“ถ้ามาดูชนบทกับเมือง ผู้สูงอายุในชนบทจะมีสัดส่วนสูงมากกว่าในเมืองใช่ไหม? เพราะอะไร? เพราะคนไทยที่ไปทำงานต่างถิ่น ถ้าประสบความสำเร็จไม่กลับนะ แต่ไม่ประสบความสำเร็จกลับบ้านโควิดก็เห็นใช่ไหม? เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือเริ่มอ่อนแอลง กลับบ้าน! นั่นล่ะ..ในชนบทจะประกอบไปด้วยผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอีก เอาละสิ! ชนบทจะทำอย่างไร?”
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวในการปาฐกถาหัวข้อ“สังคมสูงวัย..จุดเปลี่ยนสู่ศักยภาพใหม่ของสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า” เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ในการประชุมวิชาการ (Mini-Symposium) “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (Smart Aging Society : Together, We can)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ช่วงวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ซึ่งในงานเดียวกัน ภญ.วรรณศิริ นิ่มพิทักษ์พงศ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท พร้อมพ์พา จำกัด ก็ได้หยิบยกคำกล่าวของ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ มาพูดถึง ว่า ภาคเหนือเป็นภาคที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าภาคอื่นๆ โดยอาจเป็นไปได้จากการที่ทุกคนพากันกลับภูมิลำเนา แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะที่บ้านน่าอยู่หรือเพราะไม่ประสบความสำเร็จจากที่อื่น อย่างไรก็ตาม “งานวิจัยไม่ว่าในไทยหรือต่างประเทศชี้ตรงกันว่า ผู้สูงอายุทุกคนอยากใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านของตนเอง (Aging inPlace)” ไม่ใช่ไปอยู่บ้านพักคนชรา (Nursing Home)
อีกด้านหนึ่ง “โรงพยาบาลก็มักประสบปัญหาผู้สูงอายุไม่เข้ารับการรักษาหรือตรวจติดตามอาการอย่างต่อเนื่องตามแผนการรักษาของแพทย์” ซึ่งเมื่อสอบถามจะพบเหตุผลหนึ่งคือ “ไม่มีใครพามา” เมื่อประกอบกับทีมบุคลากรในโรงพยาบาลที่ทางครอบครัวบริหารอยู่กำลังจะเกษียณอายุ แต่สภาพร่างกายและจิตใจยังพร้อมทำงาน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของพร้อมพ์พา (Prompt PA) โดย Prompt ในภาษาอังกฤษแปลว่ารวดเร็ว ส่วน PA ย่อมาจาก Personal Attendant แปลว่าผู้ดูแลส่วนบุคคล อีกทั้งยังพ้องกับภาษาไทย คือพร้อมที่จะพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลและกลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า “พร้อมพ์พาเป็นบริการช่วยลูกหลานดูแลผู้สูงอายุ..แต่ไม่ได้ไปทำหน้าที่แทนลูกหลาน” อย่างใน จ.พิษณุโลก จุดเริ่มต้นของพร้อมพ์พา ก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่คนวัยหนุ่ม-สาวออกไปทำงานต่างถิ่น หรือผู้สูงอายุบางรายก็ไม่มีลูกหลาน ซึ่งการทำงานของพร้อมพ์พาจะมี 3 ด้าน คือ 1.คนนำทาง (Guide) แก้ปัญหาการไปโรงพยาบาลที่หลายครั้งผู้สูงอายุหรือแม้แต่ญาติมักจะงงๆ เวลาที่บุคลากรในโรงพยาบาลบอกให้ไปห้องนั้น จากนั้นไปต่อที่เคาน์เตอร์โน้น ฯลฯ กลายเป็นเสียเวลาเดินหลงทางกันไป
2.ล่าม (Interpreter) หลายครั้งที่แพทย์หรือพยาบาลอธิบายหรือให้คำแนะนำกับผู้ป่วยจะใช้ศัพท์เทคนิคหรือศัพท์เฉพาะทางในทางการแพทย์ ซึ่งทั้งผู้สูงอายุและญาติมักไม่เข้าใจ ในทางกลับกันผู้ป่วยเองก็อาจอธิบายอาการที่ตนเองเป็นได้ไม่ชัดเจนทำให้แพทย์หรือพยาบาลไม่เข้าใจ ด้วยความที่ทีมของพร้อมพ์พาเป็นอดีตบุคลากรสาธารณสุข ก็จะช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ในการเป็นตัวกลางช่วยสื่อสารระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย หรือหากญาติไม่ได้อยู่ด้วย ก็จะแจ้งข้อมูลให้ญาติทราบ
และ 3.สรุปข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ผู้สูงอายุ 1 คน อาจรักษากับแพทย์หลายท่าน อีกทั้งฐานข้อมูลก็ไม่ได้เชื่อมกันทั้งประเทศ จึงทำให้อาจเกิดปัญหาจ่ายยาซ้ำซ้อน จะดีกว่าหรือไม่หากจัดทำข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุแบบเฉพาะตัว เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ดูแลตนเองซึ่งรวมถึงการใช้แจ้งกับแพทย์ที่มาตรวจรักษาด้วย ส่วนทีมพาหนะจะใช้คนขับรถจากภายนอก (Outsource)แต่ก็ต้องผ่านการอบรมการเคลื่อนย้าย เพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ
“เราอยากพูดเรื่องผลกระทบต่อสังคม คือการลดภาระของโรงพยาบาลและบุคลากร ช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขโดยรวม เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของลูกหลานด้วย เพราะลูกหลานสามารถทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ประเทศได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมต่อ สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับทีมทั้งทีมอาชีพและอาสา” ภญ.วรรณศิริ กล่าว
ภญ.วรรณศิริ กล่าวต่อไปว่า พร้อมพ์พายังมีแนวคิดทำแอปพลิเคชั่น สืบเนื่องจากผู้สูงอายุจะติดต่อบริการพร้อมพ์พาผ่านไลน์และเฟซบุ๊ก แต่มองว่าจะให้ผู้สูงอายุไปใช้แอปฯ เรียกรถรับ-ส่งทั่วๆ ไปคงทำได้ยาก โดยพร้อมพ์พาจะเชื่อมต่อไปยังทีมผู้ให้บริการ โดยเน้นทีมที่อยู่ใกล้บ้านให้ช่วยดูแลกันเอง อย่างไรก็ตาม พร้อมพ์พายังมีโจทย์สำคัญ ได้แก่ 1.ทำอย่างไรจะเกิดการขยายผล โดยพร้อมพ์พาพยายามเชื่อมโยงเครือข่ายที่ให้บริการแบบเดียวกัน แต่แทนที่ทุกหน่วยจะมีศูนย์แจ้งขอรับบริการ ก็น่าจะมีแพลตฟอร์มกลางช่วยกระจายงานออกไปในแต่ละจังหวัด
2.ต้องดูความปลอดภัยด้วย จริงๆ แล้วมีบุคคลที่พร้อมให้บริการอยู่มากมาย แต่ก็ต้องตรวจสอบว่าเป็นมิตรหรือมิจฉาชีพ เรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามาช่วย 3.มุมมองที่ขัดแย้งระหว่างการให้บริการกับการให้ค่าตอบแทนคนทำงาน ด้านหนึ่งไม่กล้าคิดค่าบริการในอัตราสูงเพราะต้องการให้ผู้สูงอายุเข้าถึงได้มากที่สุด แต่อีกด้านก็อยากให้คนที่เข้ามาทำงานนี้มีรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อ
“ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย รถ WelCab (รถตู้ติดตั้งวีลแชร์)เราให้บริการครั้งหนึ่งไป-กลับ 780 บาท ถ้าในกรุงเทพฯ ท่านลองไปเช็คดู 3,500 บาท คือมีคนติดต่อมาหาเราจากทั่วประเทศเพื่อมาขอใช้บริการรถ WelCab คุยอยู่ตั้งนานจนจบว่าเราไปไม่ได้เพราะไกลเกิน เป็นอะไรที่ถ้ามีเครือข่าย สามารถกระจายเครือข่ายเหล่านี้” ภญ.วรรณศิริ ระบุ
ภญ.วรรณศิริ ยังกล่าวอีกว่า พร้อมพ์พายังมีบริการ PromptLab ส่งพยาบาลวิชาชีพและนักเทคนิคการแพทย์ไปเจาะเลือดถึงบ้าน กรณีเป็นผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน-ติดเตียง รวมถึง Prompt PT หรือนักกายภาพที่ไปให้บริการทำกายภาพบำบัดถึงบ้าน ช่วยให้ผู้สูงอายุกลับมาขยับเขยื้อนร่างกายใช้ชีวิตได้ตามปกติ และ Prompt Sleep บริการตรวจคุณภาพการนอนหลับของผู้สูงอายุ เป็นต้น
อนึ่ง นอกจากการรับ-ส่งผู้สูงอายุระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลแล้ว พร้อมพ์พายังช่วยให้ผู้สูงอายุได้ไปร่วมงานสำคัญ เช่น งานศพ งานแต่งงาน ได้ไปเที่ยวพักผ่อนหรือไปทำบุญที่วัดซึ่งบางครั้งลูกหลานอาจไม่ว่างพาไป หรือในทางกลับกันก็มีการพาผู้สูงอายุจากบ้านพักคนชรากลับไปเยี่ยมบ้านของตนเอง อย่างที่มีคำกล่าวว่า “สำหรับผู้สูงอายุ..การได้ออกไปนอกบ้านถือเป็นลาภอันประเสริฐ”!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี