าตัดเฉพาะก้อนได้แต่คุณหมอก็บอกว่ามันอาจจะเกิดซ้ำอีก ก็ฮาร์ดคอร์ไปเลย ตัดทั้งเต้าไปเลย ส่วนเคมีบำบัดคือ 8 ครั้ง ถือว่าเยอะมากๆ เลย บางทีก็รู้สึกว่าเยอะเกินกว่าโรคที่เราเป็นหรือเปล่า ก็สะบักสะบอม
แต่ว่าช่วงที่รักษาด้วยเคมีบำบัด ก็ตัดสินใจว่าเราไม่เหยียบเรือสองแคมแล้วกัน ก็เชื่อมั่นในคุณหมอที่รามาฯ ก็เดินมุ่งหน้าทางเดียวเลย ไม่ใช้สมุนไพร ไม่ใช้ยาจีน ไม่ใช้กัญชา ก็จะครบคอร์สไป แต่ก็ปรากฏว่าแพ้น้อยมาก เพราะว่าลึกๆ คิดว่าใจสู้หรือเปล่า ก็คือเอาใจนำทำสมาธิไป เจ็บก็ช่างหัวมัน ทำงาน แล้วสุดท้ายก็ผ่านมาได้โดยกำลังใจ แต่ก็ยังไม่หาย ยังต้องกินยาอยู่ทุกวันและไปหาหมอทุกๆ 3-4 เดือน” สุภิญญา กล่าว
สุภิญญา เล่าต่อไปว่า หลังครบกระบวนการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน จึงได้เริ่มหันไปหาการรักษาทางเลือก เพราะเห็นว่าถึงเวลาที่ต้องฟื้นฟูร่างกายด้วยยาสมุนไพรไทยและสมุนไพรจีน ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวและจากข้อมูลหลายทฤษฎี พบว่า การรักษาโรคมะเร็งต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน แต่อีกด้านก็ทำให้เข้าใจว่า “เมื่อการรักษาโรคมะเร็งเป็นเรื่องยากและซับซ้อน บวกกับใช้เวลามากและมีค่าใช้จ่ายสูง หลายคนจึงท้อถอยกับการรักษาแผนปัจจุบันแล้วหันไปพึ่งพาสมุนไพรหรือแม้แต่ความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับ (มูเตลู)” จึงต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย
สอดคล้องกับ พญ.ณัษฐา พิภพไชยาสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานโภชนศาสตร์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่กล่าวว่า ด้วยการรักษาที่มีขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยากอีกทั้งในอดีตที่ผ่านมาการรักษายังมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจึงทำให้คนกลัว นำไปสู่การเกิดขึ้นของสารพัดข้อมูลว่าด้วยการรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อยและมีโอกาสหายสูง “เป็นธรรมดาที่คนเราอยากฟังแต่ข่าวดี ไม่มีใครอยากฟังเรื่องราวที่น่ากลัวหรือเป็นอันตราย” แต่ในฐานะที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นสถาบันสุขภาพและสถาบันทางวิชาการ ก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งเป็นข้อมูล ณ ปัจจุบัน
“ข้อมูลทางการแพทย์มีเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไหม? มีเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ข้อมูลในวันนี้ การรักษาบางอย่างถูกในอดีต อาจจะผิดในปัจจุบัน และอนาคตยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอยู่ว่า ยุคปัจจุบันอยู่กับคำว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือพูดในเชิงเทคนิคคือ Evidence Based Medicine ก็คือแปลว่าเรารักษาในเชิงที่ต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ ประจักษ์ได้ ดังนั้นก็ต้องดูตามปัจจุบัน ณ ข้อมูลที่มี และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต” พญ.ณัษฐา กล่าว
พญ.ณัษฐา ยกตัวอย่าง ยาตัวหนึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการวิจัยและได้รับการรับรองให้ใช้รักษาโรคได้จะใช้เวลากันเป็นสิบปีแต่เมื่อใช้จริงในท้องตลาดไปอีก 10 ปี พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายอย่างชัดเจน ยานั้นก็สามารถถูกถอดออกจากการใช้รักษาโรคได้ ซึ่งผลข้างเคียงนี้อาจมองไม่เห็นชัดเจนในกระบวนการวิจัยซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างหลักร้อยหรือหลักพันคน แต่การใช้ในชีวิตจริงมีผู้ใช้ตั้งแต่หลักหมื่นหรือหลักแสนคน ผลข้างเคียงดังกล่าวจึงเห็นชัดขึ้น ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ อ้างอิงข้อมูลการศึกษาวิจัยที่มีในปัจจุบัน ทั้งในประเทศและทั่วโลก
ด้าน ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์ แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชวนทำความเข้าใจ “ต้าน-รักษา : 2 คำนี้มีความหมายแตกต่างกัน” โดยอธิบายว่า การที่บอกว่าสมุนไพรมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง หมายถึงการวิจัยซึ่งมีการเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งขึ้นมาแล้วนำสารจากสมุนไพรใส่เข้าไป แล้วพบว่าสามารถลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อนำสมุนไพรนั้นมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งจริงๆ จะได้ผลแบบเดียวกันเสมอไป
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าสมุนไพรไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยกับการรักษาโรคมะเร็ง เพราะก็มีคนที่ใช้แล้วได้ผลดีในแง่การลดผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด ช่วยให้ทำการรักษาได้อย่างต่อเนื่องจากที่แพทย์วางแผนไว้ ส่วนการที่บอกว่าการใช้สมุนไพรแบบเดี่ยวๆ แล้วสามารถรักษามะเร็งได้ ในเบื้องต้นยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่ยืนยันเรื่องนี้ “สมุนไพรจึงมีบทบาทในฐานะทางเลือกเสริมควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน” โดยวิธีการเลือกสมุนไพรส่วนใหญ่จะเลือกจากหลักฐานงานวิจัย แม้ไม่ถึงขั้นในคน แต่มีข้อมูลอยู่บ้างและมีการใช้มายาวนาน
“อย่างเช่นขมิ้นชัน ใครๆ ก็รู้จัก ทั่วโลกรู้จัก หรือส่วนใหญ่เราจะมองว่ามันใช้ได้ สมมุติว่ามีคนมาถามว่าขมิ้นรักษามะเร็งได้ไหม เราก็จะบอกว่าไม่ได้ แต่ถ้าคนไข้อยากใช้ก็คือใช้เป็นทางเลือกเสริม โดยหวังผลในแง่การลดอักเสบซึ่งมันก็ลดได้จริงซึ่งฐานรากเหง้าของมะเร็งจริงๆ คือการอักเสบที่เกิดขึ้น” ภญ.อาสาฬา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี