17 พ.ค. 68 ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ นักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก "Prapas Cholsaranon" ระบุว่า "ในไร่แห่งศีลธรรม อาจมีวัชพืชปะปน แต่ต้นโพธิ์แท้ยังยืนหยัด ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่สร้างความผิดหวัง ก็มักมีเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ว่า “เราขอแค่ธรรมะจากพระพุทธเจ้า ไม่จำเป็นต้องนับถือพระสงฆ์”
บางคนถึงขั้นปฏิเสธองค์สงฆ์ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ศาสนาควรพึ่งตน ไม่ต้องมีตัวกลางใด ๆ
ฟังเผินๆ ดูมีเหตุผล แต่หากเราค่อย ๆ เปิดดู “อดีต” ที่ชาวพุทธอาศัยอยู่บนเส้นทางนั้นมาตลอด ก็จะพบความจริงที่นุ่มลึกว่า หากไม่มีพระสงฆ์ เราคงไม่มีธรรมะให้ศึกษา ไม่มีพระไตรปิฎกให้อ่าน และไม่มีศาสนาพุทธให้เราเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อเลยด้วยซ้ำ เพราะในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ศาสนาไม่ได้ถูกสลักไว้ในหิน ไม่ได้อัดเสียงไว้ในระบบคลาวด์ แต่ฝากไว้ในใจของ “พระสงฆ์” รุ่นแล้วรุ่นเล่า
พวกท่านท่องจำพระธรรมวินัย ปรึกษาหารือกันอย่างถี่ถ้วน และจัดสังคายนาให้คำสอนคงอยู่ตรงตามต้นฉบับ หนึ่งเสียงผิดหรือข้ามคำ ก็อาจทำให้ศาสนาเปลี่ยนไปอีกทางได้เลย การสังคายนาครั้งแรกเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียงสามเดือน โดยพระมหากัสสปะเป็นผู้ชักชวนสงฆ์ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ มาทบทวนพระธรรมวินัยร่วมกัน จนผ่านมาราว 400 ปี จึงเริ่มมีการจารึกคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษรบนใบลาน โดยเริ่มที่ลังกา ก่อนจะเผยแผ่สู่สุวรรณภูมิ
ธรรมะที่เราศึกษาวันนี้ คือผลจากการทุ่มเทของพระสงฆ์นับพันรูป นับพันปี ท่านเดินเท้า ข้ามทะเล จารึกตัวอักษรใต้แสงตะเกียง สวดทวนซ้ำวันแล้ววันเล่า ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องศรัทธา แต่เพื่อไม่ให้ “ความรู้แจ้ง” สูญหาย ด้วยภาษาบาลีที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเหมือนภาษาที่กำลังดิ้นได้ทุกวันนี้ และแม้พระพุทธเจ้าท่านจะปรินิพพานไปกว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว แต่แผ่นดินนี้ยังมีพระสงฆ์ที่เป็นอริยบุคคล ผู้สืบทอดวัตรปฏิบัติอันงดงามต่อเนื่องมามิเคยขาด
หลายรูปละกิเลสได้จริง หลายรูปยังดำรงอยู่ในวิถีที่มั่นคง สมถะ งดงาม เราอาจเคยได้ยินเพียงชื่อเสียง แต่หากตั้งใจ เราสามารถเดินทางไปฟังธรรมอย่างใกล้ชิด และแม้จะไม่ได้อยู่ต่อหน้า ก็ยังมีคำสอนของท่านมากมายให้เราฝึกปฏิบัติ จะด้วยเสียง แสง หนังสือ หรือความสงบในบทสวด
ศรัทธาที่ไม่ใช่แค่มือที่กราบลงพื้น แต่คือการฝึกจริงในชีวิตจริง ยังเกิดขึ้นได้ เพราะในแผ่นดินนี้ ยังมีแสงประทีปที่สว่างต่อเนื่องมาจากครั้งพุทธกาลผ่านพระสงฆ์ผู้เป็นสุปฏิปันโณ แน่นอนว่า ในแต่ละยุคย่อมมีผู้ประพฤติไม่ดีปะปน เช่นเดียวกับในทุกวงการ แต่หากเราจะละทิ้งวัดเพียงเพราะพระบางรูปทำผิด ก็คงเหมือนการตัดทั้งป่าเพราะเห็นว่าวัชพืชขึ้นรก
คนรุ่นใหม่มีสิทธิ์ตั้งคำถาม และพระสงฆ์เองก็ควรเป็นผู้น้อมรับปัญหานั้นอย่างกล้าหาญ แต่ในขณะเดียวกัน หากเราต้องการศึกษาพุทธศาสนาให้ลึกและครบ เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะ “วางศรัทธาอย่างมีสติ” เพื่อเรียนรู้จากพระสงฆ์ที่เปี่ยมด้วยเมตตา และไม่ลืมว่า ศาสนาพุทธเดินทางมาถึงมือเราก็เพราะพระสงฆ์เป็นผู้แบกมา บางที การรักษาศาสนา อาจไม่ได้หมายถึงการปกป้องคนใดคนหนึ่ง แต่อาจเริ่มจากการรู้คุณในสิ่งที่เรายังมี และ “ศรัทธาอย่างมีปัญญา” ในสิ่งที่ควรดำรงไว้"
ขอบคุณข้อมูลจาก : Prapas Cholsaranon
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี