ลอตแรกหมื่นโดส
จุฬาฯสั่งผลิตวัคซีนไวรัสโควิด
ทดสอบในคนปลายปี’63
เปิดรับอาสาสมัครต้นกย.
แบ่ง2ระยะ-รวม1พันราย
โพลล์ค้านเปิดรับต่างชาติ
จุฬาฯแถลงความคืบหน้าพัฒนาวัคซีนโควิด-19 หลังผลทดลองในลิงกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ระบุสัปดาห์นี้เตรียมส่งให้โรงงานที่สหรัฐ-แคนาดา เริ่มผลิต 1 หมื่นโดส คาดทดสอบในคน ตุลาคม-ธันวาคม เปิดไทม์ไลน์รับอาสาสมัครระยะแรกเดือนกันยายน 75 คน ระยะที่สอง ปลายปี 500-1,000 คนด้าน“ศบค.”สรุปติดเชื้อใหม่ 1 ราย กลับจากญี่ปุ่น แจงชายไทยเสียชีวิตในที่กักตัวเมืองชล เหตุกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไม่นับรวมกับเสียชีวิตเพราะติดโควิด-19 นายกฯห่วงปชช.การ์ดตกย้ำใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง
แบบนิวนอร์มอล ป้องกันระบาดรอบ 2 โดยเฉพาะรร.ทั่วปท.ต้องปฎิบัติตามมาตรการสาธารณสุขเข้มงวด นิด้าโพลล์เผยปชช.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเปิดประเทศรับต่างชาติ หวั่นพาเชื้อเข้ามาระบาดในไทยอีกระลอก
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความคืบหน้าการพัฒนาและทดสอบวัคซีนโควิด-19 หลังผลการทดลองฉีดในลิงได้ผลดี เตรียมพร้อมขั้นตอนทดสอบในมนุษย์ต่อไป โดยมี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว
สัปดาห์หน้าปั้มวัคซีนหมื่นโดส
ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า หลังจากศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิง กระตุ้นเข็มที่ 2 พบว่าผลตรวจเลือดลิงทั้งหมด 13 ตัว ที่ได้รับวัคซีน เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นระดับที่น่าพอใจ และมีภูมิคุ้มกันสูง จึงเตรียมเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ระยะถัดไป โดยสัปดาห์หน้าจะส่งวัคซีน 2 ตัวไปให้โรงงานที่สหรัฐอเมริกา และแคนนาดา เริ่มผลิต คาดว่า ตัวแรก จะเสร็จภายในเดือนตุลาคม และตัวที่สอง จะผลิตเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ได้ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคมจำนวน 1 หมื่นโดส
เล็งเปิดรับอาสาสมัครเดือนกย.
ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครทดสอบวัคซีนได้ประมาณเดือนกันยายน แต่ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ก่อน โดยระยะแรก จะรับอาสาสมัคร 75 คน แบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่มคือ อายุ 18-60 ปี และอายุ 60-80 ปี หากผลเป็นที่น่าพอใจ จะเริ่มทดสอบในระยะที่ 2 ต่อไปประมาณปลายปีนี้ ใช้อาสาสมัครประมาณ 500-1,000 คน หากได้ผลดี คาดว่า จะใช้วัคซีนได้กลางปี 2564 อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่าขณะนี้จุฬาฯยังไม่ได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครทดลองวัคซีน ถ้าคืบหน้าจะประกาศรับสมัครอีกครั้ง เนื่องจากมีขั้นตอนด้านจริยธรรม ความปลอดภัยสูงจาก อย.
พบป่วยใหม่1รายกลับจากญี่ปุ่น
วันเดียวกัน เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 โพสต์ข้อความรายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันที่ 12 กรกฎาคมว่า ไทยพบผู้ป่วยใหม่ 1 ราย พักอยู่ในที่กักตัวของรัฐ โดยเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,217 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 3,088 ราย เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 58 ราย ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ป่วยสะสม 3,217 ราย พบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนนทบุรี 1,783 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 484 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคใต้ 744 ราย และอยู่ระหว่างรักษาตัว 71 คน ส่วนการติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 48 แล้ว
ชาย56ดับที่กักตัวหัวใจขาดเลือด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศบค.ยังเปิดเผยข้อมูลผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเสียชีวิตขณะกักตัวสังเกตอาการในสถานกักกันของรัฐว่า เป็นชายไทย อายุ 56 ปี มีโรคประจำตัวคือ เบาหวานและโรคไต เดินทางกลับจากอินเดีย เข้าพักในสถานกักกันของรัฐที่จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม.ขณะพักอยู่ในสถานกักกันฯ เกิดอาการแน่นอกและเหงื่อแตก ญาติแจ้งเจ้าหน้าที่ตามรถพยาบาลมารับตัว และให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ขณะเดินทางไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี แต่อาการไม่ดีขึ้น เมื่อถึงโรงพยาบาลได้รับการรักษาและวินิจฉัยว่า เป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากนั้นหัวใจหยุดเต้นขณะรับการรักษา ทีมแพทย์พยายามฟื้นคืนชีพ 50 นาที แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ภรรยาของผู้เสียชีวิตเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอบคุณ โรงพยาบาลที่รับตัวไปรักษา รวมถึงทีมงานเจ้าหน้าที่สถานกักกันของรัฐที่ช่วยดูแลตลอดทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้เสียชีวิตรายนี้มีสาเหตุ ที่ไม่ได้มาจากโรคโควิด-19 จึง ไม่ถูกนับรวมอยู่ในยอดสะสมผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมี 58 คน
นายกฯห่วงปชช.ย้ำการ์ดอย่าตก
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมฝากเตือนประชาชนทั้งประเทศ “การ์ดอย่าตก” ในการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังไปมากแล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ แต่ทุกคนทุกภาคส่วนยังต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเองให้มากขึ้น ขอให้เข้มงวดกับการใช้ชีวิต ตามวิถีใหม่ New Normal เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ที่ผ่านมารัฐบาลคลายมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดได้ เพราะได้รับความร่วมมือจากประชาชน ในการปฏิบัติตามข้อกำหนด รวมถึงป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง ดังนั้น แม้วันนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายไปพอสมควรแล้ว แต่หลายประเทศสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง รัฐบาลยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกคนให้เฝ้าระวัง ป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง เช่นเดียวกับสถานศึกษา โดยเฉพาะในส่วนโรงเรียน ซึ่งเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ทุกโรงเรียนต้องปฎิบัติตามขั้นตอนรักษาความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 จึงขอให้ทุกโรงเรียนเข้มงวดและปฎิบัติจริงจัง ไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นมาอีก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งนายกฯเป็นห่วงขอให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศเข้มงวดด้วย
เตือนไม่ระวังตัวเจอระบาดรอบ2
“หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ พบว่าประชาชนรวมกลุ่มเดินทางไปต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย จึงขอให้ปฎิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการลงทะเบียนเข้า-ออก ผ่านแพลตฟอร์ม”ไทยชนะ” ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าบางส่วนยังละเลย แต่การลงทะเบียนนี้สำคัญในการติดตาม สอบสวนโรคหากเกิดกรณีมีผู้ติดเชื้อใหม่”นางนฤมลกล่าว และว่า เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ลดลง อาจทำให้ประชาชนบางส่วนปฏิบัติตนไม่เคร่งครัด นายกฯจึงย้ำว่า “การ์ดอย่าตก” เพราะถ้าประชาชนไม่ระวังตัว อาจทำให้ประเทศไทยเจอระบาดรอบสองได้แน่นอน แม้จะไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นวันที่ 47 แล้วก็ตาม ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนทั่วประเทศต้องปฎิบัติตามขั้นตอนที่รัฐบาลประกาศ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบตามวิถีใหม่ New Normal
ไม่เห็นด้วยเปิดปท.รับต่างชาติ
ขณะที่นิด้าโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนประเด็น เราจะเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศหรือไม่ว่า จากการสอบถามถึงการเปิดให้คนต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในไทย (ที่ไม่ใช่โรคโควิด - 19) และต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ (โครงการ Medical and Wellness Program) พบว่า ร้อยละ 23.10 เห็นด้วยมาก เพราะทำให้การแพทย์ของไทยมีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้ประเทศ ร้อยละ 21.58 ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะไทยมีมาตรการที่ดีในการควบคุมไวรัสโควิด-19 เป็นการเเสดงศักยภาพของบุคลากรทางการเเพทย์ของไทยให้ทั่วโลกเห็น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 13.91 ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ไม่เชื่อว่าปลอดภัย กลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาระบาดในประเทศไทย และสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้คนต่างชาติเข้ามาถึงแม้จะมีใบรับรองก็ตาม และร้อยละ 41.41 ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ คนไทยที่กลับจากต่างประเทศก็ติดโรคและรักษาตัวอยู่จำนวนมากแล้ว และกลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาระบาดในประเทศไทย ทำให้เกิดโควิด-19 รอบ 2 ได้
เช่นเดียวกับเมื่อถามถึงการเปิดให้คนต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาล (ที่ไม่ใช่โรคโควิด – 19) และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวในไทยได้ ตามโครงการท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่ ร้อยละ 24.14 เห็นด้วยมาก เพราะเป็นการช่วยเหลือ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวในไทยให้มีรายได้เหมือนเดิม และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ร้อยละ 23.26 ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ มั่นใจการรักษาของแพทย์ไทย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย และมีเงินหมุนเวียนเข้าประเทศทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ร้อยละ 14.55 ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกลัวการระบาดรอบ 2 เนื่องจากโควิด-19 มักมาจากต่างชาติร้อยละ 37.89 ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ อยากให้เชื้อหมดไปก่อน 100% ถึงแม้จะมีการกักตัว 14 วัน ก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดระบาดรอบ 2 ขึ้น
หนุนจับคู่ปท.ท่องเที่ยวกระตุ้นศก.
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการจับคู่ประเทศท่องเที่ยว (Travel Bubble) ที่จะอนุญาตให้คนต่างชาติจากประเทศที่ปลอดเชื้อเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ พบว่า ร้อยละ 25.90 เห็นด้วยมาก เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การบินจะได้ไม่หยุดชะงัก และประเทศไทยต้องมีมาตรการเข้มงวดป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 28.46 ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะมีเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนักท่องเที่ยวที่มาอยากให้จัดเป็นกลุ่มเพื่อดูแลและควบคุมได้ง่าย ร้อยละ 14.95 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ กลัวระบาดรอบ 2 เนื่องจากกว่าจะแสดงอาการค่อนข้างมีเวลานาน และไม่เชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวที่มาจะปลอดภัยจากโควิด -19 จริง ร้อยละ29.65 ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ไม่เชื่อมั่นในตัวนักท่องเที่ยวถึงจะเป็นประเทศ ปลอดเชื้อก็ตาม
ไม่มั่นใจคุมระบาดรอบ2ได้จริง
ถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ถ้าเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตามโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ พบว่า ร้อยละ 15.43 เชื่อมั่นมาก และการแพทย์ของไทยน่าเชื่อถือ ร้อยละ 23.90 ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะดูผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลว่าควบคุมได้ และรัฐบาลน่าจะมีมาตรการเข้มงวดควบคุมไม่ให้โควิด – 19 ระบาดรอบ 2 ร้อยละ 30.53 ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะ กลัวคนต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือป้องกันตนเอง และยังไม่ค่อยมั่นใจว่ารัฐบาลจะคุมการระบาดไม่ให้เกิดรอบสองได้ ร้อยละ 29.10 ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะการควบคุมยาก และมาตรการของรัฐบาลยังไม่มีความเข้มงวดที่ดีพอ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี