นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่รณรงค์ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน ศูนย์พักคอย และโรงพยาบาลสนามในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในสถานที่ปฏิบัติงาน และให้ผู้ป่วยร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายบริเวณที่พักให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดเก็บขยะ สำรวจภาชนะต่างๆ ไม่ให้มีน้ำขังรวมถึงชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงพยาบาล เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบชุมชน ศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลในสังกัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผู้ป่วยโควิด-19 ป่วยไข้เลือดออกซ้ำ เนื่องจากอาจทำให้อาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกและโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันมาก ส่งผลให้ยากต่อการวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นแต่สามารถแยกแยะได้ โดยโรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักมีอาการไข้สูงลอยนานประมาณ 2-7 วัน (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) หน้าแดงปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา บางรายอาจมีถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือดหากรุนแรง อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง มักไม่พบอาการไอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก หรือปอดอักเสบ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หากผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย
ส่วนโรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอยเสมหะน้ำลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก มีอาการไข้ต่ำถึงสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอแห้ง หรือมีเสมหะ มีน้ำมูก หอบเหนื่อยหายใจลำบาก ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง ท้องเสียมีในบางราย ไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง จากอาการของ 2 โรคดังกล่าว จะเห็นว่ามีส่วนคล้ายกัน แต่หากเป็นโรคโควิด-19 นอกจากจะมีไข้ ไอ แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามตัวร่วมกับเหนื่อยหอบ หายใจลำบากร่วมด้วย
ทั้งนี้ สำนักอนามัยรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 พบผู้ป่วยจำนวน 4,878 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มเสี่ยงอายุ 5-14 ปีเขตที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับ คือ ยานนาวา จอมทอง และดินแดง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี