กยท.ขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางประสบผลสำเร็จจ่ายเงินไปแล้ว 1.4 ล้านราย กว่า 21,000 ล้านบาท เหลือเฉพาะเกษตรกรบัตรชมพูเพียงแค่พันกว่าราย เร่งตรวจสอบสิทธิ์ปิดโครงการระยะที่ 1 พร้อมเดินหน้าเจรจาเปิดตลาดหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 อนุมัติโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 1 เพื่อช่วยลดการบิดเบือนกลไกตลาดและลดความผันผวนราคายางจากพ่อค้าคนกลางให้กับเกษตรกรผู้ปลูกและเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ ทั้งนี้รัฐบาลจะจ่ายค่าส่วนต่างระหว่างราคากลางที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละผลิตภัณฑ์กับราคาตลาดให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 25 ไร่ นั้น ขณะนี้ กยท.ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ (บัตรสีเขียว) หรือผู้ถือบัตรเขียว ครบทั้ง 3 รอบในเดือนพฤศจิกายน 2562 มกราคม 2563 และเมื่อเดือนมีนาคม 2563ที่ผ่านมา เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย พื้นที่ปลูก 17 ล้านไร่ จำนวนเงินทั้งสิ้น 21,074 ล้านบาท
ส่วนเกษตรกรที่ถือบัตรชมพู หรือ เกษตรกรมีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ (บัตรสีชมพู) ซึ่งจะต้องมีการรายมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ในจำนวนนี้มีทั้งกรณีชื่อเลขบัญชีไม่ตรงกับชื่อเจ้าของที่ สะกดชื่อ-นามสกุลในหลักฐานเอกสารไม่ตรงกัน และหลายรายไม่สามารถแสดงหลักฐานเอกสารสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ได้ ทำให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล เกษตรอำเภอ เป็นต้น เข้าตรวจสอบเพื่อลงนามรับรองความถูกต้องพื้นที่ปลูกจริง ก่อนจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ตรวจสอบอีกครั้ง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่ของกยท.ไม่สามารถเดินทางข้ามเขตเพื่อลงพื้นที่ได้ ต้องตรวจสอบผ่านเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและการจ้างงานจากบุคคลภายนอก ทำให้ล่าช้าไปบ้าง แต่ขณะนี้ก็สามารถดำเนินการจ่ายเงินประกันรายได้ให้เกษตรกรผู้ถือบัตรชมพูเสร็จไปแล้วจำนวน 272,014 ราย คงเหลืออีก 1,341 รายเท่านั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารข้อเท็จจริงเพื่อทยอยจ่ายเงินประกันต่อไป
สำหรับผลกระทบจากมาตรการปิดด่านชายแดนและท่าเรือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 นัั้นได้ส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ของน้ำยางตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการปิดระบบขนส่งจากตลาดรับซื้อน้ำยางขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่เมืองอู่ฮั่น เมืองเหยี่ยนโจว ประเทศจีน และที่ด่านประเทศมาเลเซีย ซึ่ง กยท.ได้พยายามเจรจาเปิดการรับซื้อขายเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง จนประสบผลสำเร็จสามารถเจรจาเปิดด่านปาดังเบซาร์เพื่อนำน้ำยางข้นเข้าไป
เพื่อผลิตถุงมือยาง รวมถึงการขนส่งเพื่อผ่านด่านปีนังก็สามารถเปิดดำเนินการได้เช่นกัน ส่วนตลาดของประเทศจีนเริ่มเปิดบ้างแล้วประมาณ 30-40% ทำให้เกษตรกรเริ่มมีพื้นที่ขายยางได้เร็วขึ้น สถานการณ์ยางโดยรวมจึงเริ่มคลี่คลาย
นอกจากนี้ กยท. ยังมีการเตรียมแผนรองรับอื่น เช่น การเปิดตลาดท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมถึงขณะนี้ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนดำเนินการเจรจาผ่อนผันการเปิดท่าเรือน้ำลึก จ.ภูเก็ต เพื่อขนส่งยางให้ผู้ประกอบการ หากสำเร็จจะสามารถระบายน้ำยางข้นออกสู่ตลาดได้อีกประมาณ 70,000ตัน ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาในด้านอื่นๆ จะได้นำเรียนให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทราบความคืบหน้าต่อไป” รักษาการแทนผู้ว่า กยท. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี