“เด็กเกิดน้อย-สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่ม” เป็นหนึ่งในประเด็นน่าเป็นห่วงของประเทศไทย เพราะเมื่อประชากรวัยแรงงาน (และวัยเด็กอันเป็นว่าที่ประชากรวัยแรงงาน) ลดลง ย่อมส่งผลต่อกำลังการผลิตของประเทศและการจัดเก็บภาษีของรัฐในภาพรวม ในทางกลับกัน งบประมาณการใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งในรูปแบบสวัสดิการของรัฐ และรูปแบบเม็ดเงินของแต่ละครัวเรือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงคนที่ยังทำงานได้ก็มีภาระต้องดูแลผู้สูงอายุที่เป็นประชากรวัยพึ่งพิงมากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการ “สถานการณ์ผู้สูงอายุไทยในสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)” คณะผู้จัดทำรายงาน “สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2566” ซึ่งประกอบด้วย นักวิจัยชำนาญการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 3 ท่าน คือ ยุรนันท์ ตามกาล,อุไรวรรณ รุ่งไหรัญ และ คริษฐา อ่อนแก้ว ได้หยิบยกบางส่วนจากรายงานมานำเสนอ
“สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” หมายถึงสังคมที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในสังคมนั้น ซึ่งเมื่อดูภาพรวมของโครงสร้างประชากรโลก เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีประชากรราว 8 พันล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 1,140 ล้านคน และเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชาย
เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ และมากกว่าประชากรวัยเด็ก ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สิงคโปร์เป็นชาติแรกที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 24.03 และตามมาด้วยประเทศไทย ซึ่งในปี 2566 ไทยมีประชากรสูงอายุราว 13 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) โดยภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุด
“สภาพัฒน์ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2583 สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 31.1% ในขณะที่ประชากรวัยเด็กก็จะลดลงเหลือเพียงแค่ 13.13% และในขณะที่เมื่อประชากรวัยเด็กลดลง ประชากรวัยแรงงานก็ลดลงตาม เหลือเพียง 55.5% เท่านั้น และจากการลดลงของจำนวนประชากรในวัยเด็ก นั่นหมายความว่าอัตราการเกิดของเราก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการเจริญพันธุ์ของเราก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเราก็จะทราบว่าในปัจจุบัน คนก็มีความนิยมที่จะแต่งงานช้าลง มีลูกน้อยลง หรือบางคนมีการอยู่เป็นโสดที่เพิ่มมากขึ้น”
เมื่อมองออกไปในทวีปเอเชีย สังคมสูงอายุอาจเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ประเทศส่วนใหญ่หากไม่เตรียมความพร้อม ก็จะเข้าสู่สภาวะ “แก่ก่อนรวย” อย่างกรณีของประเทศไทย ใช้เวลาเพียง 20 ปี เพื่อเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ เร็วยิ่งกว่าญี่ปุ่นที่ใช้เวลา 25 ปี ที่สำคัญคือ รายได้ของชาวญี่ปุ่นสูงกว่าชาวไทยถึง 5 เท่า ดังนั้นแนวโน้มของไทยคือประชากรสูงอายุต้องเผชิญปัญหาแก่ก่อนรวยอย่างแน่นอน
แต่สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย เมื่อมองออกไปยังเพื่อนบ้านร่วมอาเซียนอย่างเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจเติบโตได้เร็วกว่าไทย แต่ก็ต้องเผชิญความท้าทายจากคลื่นประชากรสูงวัยที่รวดเร็วยิ่งกว่าไทย ในขณะที่ชาวเวียดนามมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าชาวไทยถึงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ “หลักประกันเชิงรายได้” กลายเป็นวาระสำคัญของทุกประเทศ ในส่วนของประเทศไทย เมื่อดูระบบกองทุนบำเหน็จ-บำนาญต่างๆ มีข้อสังเกตว่า หากแรงงานย้ายข้ามระบบ ทำให้การส่งเงินสมทบไม่ยาวนานพอ ก็จะทำให้ได้เพียงบำเหน็จซึ่งไม่เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
เมื่อเจาะเป็นรายกลุ่ม “ผู้ที่เป็นข้าราชการ” (ทั้งแบบดั้งเดิม และแบบปัจจุบันที่หักเงินสมทบเข้าระบบ กบข.) เป็นคนกลุ่มเดียวที่ได้บำนาญสูงเพียงพอใช้ชีวิตหลังเกษียณ เพราะคำนวณบำนาญที่จะได้รับอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย รวมถึงมีสิทธิรักษาพยาบาลทั้งของตนเอง บิดา-มารดา และคู่สมรส ขณะที่ “แรงงานในระบบประกันสังคม (มาตรา 33)” จะอยู่ที่อัตราเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท แต่ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 180 งวด และบวกอีกร้อยละ 1.5 ต่อการส่งเงินสมทบทุกๆ 12 งวด
อนึ่ง “ประเทศไทยมีบริษัทห้างร้านจำนวนน้อยที่เข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Providence Fund) อันเป็นกองทุนการออมภาคสมัครใจของพนักงาน” สุดท้ายคือ“แรงงานนอกระบบ” มีเพียงกองทุนประกันสังคม (ผู้ประกันตนมาตรา 40) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งทั้ง2 กองทุน เป็นเพียงภาคสมัครใจ ทั้งนี้ ทั้งกลุ่มแรงงานนอกระบบ และอดีตแรงงานในระบบ เมื่อถึงวัยเกษียณ จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และต้องไปใช้สิทธิการรักษาพยาบาล ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
“ข้อมูลจากสภาพัฒน์ ได้ดูช่องว่างมูลค่าเงินขั้นต่ำที่ผู้สูงอายุต้องมีให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในช่วงยามชราของเรา ข้าราชการท่านมีรายได้เฉลี่ย 27,000 บาท ในขณะที่แรงงานนอกระบบจะมีรายได้อยู่เพียง 1,763 บาท หรือ 659 บาท หากรับแต่เบี้ยยังชีพ สำหรับแรงงานในระบบที่จ่ายเงินเข้าประกันสังคมมาตรา 33 จะมีรายได้เพียง 3,041 บาททำให้ถ้าเกิดผู้สูงอายุ 2-3 ล้านคนที่เป็นข้าราชการในระบบบำนาญ ท่านรอดแล้วกับการเป็นสังคมสูงวัย แต่ผู้สูงอายุอีก 11 ล้านคน จะทำอย่างไรกับการถ้าเราต้องพึ่งระบบแบบนี้?”
มีการคำนวณว่า หากข้อมูลของสภาพัฒน์ ที่บอกว่าต้องมีเงินอย่างน้อย 5,000 บาทต่อเดือน สำหรับใช้หลังเกษียณ เมื่อคนคนหนึ่งมีอายุ 60 ปี และคิดตามค่าเฉลี่ยอายุขัยคนเราซึ่งอยู่ที่ 77 ปี เท่ากับว่าคนคนนั้นต้องมีเงินอย่างน้อย 1.7 ล้านบาท (และนี่ยังไม่ได้คำนวณอัตราเงินเฟ้อ) แต่ในความเป็นจริง “การออมเงินของคนไทยมีน้อยมาก” ทำให้รายได้ที่สำคัญของผู้สูงอายุมาจากเงินที่บุตรหลานส่งให้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา รายได้ของบุตรหลานก็มีแนวโน้มลดลง
เมื่อดูพฤติกรรมการออมของคนไทย อ้างอิงข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปี 2565 พบว่า “มีคนไทยเพียงร้อยละ 15 ที่วางแผนการเงินเพื่อยามเกษียณและทำได้เป็นผลสำเร็จ” ทั้งนี้ ประชากรเจนเอกซ์-เจนวาย (Gen X-Gen Y) มีเพียงร้อยละ 15.9 และร้อยละ 21.1 ตามลำดับ ด้านประชากรเจนซี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงาน พบร้อยละ 53 หรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง ยังไม่เริ่มคิดวางแผนเพื่อการเกษียณ
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่าด้วย “รูปแบบการออมของคนไทย” พบว่า “ส่วนใหญ่นิยมฝากเงินไว้กับธนาคาร ซึ่งอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มต่ำลงและไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ” สะท้อนภาพชัดเจนว่า “ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)”
เป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อหันไปดู “ภาระของภาครัฐกับการแบกรับการจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุ” จะพบว่า รัฐไทย
มีรายจ่ายด้วยบำนาญข้าราชการอยู่ 3.8 แสนล้านบาท สวัสดิการประกันสังคม 3.8 หมื่นล้านบาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 7.8 หมื่นล้านบาท
เมื่อเจาะที่ประเด็นด้านสุขภาพ พบว่า “ผู้สูงอายุจำนวนมากเสียปีสุขภาวะ อันหมายถึงช่วงเวลาที่จะมีสุขภาพดี ไปกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม ซึ่ง “โรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมของแต่ละคนที่ทำสะสมกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน” ซึ่งหลายคนก็รู้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งก็ยังมีในส่วนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
“ถึงแม้ว่าเราจะมีอายุยืนมากยิ่งขึ้น แต่ในเรื่องสุขภาพเราอาจจะยังมีข้อท้าทายหรือเป็นประเด็นที่เราต้องช่วยเหลือดูแลกันต่อไป ยิ่งคนสูงอายุมากขึ้นสุขภาพต้องดูแลมากยิ่งขึ้น ทำให้งบประมาณมันจะกระทบต่องบประมาณประเทศด้วย”
(อ่านต่อฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย. 2567)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี