วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : ‘ซุปเปอร์ อสม.’เพิ่มโอกาส  ‘คนที่สูง’เข้าถึงบริการสุขภาพ

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ซุปเปอร์ อสม.’เพิ่มโอกาส ‘คนที่สูง’เข้าถึงบริการสุขภาพ

วันเสาร์ ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2567, 06.00 น.
Tag :
  •  

กว่า 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่เมื่อประเทศไทยใช้ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (ปี 2520-2524)” เป็นจุดเริ่มต้นของ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)” บุคคลที่เป็นตัวแทนของแต่ละหมู่บ้าน เข้ามารับการฝึกอบรมหลักสูตรที่ออกแบบโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้กลับไปเป็น “ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของคนในชุมชน” เช่น การให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ การเฝ้าระวังโรค การดูแลคนเจ็บป่วยเบื้องต้น ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งทั้งในสถานการณ์ปกติและในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาด จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์

ที่งานประกวดและนิทรรศการ “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 (The 2nd Learning and Innovation Community Award)” เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 ณ รร.เดอะ เบอร์เคลีย์ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานรวม “นวัตกรรมท้องถิ่น..จากฝีมือนวัตกรชุมชน..โดยผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัย” จากทั่วประเทศ หนึ่งในบูธที่จัดแสดงที่ผู้สื่อข่าวเห็นแล้วสนใจจนอยากนำมาเผยแพร่ คือ “กระบวนการพัฒนาซุปเปอร์ อสม. สำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง” ว่าด้วยการยกระดับขีดความสามารถของ อสม. ในพื้นที่ทุรกันดาร ให้ช่วยดูแลคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


“ด่านแรกถ้าไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เราใช้ ว. (วิทยุสื่อสาร) หาที่ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) เพื่อที่จะบอกพี่เลี้ยงว่าอาการแบบนี้ต้องส่งต่ออย่างไร? ต้องเรียกอย่างไร? อันดับแรกอยู่บนดอยคือการเดินทางลำบากมาก แล้วก็สัญญาณได้คือต้องขึ้นดอยสูง ยิ่งถ้าอย่างหมู่บ้านของหนูนี่สัญญาณอาจจะมีบางจุดไปได้ แต่ถ้าไม่มีสัญญาณจริงๆ ก็จะ ว. ไป”

ขวัญฤทัย พงศาสัตย์ หนึ่งในผู้ผ่านการอบรมซุปเปอร์ อสม. ปฏิบัติหน้าที่ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เล่าถึงการทำงานของ อสม. ท่ามกลางข้อจำกัดทั้งการเดินทางและการสื่อสาร เพราะอยู่ในป่าและมีภูมิประเทศเป็นดอยสูง โดยเมื่อเจอสมาชิกในชุมชนที่เจ็บป่วย ก็จะต้องเริ่มจากประเมินอาการเบื้องต้น เช่น ชีพจร ความดัน ยังรู้สึกตัวหรือหมดสติ มีบาดแผลเลือดออกหรือไม่ ก่อนจะประสานงานหรือส่งต่อไปยัง รพ.สต. ที่เป็น “หน่วยพี่เลี้ยง” ของ อสม.

กระบวนการพัฒนาซุปเปอร์ อสม. นี้ เป็นความร่วมมือกันของสถาบันอุดมศึกษา 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรม 6 ด้าน คือ 1.อบรมเชิงปฏิบัติการ ความรู้และปฏิบัติการดูแล รักษา ป้องกัน ประเด็นปัญหาสุขภาพ การใช้ยาสามัญประจำบ้าน การถ่ายภาพและวีดีโอ รวมไปถึงการเตรียมพื้นที่ลงจอด หากจำเป็นต้องประสานเฮลิคอปเตอร์ให้มารับตัวผู้ป่วย

2.ศึกษาดูงานในโรงพยาบาล เพื่อให้มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เข้าใจกลไกการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาล การเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนมาส่งโรงพยาบาล และสามารถสื่อสารให้ชุมชนเข้าใจกลไกของโรงพยาบาล 3.กิจกรรมปฏิบัติงานจริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เกิดความมั่นใจและภูมิใจเมื่อสามารถทำได้จริง และได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน

4.ฝึกประสบการณ์ตรงกับพี่เลี้ยงที่โรงพยาบาล (หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) เพื่อให้เกิดทักษะมากขึ้น ได้รับความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในพื้นที่ของตนเอง และเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเองที่สามารถเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลสุขภาพชุมชน 5.กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการสะท้อนองค์ความรู้ที่ได้รับจากการปฏิบัติจริงของตนเองและเพื่อนๆ อสม. ในโครงการ รวมทั้งการเพิ่มพูนความรู้จากการขอคำแนะนำจากพี่เลี้ยงและทีมวิจัย จนเกิดความมั่นใจและความภูมิใจในการดูแลชุมชน

และ 6.ทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ เรียนรู้กระบวนการคิดเชิงระบบในการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการ ได้รับประสบการณ์ตรงในการดำเนินโครงการ พัฒนาไปสู่นวัตกรชุมชนด้านสุขภาพระดับสูง โดยมีตัวอย่าง อาทิ “โครงการให้ความรู้การดูแลสุขภาพเบื้องต้นของเด็กอายุ 0-5 ปี บ้านนาไคร้” อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ จำนวน 169 หลังคาเรือน ห่างจากสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด คือ รพ.สต. บ้านยางเปียง ถึง 35 กิโลเมตร

จันทร์ติ๊บ ประยูรยินดี ผู้ผ่านหลักสูตรซุปเปอร์ อสม. และปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เล่าว่า ปัญหาที่พบในชุมชนคือ “พ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้วิธีการเช็ดตัวบุตรหลาน” เมื่อพบเด็กเล็กเป็นไข้ก็จะให้ยาลดไข้อย่างเดียวและเมื่ออาการไม่ดีขึ้นก็จะต้องพาไปส่งโรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว โดยคาดหวังว่า หากพ่อแม่ผู้ปกครองเช็ดตัวเด็กเล็กที่เป็นไข้ได้ ก็จะช่วยให้เด็กอาการดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลำบากเดินทางไปโรงพยาบาลเสียทุกครั้ง

รศ.ดร.วิมลรัตน์ บุญเสถียร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในนักวิชาการประจำโครงการซุปเปอร์ อสม. กล่าวว่า คนบนพื้นที่สูงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพมากกว่าชุมชนบนพื้นราบ เพราะหมู่บ้านและ รพ.สต. อยู่ห่างกันมากและการเดินทางทำได้ลำบาก ซึ่งส่งผลต่อ อสม. ในหมู่บ้านเหล่านั้นที่ขาดโอกาสพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนด้วย จึงร่วมมือกับ รพ.สต. และ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ในพื้นที่ ทำโครงการพัฒนาศักยภาพ ให้ อสม. กลุ่มนี้ ตัดสินใจแก้ปัญหาเบื้องต้นเองได้ หรือส่งต่อมายัง รพ.สต. ให้เร็วที่สุด

และในเมื่อการให้ อสม. ลงจากดอยมาอบรมที่พื้นราบเป็นเรื่องยาก จึงเป็นฝ่ายคณาจารย์และพี่เลี้ยงที่ยกขบวนขึ้นไปให้ความรู้กันถึงบนดอยพร้อมอุปกรณ์ประกอบการฝึก เพื่อให้ได้ทดลองปฏิบัติจริงไม่ใช่เพียงการฟังบรรยาย อย่างไรก็ตาม ผู้เข้ารับการฝึกหลักสูตรซุปเปอร์ อสม. ต้องจัดเวลาสำหรับลงมาฝึกปฏิบัติที่ รพ.สต. โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และ อสม. จะประสานกับพี่เลี้ยงเสมอเมื่อกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในชุมชน

“เวลาสอนเราไม่ได้สอนเฉพาะทฤษฎีเนื้อหาการปฏิบัติ เราสอนวิธีตั้งแต่เขาจะส่งไลน์อย่างไร? จะถ่ายรูปอย่างไรเพื่อให้มันชัด? เพราะทางมันไกล ฉะนั้นเรื่องของเทคโนโลยีแบบนี้เขาก็จะต้องได้ด้วย เพราะว่าเวลาเขาโทร.ลงมาหรืออะไรมาต้องได้เห็นรูป ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่อยู่ไกลก็ไม่รู้ คือบนดอยบางดอยไม่มีสัญญาณ เขาก็ต้องขับมอเตอร์ไซค์ไปจนถึงที่ที่มีสัญญาณ” รศ.ดร.วิมลรัตน์ กล่าว

จากปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกของโครงการฝึกอบรมซุปเปอร์ อสม. เวลานั้น รศ.ดร.วิมลรัตน์ ยอมรับว่าไม่มั่นใจ ถึงขนาดที่ยังไม่กล้าประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นแนวคิดใหม่และเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นเอง โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ประยุกต์หลักสูตรพยาบาลมาใช้ฝึกอบรม อสม. ทั้งนี้ มีการฝึกอบรมให้พี่เลี้ยงในพื้นที่ด้วย เพื่อให้สามารถฝึกอบรมซุปเปอร์ อสม. รุ่นใหม่ๆ ได้เองในวันที่ทีมวิชาการถอนตัวออกมาแล้ว

หลังผ่านการอบรมไป 2 รุ่น เสียงสะท้อนจากพี่เลี้ยง รพ.สต. เห็นว่า โครงการฝึกอบรมซุปเปอร์ อสม. นั้นดีมาก เพราะเมื่อคำนวณแล้วช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางได้กว่า 1.2 ล้านบาท และช่วย รพ.สต. คัดกรองกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยเรื้อรังได้มากกว่า 2 พันครั้ง ในจำนวนนี้เป็นกรณีเข้าข่ายวิกฤตเสี่ยงต่อชีวิตถึง 13 ครั้ง ทำให้ประชาชนที่อาศัยบนพื้นที่สูงเข้าถึงบริการสุขภาพได้ดีขึ้น “ความหวังต่อไปคือการผลักดันเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่” โดยมี บพท. เป็นเหมือนตราประทับรับรองความสำเร็จ

บวรศักดิ์ เพชรานนท์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวเสริมว่า ในจุดที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เนต จะมีการเข้าไปติดตั้งเสาสัญญาณวิทยุสื่อสาร เพื่อให้ อสม. ประสานกับพี่เลี้ยง หากจำเป็นต้องส่งตัวก็จะเรียกรถพยาบาลผ่านสายด่วน 1669 มารอรับ แล้วรีบพาผู้ป่วยลงจากดอยมายังจุดนัดพบที่เป็นคนละครึ่งทาง หรือประสานเฮลิคอปเตอร์ “Sky Doctor” จากโรงพยาบาลใน จ.เชียงใหม่ หรือ จ.แม่ฮ่องสอน

อนึ่ง จากการสนทนากับคณะผู้ทำโครงการ มีเสียงสะท้อน “ข้อจำกัด” เรื่องการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ เพราะแม้จะรู้ว่ายอดเขาบางลูกหากติดตั้งแล้วจะทำให้มีสัญญาณใช้ได้เป็นวงกว้าง แต่ไม่สามารถติดตั้งได้เพราะเป็นพื้นที่ป่าซึ่งมีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ คำถามคือ “เป็นไปได้หรือไม่?” ที่จะทลายข้อจำกัดนี้?

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’ สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’
  • บทความพิเศษ : SME ไทยต้องพร้อมแข่งขันในเวทีโลก! บทความพิเศษ : SME ไทยต้องพร้อมแข่งขันในเวทีโลก!
  • \'ประยุทธ มหากิจศิริ\'เปิดใจแนวหน้าครั้งแรกหลังนอนคุก 1 คืน สะท้อน \'คืนที่ไร้เสรี\' ผ่านบทเพลง 'ประยุทธ มหากิจศิริ'เปิดใจแนวหน้าครั้งแรกหลังนอนคุก 1 คืน สะท้อน 'คืนที่ไร้เสรี' ผ่านบทเพลง
  • แนวหน้าวิเคราะห์ : สินค้าไม่ตรงปก-อย่าปล่อยลอยนวล ยื่นฟ้องศาลออนไลน์ได้ทั่วประเทศ แนวหน้าวิเคราะห์ : สินค้าไม่ตรงปก-อย่าปล่อยลอยนวล ยื่นฟ้องศาลออนไลน์ได้ทั่วประเทศ
  • รายงานพิเศษ : ชู‘พร้าวโมเดล’ต้นแบบพัฒนาที่ดินและน้ำ แก้ปัญหาชะล้างฯ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม รายงานพิเศษ : ชู‘พร้าวโมเดล’ต้นแบบพัฒนาที่ดินและน้ำ แก้ปัญหาชะล้างฯ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม
  • แนวหน้าวิเคราะห์ : ‘โรคแอนแทรกซ์’โผล่ ส่อง‘มาตรการภาครัฐ’กับการรับมือ แนวหน้าวิเคราะห์ : ‘โรคแอนแทรกซ์’โผล่ ส่อง‘มาตรการภาครัฐ’กับการรับมือ
  •  

Breaking News

เตือน! สัปดาห์เดียวป่วยโควิด พุ่ง 8,000 ราย ระบาดหนักกว่าไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า

'เอกนัฏ'ส่ง สุดซอย ปูพรมกวาดล้าง ปิดตาย โรงงานเหล็กผี IF จัดโทษหนัก เช็คบิล ขรก.มีเอี่ยว

'เด็ก-สตรี'อพยพมาพึ่งศูนย์พักพิง หลัง'อินเดีย-ปากีสถาน'เปิดฉากโจมตีปะทะเดือดรายวัน

สืบกระทุ่มแบนบุกรวบ 2 ตีนแมวคารังนอนพร้อมอาวุธปืน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved