สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมาณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. หวังคนไทยลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573
นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนโครงการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมทักษะและความรู้ให้กับผู้นำสุขภาพ (Health Leader) ในสถานที่ทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในประชาชนวัยทำงาน ซึ่งโรค NCDs เป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มคนวัยทำงาน พบว่า ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แรงงานไทยกว่า 38 ล้านคน (ข้อมูลไตรมาส 2 ในปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน-BOI) ประสบความยากลำบากในการทำงาน
และมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตให้มีสุขภาวะทั้งการกิน อยู่ การมีกิจกรรมทางกาย หรือแม้แต่สุขภาพจิต ดังนั้น “หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน” ของเครือข่ายคนไทยไร้พุง จึงเป็นกุญแจสำคัญเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในองค์กรวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ และเป็นผู้ดูแลกลุ่มวัยอื่นๆในครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สสส. ที่มุ่งสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการสร้างสังคมสุขภาวะ
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาวะประชาชน โดยเฉพาะวัยทำงาน เป็นภารกิจที่ สสส. ให้ความสำคัญ โดยปี 2561 โรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรกได้แก่ โรคมะเร็งรวมทุกประเภท รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด โดยประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs เท่ากับ 427.4 คนต่อประชากรแสนคน (ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562)
ซึ่ง สสส. ทำงานร่วมกับสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อ เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ หวังให้บรรลุ 9 เป้าหมายโลกเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาตกลงรับเป้าหมายไว้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยตั้งเป้าให้ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง (เสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปี) ร้อยละ 25 ภายในปี 2568 และเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573
รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ ประธานหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน กล่าวว่า หลักสูตรนี้ประกอบไปด้วย
5 ชุดวิชา ได้แก่ 1.รู้จัก NCDs การตรวจประเมินและการจัดการเชิงป้องกัน 2.การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3.การส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค 4.การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร สร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพ และ 5.การออกแบบและดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร ตามแนวคิด Design Thinking for Healthy Organization
โดยรูปแบบการอบรมเป็นแบบผสมผสาน มีการอบรมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง และการจัดทำข้อเสนอโครงการที่จะนำไปใช้ในองค์กรของตน งานที่มอบหมายใช้ระยะเวลาอบรมรวม 60 ชั่วโมง โดยผู้ที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ จะได้รับใบประกาศนียบัตรจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และการให้คำปรึกษาต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการที่เหมาะสมกับองค์กร ซึ่งในอนาคตก็จะมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน
ศ.(เกียรติคุณ) พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุงกล่าวว่า ขณะนี้มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในการพัฒนาผู้นำสุขภาพให้เกิดขึ้น โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานเปิดตัวหลักสูตรกว่า 60 องค์กรทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ฯลฯ ซึ่งองค์กรสามารถส่งบุคลากรเข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 8-18 ธันวาคม 2564 และสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ที่ email : raipoong@gmail.com โดยจะมีเจ้าหน้าที่หลักสูตรติดต่อกลับเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการสมัคร ตลอดจนแจ้งรายละเอียดตารางเรียน และช่องทางการอบรมให้ทราบต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี