แนะรัฐลดภาษีเครื่องจักรกลการเกษตร อีกหนึ่งทางออกหลังแบน3สารเคมี
10 ตุลาคม 2562 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลังรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อค่ำวันที่ 9 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยตอนหนึ่งระบุถึงความกังวลของเกษตรกรหากรัฐบาลไทยยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดคือพาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) เรื่องต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น มาจากการที่รัฐเก็บภาษีเครื่องจักรกลทางการเกษตรแพงมากจนเกษตรกรยากจะเข้าถึงได้ จึงเสนอแนะให้ลดภาษีลงเพื่อเป็นแนวทางทดแทนการใช้สารเคมี ดังนี้
สุดดราม่า!!! เขาว่าพวกแบนสารพิษเป็นพวกโลกสวยที่ไม่อยู่บนความจริง? มีบางคนบอกว่าพวกที่เรียกร้องให้แบนสารพิษ หรือสนับสนุนเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องของพวกโลกสวย เป็นพวกอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่มีใครทำได้หรอก คำถามมีอยู่ว่า...
1. สมัยก่อนที่เราไม่มีสารพิษตั้งแต่โบราณกาลมา การเกษตรประเทศไทยเราอยู่รอดมาได้อย่างไร?
2. ตัวอย่างประเทศภูฏาน ประกาศเป็นประเทศเกษตรไร้สารพิษได้อย่างไร?
3. ชุมชนสันติอโศกทุกจังหวัดทำเกษตรไร้สารพิษได้อย่างไร แล้วยังมีเงินงบประมาณขยายกิจการบุญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆได้อย่างไร?
4. เครือข่ายการเกษตรไร้สารพิษแบบมูลนิธิข้าวขวัญ พวกเขาดำรงอยู่ได้อย่างไร?
ทั้งนี้สารพิษวัตถุอันตรายในประเทศไทยปี 2560 10 อันดับแรก สูงถึง 140 ล้านกิโลกรัม เฉลี่ยประชากรในประเทศไทยที่ 65.5 ล้านคน สารพิษเหล่านี้มีปริมาณเฉลี่ยต่อหัวคนไทย ประมาณคนละ 2.1 กิโลกรัมต่อปี ปริมาณการใช้วัตถุอันตรายมากขนาดนี้ จะไม่เจ็บป่วยเสียชีวิตด้วยโรคร้ายได้อย่างไร?
มีการประเมินว่าสารพิษเหล่านี้มีมูลค่าผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบนิเวศ 27,440 ล้านบาท/ปี ซึ่งความจริงแล้วรัฐบาลควรจะต้องจัดเก็บภาษีธุรกิจนำเข้าสารพิษเหล่านี้ในจำนวนเม็ดเงินให้ใกล้เคียงกันกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อมาสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเหมือนสารพิษเหล่านี้
ประเทศไทยมีการใช้สารเคมีในแปลงเกษตร 15-20% ทั้งนี้สัดส่วนเกษตรกรที่ลงชื่อจะใช้ 3 สารพิษจำนวน 402,715 ราย หรือประมาณ 5.91% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด 6.8 ครัวเรือน ที่ต้องรับมือแบน 3 สารพิษ ด้วยการสนับสนุนเกษตรกร 5.91% ให้ปรับเปลี่ยนสู่ระบบเกษตรและอาหารปลอดภัย
วันที่ 8 ตุลาคม 2562 คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธีชีววิถี หรือไบโอไทย ได้เสนอทางออกในกรณีที่เกษตรกรจำนวนหนึ่งอาจต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ดังนี้
1. รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณและความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มที่ต้องหยุดใช้ 3 สารพิษกลุ่มนี้
2. เมื่อไม่ใช้ 3 สารเคมีพิษ คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ก็ไม่จำเป็นต้องหาสารเคมีตัวอื่นแทน
แต่ให้สนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชคลุมดิน หรือจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถ เครื่องตัดหญ้า เป็นต้น
3. ให้สนับสนุนการสร้างอาชีพบริการใหม่ในชุมชน เช่น งานรับจ้างตัดหญ้า เป็นต้น
4. ต้นทุนของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากการยกเลิกใช้สารเคมี เป็นภาพลวงตาอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี เพราะที่ผ่านมามีการยกเว้นภาษีนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ ขณะที่มีการจัดเก็บภาษีกับสินค้าประเภทเครื่องจักรกลทางการเกษตรจนทำให้เกษตรกรเข้าไม่ถึง จึงต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีเกษตรกรรมใหม่
มาร่วมกันปฏิรูปการเกษตรธรรมชาติไร้สารพิษ พลิกฟื้นแผ่นดิน เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพและชีวิตของคนไทยทุกคน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี