"ณัฏฐพล"ปลุกบิ๊กเขตพื้นที่ทั่วประเทศ พลิกการศึกษาไทยด้วยมือของพวกเราเอง ดันควบรวม"ร.ร.เล็ก"และ"ร.ร.มัธยมดีสี่มุมเมือง"
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 3/2563 ที่ศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จ.สมุทรสงคราม
นายณัฏฐพล กล่าวตอนหนึ่ง ว่า ตนรู้สึกยินดียิ่งที่ได้มาพบกับผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพราะคงไม่มีโอกาสบ่อยๆที่จะได้มารวมตัวกัน ก็มาเป็นกำลังให้ทุกท่านทำตามนโยบาย และขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือกันในช่วงที่มีวิกฤตของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้เห็นว่าถ้าเราร่วมมือทำงาน เราก็จะสามารถทำให้โควิด-19 สยบลงได้ ดังนั้นเราอย่าลดการ์ดลง ขณะนี้ทั่วโลก ไวรัสโควิด-19 ระบาดซ้ำ แต่ประเทศไทยสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยระบบสาธารณสุขของไทยมีความเข้มแข็ง แพทย์ไทยซึ่งก็มาจากการศึกษาไทย เพราะฉะนั้นเราควรนำตัวอย่างนี้ไปขยายในอาชีพอื่นๆให้มีความเข้มแข็ง แต่คนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือท่านทั้งหลาย ตนเปลี่ยนไม่ได้ ตนรับนโยบายโดยตรงมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านอยากทำให้การศึกษาไทยดีขึ้นและเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ตนจึงต้องหารือกับผู้บริหารกระทรวงเพื่อปลดล็อกสิ่งที่กีดขวางการศึกษาไทย เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และเปิดกว้าง ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ วันนี้เรามีความจำเป็นที่ต้องทำตรงนี้ให้ได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และอนาคตเราอยู่ในมือของเด็กรุ่นนี้ ถ้าเขาไม่เข้มแข็ง ไม่มีความสามารถเพียงพอ เราจะมองไม่เห็นอนาคตอนาคตในโลกการแข่งขัน
ส่วนเรื่องการศึกษา วันนี้เราเห็นหลายๆอย่างที่สะท้อนออกมาว่าเป็นพื้นฐานของการศึกษาไทย หลายคนที่เห็นปัญหาก็กังวลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะการศึกษาไทยหรือเปล่า และปัญหาที่เรากำลังเผชิญกันวันนี้โดยเฉพาะเรื่องความแตกแยกในประเทศนั้น เป็นเรื่องของการศึกษาหรือไม่ ตนจึงอยากให้ผู้อำนวยการ สพท.มองทุกปัญหาเป็นทางบวก และหาทางแก้ไขปัญหา
"ผมขอให้ผู้อำนวยการ สพท.ทุกท่าน เป็นแกนนำในการพลิกประวัติศาสตร์การศึกษาไทย เราสามารถพลิกการศึกษาได้ แต่ต้องกล้าทำหลาย ๆอย่าง ผมดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาฯ มากว่า 1 ปี พบว่า ศธ.จะต้องควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก หลบไม่ได้แล้ว เพราะจากที่ผมไปตรวจเยี่ยมผู้บริหาร ครู นักเรียนมา พบว่ากำลังทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรื่องนี้ยากที่จะทำแต่ต้องทำ เราต้องโอบอุ้มเด็กทุกคนให้มีศักยภาพมีพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือ สแตนอโลน เรายังคงไว้ไม่ต้องควบรวม ต้องไปพัฒนา แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถควบรวมได้ ก็ต้องทำ หากใครมาบอกว่าทำไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูคุยยาก และตัวผู้อำนวยการ สพท.คิดว่ายาก และ ส.ส.ในพื้นที่ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีการควบรวม แสดงว่าเรากำลังคิดถึงคนที่สำคัญน้อยกว่าเด็ก เพราะเด็กถือเป็นคนที่สำคัญที่สุด" นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า หากควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่ใกล้เคียงกันแล้ว ก็จะต้องมีแผนว่าจะบริหารจัดการเรื่องรถรับส่งนักเรียน ครู ผู้อำนวยการ อย่างไร ซึ่งจะต้องจัดงบไว้รองรับ ซึ่งการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ตนอยากให้ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก 7 แห่งมารวมกันเป็น 1 โรงเรียน เท่ากับ 1:7 หรือ 1:8 เพราะฉะนั้นเขตพื้นที่จะต้องสร้างแรงจูงใจ ว่าเมื่อควบรวมเป็นโรงเรียนใหญ่แล้ว ต้องมีอะไรบ้าง เช่น มีสระว่ายน้ำ มีครูฝรั่ง ครูจีนสอน มีคอมพิวเตอร์ มีงบประมาณสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพ เพื่อจูงใจให้ผู้ปกครองส่งลูกมาเรียน แล้วนำพื้นที่โรงเรียนเล็กทำเป็นบ้านพักให้ครู หรือบ้านพักข้าราชการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำไม่ได้ ถ้าเขตพื้นที่ไม่รับนโยบายไปลงมือทำ แต่ถ้าทำได้ ตามแนวทาง 1:7 หรือ 1:8 ก็จะช่วยฟื้นฟูประเทศ ยกระดับการศึกษา ถ้าท่านกล้าทำผมก็กล้าของบฯมาสนับสนุนมากขึ้น เราจะปล่อยให้เด็กในโรงเรียนเล็กให้ได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมไม่ได้แล้ว
"จากที่ผมไปเห็นมาทุกๆจังหวัดมีโรงเรียนชั้นนำที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง และเด็กก็ตั้งใจ ขวนขวายมาเข้าเรียน อาจเป็นเพราะค่านิยม จึงทำให้โรงเรียนในเมืองแออัด ดังนั้น หากเราสามารถพัฒนาโรงเรียนมัธยมที่อยู่ใกล้กันให้ เป็นโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ให้มีคุณภาพมากขึ้น ผมมั่นใจว่าเด็กจะไม่เข้าไปอยู่ในเมืองหรือในกรุงเทพฯ และผมยังมั่นใจว่าหากทำให้โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ลดขนาดลง เพราะเรากำลังเน้นเรื่องสายอาชีวะ หรือทำให้โรงเรียนที่นักเรียนมาก ถึง 3 - 4 พันคน ซึ่งถือว่าเยอะเกินไป จากประสบการณ์ที่ผมผมสัมผัสมา หากมีจำนวนนักเรียน 1.5 - 2 พันคน จะสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น เป็นการกระจายเด็กออกไปสายอาชีวะและให้มีทางเลือกมากขึ้น และยังเป็นการลดสัดส่วนครูต่อนักเรียนเป็น 18:1 ไม่ใช่ 30 - 40:1 ดังนั้น เราจึงต้องช่วยกันทำโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองเกิดขึ้นให้ได้ ถือเป็นการกระจายความเจริญด้านการศึกษา เมื่อโรงเรียนประถมเห็นการพัฒนาของโรงเรียนมัธยม เชื่อว่าการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กก็จะทำได้ง่ายมากขึ้นด้วย" นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ศธ.จะไม้กำหนดว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ต้องมีจำนวนนักเรียนเท่าใด แต่ให้ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ต้องดูถึงความเหมาะสม และต้องปล่อยนักเรียนไปเรียนอาชีวะด้วย เพราะอาชีวะคือหัวใจของประเทศ ประเทศจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยอาชีวะ เราต้องมีสายอาชีพ โดยตนได้ขอให้ผู้บริหารกระทรวงเจ้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในผลักดันโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพื่อนำแผนงานนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาการศึกษา
"ทราบดีว่าเรื่องต่าง ๆท่านฟังเเล้วอาจจะคิดว่าไม่ง่าย มีอุปสรรคเยอะ แต่อุปสรรคมีไว้ให้ทำลาย หลายอย่างที่เคยเป็นปัญหาในการขับเคลื่อนการศึกษา เราต้องปลดล็อกทุกปัญหาที่มีอยู่ ผมมั่นใจว่าการศึกษาไทยแก้ได้ด้วยมือของพวกเราเอง ดังนั้น เราต้องร่วมกันพลิกประวัติศาสตร์การศึกษาไทยให้ได้ ถ้าไม่ทำเราจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ และผมตั้งใจจะทำให้อาชีพครูมีรายได้อันดับต้นๆของประเทศ วันนี้ผมทำไม่ได้ก็จะวางรากฐานไว้ ผมเชื่อว่าถ้าครูเก่ง เด็กๆ ก็เก่ง และผมเชื่อว่าครูกว่า 90%มีการพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก" นายณัฏฐพล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี