“มันมีงานวิจัยสมัยนั้นว่าเฉพาะค่าขนมที่เป็น Profit Margin (อัตรากำไร) ของโรงงานที่กำลังทำ ในยุคนั้นนะ 15-20 ปีที่แล้ว Profit Margin อยู่ที่แสนกว่าหรือ 2 แสนล้านบาทต่อปี เขาเจียดเม็ดเงินนิดเดียว ประมาณ 4-5 พันล้านในการทำโฆษณา แล้วลองไปสังเกตโฆษณา หมอว่าแม้กระทั่งยุคปัจจุบันก็จะเป็นแบบนั้นก็คือโฆษณาส่วนใหญ่ก็จะเป็นโฆษณาเกี่ยวกับอาหารหวาน-มัน-เค็ม-แซ่บ”
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวในการบรรยาย (ออนไลน์) หัวข้อ “การตลาดอาหาร : ผลกระทบในเชิงจิตวิทยาเด็ก” จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการลงทุนโฆษณาอาหารหรือขนมขบเคี้ยวประเภท “หวาน-มัน-เค็ม-แซ่บ” ที่ใช้เม็ดเงินไม่มากแต่สร้างผลกำไรมหาศาลให้กับอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันมานานนับสิบปี เมื่อเทียบกับโฆษณาเชิญชวนให้บริโภคผัก-ผลไม้ ที่แทบไม่ปรากฏบนหน้าสื่อ
ซึ่งผลกระทบของการโฆษณาดังกล่าว ทำให้เด็กเกิดความถวิลหาอยากได้ โดยจะพบว่าเมื่อเด็กโตพอจะชี้นิ้วได้แล้ว เมื่อเห็นขนมเหล่านั้นก็พร้อมจะชี้ให้พ่อแม่ผู้ปกครองซื้อ โดยจากการสำรวจภาคสนามปรากฏการณ์นี้พบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบเสียด้วยซ้ำไป ในขณะที่ค่าขนมแต่ละวันที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้บุตรหลาน ประมาณร้อยละ 25-30 หรือบางคนอาจไปถึงร้อยละ 40-50 หมดไปกับการซื้อขนมขบเคี้ยว
ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วงที่มีการก่อตั้ง “เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน” ในเวลานั้นพบปัญหา 1.เด็กอ้วน ซึ่งบางคนอาการหนักอยู่ในระดับอันตราย ต้องใช้เครื่องถ่างจมูกอัดอากาศเข้าไป และไม่สามารถให้นอนหงายได้เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 2.เด็กฟันผุ เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 4 ซี่ต่อคน และ 3.เด็กทุพโภชนาการ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีฐานะยากจนในระดับที่เข้าไม่ถึงการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ตามปกติ
รศ.นพ.สุริยเดว ยกตัวอย่างหนึ่งที่เคยเจอสมัยทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเด็ก ยุคนั้นแพทย์ยังต้องเขียนบันทึกรายละเอียดผู้ป่วยด้วยมือ มีเด็กคนหนึ่งอายุ 11 ปี มาโรงพยาบาลเพราะมีอาการปวดท้องและมีภาวะซีด รูปร่างเด็กคนนี้ดูเตี้ยและผอมทั้งๆ ที่กำลังใกล้เข้าสู่วัยรุ่น ขับถ่ายไม่ออก ในขณะที่ผู้เป็นแม่ซึ่งเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว พาลูกมาหาหมอแล้วก็นั่งร้องไห้ ซึ่งสำหรับคนที่เป็นแพทย์ถือเป็นภาพที่เจ็บปวดมาก
“เราก็งงว่าทำไมแม่นั่งร้องไห้? แม่บอกว่าต้องลามาเพราะว่าสุขภาพของลูกหลายรอบ และครั้งนี้นายจ้างยื่นคำขาดว่าถ้ายังจะลาแบบนี้ก็ลาออกไปเลี้ยงลูกเลยก็แล้วกัน พูดง่ายๆ ก็คือจะไล่ออกจากงาน แม่นั่งร้องไห้ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ตอนที่หมอถามว่าทุกวันนี้เขากินอาหารอย่างไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลายเป็นกินแต่อาหารขยะเต็มไปหมด คือขนมถุง น้ำอัดลม แม่ต้องปากกัดตีนถีบ อย่าลืมว่าแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่มีเวลามานั่งดูเวลามากินอาหาร แต่แม่เข้าใจผิดไม่ได้ไปห้ามลูกด้วยซ้ำไป” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
รศ.นพ.สุริยเดว เล่าต่ออีกว่า ในเวลานั้นมีขนมขบเคี้ยวยี่ห้อหนึ่ง ทำโฆษณาโดยใช้ภาพไก่หมุนเป็นตัวๆ ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคว่าขนมนั้นเป็นโปรตีน ทั้งที่จริงๆ แล้วทำจากแป้ง“ผลการวินิจฉัย..กรณีนี้เด็กขาดโปรตีน ขาดเกลือแร่โดยเฉพาะแคลเซียม จึงเกิดภาวะซีด” และการขับถ่ายยากก็มาจากการไม่ค่อยรับประทานผัก-ผลไม้ ทั้งนี้ เมื่อดูกลยุทธ์การโฆษณา จะพบ 1.ใช้การโฆษณาแฝง เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินรายการ ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่า หากมีการโฆษณาซ้ำ 4 ครั้ง/ชั่วโมง จะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้รับสารได้
2.ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer) หากเป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กก็ยิ่งมีผลมาก 3.ใช้วิธีพลิกแพลงเล่นกับกฎระเบียบเรื่องเวลา แม้จะมีกฎระเบียบจำกัดเวลาโฆษณาขนมเด็กต่อวัน แต่ภาคธุรกิจจะวางกลยุทธ์โดยอัดโฆษณาในช่วงเวลาที่คิดว่าเด็กจะมองเห็นได้มากที่สุด 4.ใช้การอ้างว่าสินค้านี้ไม่ได้ผลิตมาโดยเน้นเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ดังนั้นการออกกฎหมายควบคุม ก็จะต้องเผชิญแรงต้านเรื่องลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการบริโภคของประชากรที่ไม่ใช่เด็ก
5.สร้างภาพลักษณ์ด้วยจิตวิทยาเชิงบวก เช่น นำเสนอภาพศิลปวัฒนธรรม หรือภาพของการเป็นผู้ให้ก่อนตบท้ายด้วยยี่ห้อสินค้า ซึ่งสามารถเปลี่ยนจากคนที่ไม่เชื่อ-ไม่ศรัทธา กลายเป็นคนที่จงรักภักดีต่อยี่ห้อสินค้านั้นๆ (Brand Loyalty) พร้อมจะลุกขึ้นมาตอบโต้แทนผู้ประกอบการ ทั้งหมดนี้ทำได้โดยการโฆษณาเพียงครั้งละ 30 นาทีเท่านั้น เป็นอีกวิธีการที่พบมากขึ้นในระยะหลังๆ
“ประเทศไทยนี้แปลกดีนะ อาหารก็อุดมสมบูรณ์ แต่เด็กของเราทุพโภชนาการขาดแคลเซียม หรือ Minor Element (แร่ธาตุที่ร่างกายต้องการน้อยแต่ก็ขาดไม่ได้) ก็ขาด ซึ่งมันมีผลกระทบต่อร่างกาย แล้วไม่พอ เผชิญเหตุเรื่องอ้วนด้วยเผชิญเหตุเรื่องทุพโภชนาการด้วย แล้วเราเผชิญเหตุของ Micro Nutrient เขาเรียกสารเกลือแร่บางอย่างที่สำคัญๆ ยกตัวอย่างแคลเซียม เด็กกำลังเจริญเติบโต กระดูกยังไม่ปิด ตามหลักจะต้องการ 1,000 มิลลิกรัม/วัน แต่เด็กไทยค่าเฉลี่ยกินประมาณครึ่งหนึ่ง
แถมไปกินน้ำอัดลม เวลาไปกินอาหารหวาน-มัน-เค็ม-แซ่บเขาซื้อ 1 แถม 1 ลองไปดู เครื่องดื่มที่เขาให้คือน้ำดำหรือน้ำพวกนี้ที่มันมีคาร์บอเนต แล้วคาร์บอเนตมันก็ไปจับกับแคลเซียมแล้วก็ขับออกทางปัสสาวะ เครือข่ายไม่กินหวาน คือหมอเคยทำงานอยู่ในนั้น จำได้ว่าเราเคยออกแถลงเหมือนกันว่าดื่มน้ำอัดลมแล้วแคลเซียมที่กินไปก็ขับออกทางปัสสาวะ ตกลงไม่เหลืออะไรเลย ที่กินก็น้อยอยู่แล้ว ส่วนที่กินก็กลับกลายถูกขับออกทางปัสสาวะไปด้วย” รศ.นพ.สุริยเดว ฉายภาพปัญหาโภชนาการของเด็กไทย
ในช่วงท้าย รศ.นพ.สุริยเดว ตอบคำถามผู้ที่เข้าร่วมฟังผ่านระบบ Zoom เกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กที่ชอบบริโภคอาหารหรือขนมเหล่านี้ ว่า “ระบบนิเวศรอบตัวเด็กต้องให้ความร่วมมือ” เช่น หากพ่อดื่มน้ำอัดลมทั้งวัน จะคาดหวังให้ลูกลดกินหวานคงเป็นได้เพียงความฝัน ดังนั้น ต้องมีวินัยร่วมกันในบ้าน เป็นต้นแบบที่ดี ขณะที่โรงเรียนกับบ้านก็ต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน และหากขยายออกไปถึงชุมชนรอบรั้วโรงเรียนได้จะยิ่งดีมาก
“เวลาเด็กเลิกเรียนช่วงนั้นเป็นช่วงที่หิวมากที่สุด ถ้าเราไปทำการบ้านกับชุมชน ล้อมรอบรั้วโรงเรียนให้ดี เป็นวิน-วิน ไม่ใช่เขาเสียหายอย่างเดียว แต่หมายถึงเขาสามารถขายของได้ด้วย แต่เป็นขายของที่ไม่ใช่เป็นการติดหวานในลักษณะอย่างนี้ คือพูดง่ายๆ ต้องวางแผนร่วมกัน ถ้าทำทั้งมิติทางสังคมและมิติการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใหญ่ร่วมกันไปได้ พฤติกรรมลดหวานก็สามารถทำได้สำเร็จ และเมื่อทำได้สำเร็จก็ชั่วชีวิต” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
หมายเหตุ : เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของทันตแพทย์ กุมารแพทย์ นักโภชนาการ และนักวิชาการอิสระหลายสาขา ในปี 2545 หลังพบสถานการณ์เด็กไทยมีภาวะอ้วนเป็นจำนวนมาก
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี