กรมประมงจับมือภาคเอกชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘เสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ’ สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง เพื่อขยายการผลิตและรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ พร้อมลดการจับม้าน้ำจากธรรมชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล จังหวัดสตูล เป็นที่ตั้งของโครงการเพาะเลี้ยงม้าน้ำที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากการวิจัยและทดลองเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อรักษาพันธุ์และเพิ่มปริมาณจากแหล่งธรรมชาติที่ถูกทำลายไปตามกาลเวลา หลังจากนั้นจึงมีการขยายผลไปสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการผลิตเชิงพาณิชย์
‘ม้าน้ำ’ ถือเป็นสัตว์น้ำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับความนิยมในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ม้าน้ำถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบ เช่น เป็นสัตว์น้ำสวยงาม บริโภคในตำรับยา และทำเป็นเครื่องประดับหรือของที่ระลึก ทำให้ม้าน้ำมีมูลค่าสูงในตลาดโลก แม้จะเป็นสัตว์ที่มีการจับในธรรมชาติ แต่กรมประมงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงม้าน้ำมาเป็นระยะเวลานาน โดยขณะนี้สามารถเพาะเลี้ยงม้าน้ำได้ถึง 3 ชนิด ได้แก่ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำดำ และม้าน้ำสามจุด
นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ทางกรมประมงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร ‘การเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง’ ณ บารารีสอร์ทและศูนย์วิจัยฯ จังหวัดสตูล ที่ผ่านมา โดยมีเกษตรกรจาก 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูล เข้าร่วมอบรมจำนวน 40 คน เพื่อเพิ่มทักษะในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ และการแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง
‘การอบรมในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตม้าน้ำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและลดการจับจากธรรมชาติ ซึ่งม้าน้ำถูกจัดให้เป็นสัตว์น้ำในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาไซเตส ที่จำกัดการจับและการส่งออกจากแหล่งธรรมชาติ’
การอบรมประกอบด้วยเนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ การแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง รวมถึงการขนส่งและการตลาดเพื่อการจำหน่ายและส่งออกม้าน้ำ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมประมงและภาคเอกชนให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงานที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้จากกระบวนการจริง และขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า ‘เรามั่นใจว่า การขยายกำลังการผลิตม้าน้ำในเชิงพาณิชย์จะช่วยเสริมสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และสามารถรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งม้าน้ำเป็นที่ต้องการสูง’
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่างให้ความเห็นว่า การเพาะเลี้ยงม้าน้ำสามารถเป็นอาชีพเสริมที่ทำควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทอื่น เช่น สาหร่ายหรือกุ้งทะเล โดยเฉพาะ นายวศินะ รุ่งเรือง อายุ 31 ปี เจ้าของ ‘วศินะฟาร์ม’ จังหวัดสตูล กล่าวว่า ‘ผมเห็นว่า การเลี้ยงม้าน้ำจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เสริม เพราะมันไม่ยุ่งยากมาก มีการจัดเตรียมอาหารให้ม้าน้ำ และสามารถเลี้ยงควบคู่กับการปลูกสาหร่ายที่ฟาร์มของเราอยู่แล้ว สำหรับปัญหากฎหมายก็อยากมาศึกษาเพื่อให้ทำได้ถูกต้องตามระเบียบ เราเชื่อว่า ม้าน้ำจะเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศได้’
นางฐิติพร ทิ้งท้ายว่า ‘โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย แต่ยังเป็นการอนุรักษ์ม้าน้ำในธรรมชาติและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว ทำให้ม้าน้ำกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูงทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยในอนาคต’
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี