ผ่านพ้นไปแล้วกับเวทีอภิปราย “มองอนาคตสิทธิบัตรทองของคนไทย : ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการประชุม “การรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดับประเทศ ประจำปี 2568” (ครั้งที่ 22) จัดโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ
น.ส.สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ระบบบัตรทองจะไปได้หรือไม่นั้น ขออ้างอิงคำพูด นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. เคยพูดไว้ต้องขึ้นอยู่กับ 3 ส่วน คือนักการเมืองที่ต้องสนใจและมีจิตวิญญาณเรื่องนี้ชัดเจน ประชาชนร่วมสนับสนุน และบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องร่วมขับเคลื่อน
และขออ้างอิงคำพูดตัวแทนเยาวชนจากเวทีสภาคุ้มครองผู้บริโภค จ.เชียงใหม่ ที่ระบุว่า บัตรทองไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าถึงสิทธิการเข้าถึงบริการ แต่หมายถึงสิทธิความเท่าเทียมกัน และประชาชนต้องเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อน ย้ำว่าเราไม่อยากเห็นระบบบัตรทองเดียวที่เดินไปได้ แต่เรายังมีระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการที่ต้องไปด้วยกัน ดังนั้นจึงทำให้มีมาตรฐานเดียว โดยมองความเป็นไปได้ในการใช้ มาตรา 5, 9 และ 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อขับเคลื่อน
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บัตรทองทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้า ป้องกันการล้มละลายจากค่ารักษา แต่ก็มีส่วนที่ต้องพัฒนาจากนี้ เริ่มจากความครอบคลุมโรคก่อน วันนี้เรายังมีผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงการรักษา อย่างผู้ป่วยโรคหายากที่เข้าไม่ถึงทั้งการรักษา แม้จะมียาใหม่ที่มีประสิทธิผลแล้ว แต่สิทธิประโยชน์ยังไม่ครอบคลุมเพราะไม่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตรงนี้จะทำอย่างไร นอกจากนี้ต้องมีระบบส่งต่อให้ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน ไม่ใช่เมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวแต่ถูกจำกัด
รวมถึงให้มีช่องทางสื่อสารระหว่าง สปสช. และหน่วยบริการ ผ่านระบบออนไลน์หรือ Call center ที่แก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยได้จริง ส่วนการออกสิทธิประโยชน์ใหม่ ต้องถาม สปสช. ว่าใช้ได้จริงหรือไม่ อย่างบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โรคมะเร็งรักษาทุกที่ ที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ ซึ่ง สปสช. จะต้องมีระบบติดตามการให้บริการส่วนนี้ สุดท้ายกรณีการถูกเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มเติม ยืนยันว่าหากอยู่ในสิทธิประโยชน์ ต้องไม่มีการเรียกเก็บทุกกรณี ยกเว้นยานอกบัญชี
แต่หากเป็นยานอกบัญชีที่มีความจำเป็นต่อชีวิตผู้ป่วย สปสช. ต้องมาดูเพิ่มเติม เพราะไม่เช่นนั้นจะขัดกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุน เนื่องจากเป็นเหตุให้ผู้ป่วยล้มละลายจากค่ารักษาได้ ส่วนประเด็นงบประมาณวันนี้จะต้องนำข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน และหากไม่เพียงพอต้องนำเสนอขอเพิ่มเติม พร้อมปรับปรุงระบบข้อมูลต่างๆ รองรับ ย้ำว่านอกจากผู้ป่วยไม่ล้มละลายจากค่ารักษาแล้ว เราก็ไม่อยากเห็นผู้ให้บริการ หน่วยบริการล้มละลายเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึงผู้ป่วยก็ตายไปด้วย
นายสุริยา สมสีลา มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ กล่าวว่า สื่อการสื่อสารกับคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการด้านการได้ยินมีอุปสรรคการเข้ารับบริการ เช่น โรงพยาบาลประกาศเรียกคิวผู้ป่วย เมื่อถึงคิวก็ไม่รู้เพราะไม่ได้ยิน ดังนั้นทำอย่างไรให้มีสื่อเพื่อการสื่อสารสำหรับคนพิการกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีในระบบ นอกจากนี้อยากให้ดูในเรื่องกายอุปกรณ์ที่จำเป็น และเหมาะสมกับคนพิการ เพราะแม้จะเป็นคนที่มีความพิการเดียวกัน แต่อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการอาจมีลักษณะที่เหมาะสมแตกต่างกัน อาทิ วีลแชร์ ไม้ค้ำยัน เป็นต้น หากใช้ที่เหมาะสม มีมาตรฐานก็จะช่วยลดความพิการได้ พร้อมฝากในเรื่องการเข้าถึงผ้าอ้อมสำเร็จรูป ยังมีคนพิการที่จำเป็นต้องใช้แต่เข้าไม่ถึงอยู่มาก
นายสุธี ชุดชา ผู้อำนวยการเครือข่ายสนับสนุนการพัฒนาสังคม สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอมองการพัฒนาระบบบัตรทองในด้านป้องกันเยาวชน ด้วยปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติดที่ทำให้เจ็บป่วยตั้งแต่ก่อนวัยอันควร เท่ากับเพิ่มภาระการรักษาให้กับประเทศ ดังนั้นจึงต้องทำให้เยาวชนห่างไกลปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ขณะเดียวกันต้องเน้นการสื่อสารสิทธิบัตรทอง เพราะเยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้และไม่เข้าใจ เช่น สิทธิบริการอนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิรับถุงยางอนามัย และยาคุมกำเนิด เป็นต้น
น.ส.สุชาดา สุวรรณเทศ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองนอกจากประสานระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการแล้ว คือการพัฒนาเครือข่าย แกนนำประชาชนให้เข้าใจถึงสิทธิบัตรทอง เพื่อให้ใช้สิทธิประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะตอบสนองการเข้าถึงบริการที่เป็นเป้าหมายของนโยบายได้ แต่ข้อจำกัดคือศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองไม่สามารถทำงานทั้งหมดเองได้ แต่ต้องทำงานร่วมกับศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนที่กระจายไป แต่ก็มีปัญหางบประมาณ แม้ว่า สปสช. จะสนับสนุนแต่ก็ลดลงทุกปี เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) มาสนับสนุน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี