การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่เคยสร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ให้กับโลก ทั้งชีวิตของประชากร และเศรษกิจจนย่อยยับ เหมือนว่าจะยังไม่จบ ขณะนี้ก็ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
ในส่วนของประเทศไทยก็มีการจับตา เฝ้าระวังเรื่องการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดอย่างใกล้ชิด
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย นับตั้งแต่ 1 มกราคม-14 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยสะสมแล้ว 71,067 คน เสียชีวิต 19 คน โดยแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ (สัปดาห์ที่ 16 ของปี 2568) ที่มีการเดินทางและการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก
ขณะที่ ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 ประเทศไทยพบการระบาดของสายพันธุ์ XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ที่มีลักษณะการแพร่กระจายที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ที่พบก่อนหน้านี้ โดยอาจเป็นสาเหตุให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เนื่องจากอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ XEC ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ที่สำคัญคือไม่มีอาการเฉพาะอย่างไม่ได้กลิ่นหรือไม่รู้รส ทำให้การวินิจฉัยแยกโรคจากไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดธรรมดาทำได้ยากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้โรคไวรัสโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดหนักขึ้นต่อจากนี้ก็คือ โรงเรียนต่างๆ ได้เปิดภาคเรียนแล้ว ซึ่งเด็กนักเรียนจะต้องมาเรียนในห้องเรียนตามปกติ มีโอกาสในการสัมผัสใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่
และที่น่าเป็นห่วงก็คือ กลุ่มเด็กอายุ 0–4 ปี คือกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด และส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสายพันธุ์ XEC ตรงนี้จึงอยู่ที่การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อเด็กอยู่ที่บ้าน และการดูแลของคุณครูเมื่อเด็กอยู่ที่โรงเรียน ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
ปัจจัยอีกประการที่จะทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาต่อจากนี้ คือ การเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เนื่องจากไวรัสโควิด-19 จะมีการแพร่ระบาดได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า แม้จำนวนผู้ป่วยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก เมื่อมีอาการป่วย ถ้าร่างกายแข็งแรงดี ก็รักษาตามอาการ โรคจะหายไปได้เอง เพราะปัจจุบัน โรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนมาเป็นโรคประจำฤดูกาลแล้ว หลังการระบาดใหญ่เป็นเวลา 3 ปี
ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ยังระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญคือการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปฏิบัติตามมาตรต่างๆ อย่างเคร่งครัด อาทิ การล้างมือบ่อยๆ การสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะผู้ป่วย หรือเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีคนอยู่หนาแน่น รับประทานอาหารที่สะอาด สุก เป็นต้น
ตรงนี้เรียกว่า การป้องกันแบบที่ไม่ใช้ยาหรือวัคซีน (Non Pharmaceutical Intervention) หรือ NPI ซึ่งศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ชี้ว่า สำคัญกว่าการให้วัคซีนเสียอีก
ทั้งนี้ หากอยู่ในสถานการณ์ที่เรากลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ก็ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อคนใกล้ชิดในครอบครัว และต่อสังคม ด้วยการยึดหลักปฏิบัติที่จะไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่น ก็จะช่วยยับยั้งไม่ให้ไวรัสโควิด-19 ระบาดเป็นวงกว้างต่อไปอีก
ในสถานการณ์ที่โรคไวรัสโควิด-19 ทำท่าจะกลับมาสร้างความปั่นป่วนอีกครั้งในขณะนี้ เชื่อว่า ไม่มีใครประมาท และพร้อมรับมืออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานด้านการแพทย์ และในส่วนของประชาชน เพราะเราเคยผ่านวิกฤตครั้งใหญ่มาแล้ว ทำให้มีภูมิคุ้มกันและองค์ความรู้ที่จะใช้เป็นเกราะป้องกันโรคไวรัสตัวร้ายนี้ไม่ให้กลับมาสร้างหายนะให้กับโลกเหมือนที่เคยเป็นมา
ทีมข่าวแนวหน้า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี