ศาลอนุญาตฝากขัง”ทานตะวัน”ต่ออีก 7 วัน หลังอัยการยื่นฝากขังต่อ อ้างตำรวจพึ่งส่งสำนวนให้ ศาลนัดไต่สวนประกันตัวทานตะวัน 26 พ.ค.นี้ ให้เสนอพฤติการณ์พิเศษเป็นผู้กำกับดูแลพฤติการณ์เเละรับผิดชอบ
เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 20 พ.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมทนายความ เดินทางมายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักเคลื่อนไหวอิสระ วัย 20 ปี ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นสถาบันฯ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ม.368 ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ผู้ต้องหาได้โพสต์เฟซบุ๊กไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ โดยนายพิธา จะใช้ตำแหน่ง ส.ส.ขอประกันตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องโดยมีเหตุผลว่า ไม่ปรากฎหลักฐานเงินเดือนที่ชัดเจน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : หวังจะได้ข่าวดี! 'พิธา'ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ยื่นประกัน'ทานตะวัน'ครั้งที่ 2)
วันเดียวกันนี้ภายหลังทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง น.ส.ทานตะวัน เเละกรณีที่นายพิธายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเเล้ว ในช่วงเย็นศาลอาญามีคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านของผู้ต้องหาแล้ว ได้ความจากพนักงานอัยการผู้ร้องว่า เพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. เวลาประมาณ 13.00 น.
ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะพิจารณาสั่งฟ้องได้ทันประกอบกับคดีนี้ เป็นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการของสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อนและได้ส่ง สํานวนให้ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาหลังจากได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ได้รับสำนวนกลับคืนมา ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลในครั้ง นี้อีก 7 วันและผู้ร้องยืนยันว่าผู้ร้องเองและคณะกรรมการฯ สามารถดำเนินการพิจารณาสั่งคดีได้ แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้
ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านการฝากขังว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับ พยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หากไม่ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลก็ไม่ได้เป็นเหตุที่ จะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังด้วยนั้น
ศาลเห็นว่า เมื่อผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. เวลา ประมาณ 13.00 น. ทำให้ผู้ร้องไม่อาจพิจารณาสั่งคดีได้ทันและคดีนี้ก่อนฟ้องคดี ผู้ร้องต้องส่ง สำนวนให้คณะกรรมการฯ พิจารณาก่อน กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นเพื่อการฟ้องคดี ส่วนที่ผู้ต้องหา คัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุภยันตราย อย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะขังผู้ต้องหานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87หรือ มาตรา 88ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่าเหตุที่จะออกหมายจับได้ มีดังต่อไปนี้
1.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะ ได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน3ปี ดังนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่3ปีถึง15ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 71ประกอบมาตรา 66(1) กรณีการฝากขังของผู้ร้องจึงไม่จำต้องพิจารณา หลักเกณฑ์ว่าผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุ ภยันตรายอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71ประกอบมาตรา 26
2.ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน จึงเห็นควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 8 นี้ เป็นเวลา 7 วัน นับ แต่วันที่ 23-29 พ.ค.65 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106
ในส่วนคำสั่งประกันตัว ศาลอาญา มีคำสั่ง ให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันที่ 26 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. และให้ผู้ร้องเสนอพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เช่น ผู้ร้องจะเป็นผู้กำกับดูแลพฤติการณ์ของผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้อีก และหากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขผู้ร้องจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาประกอบในการปล่อยชั่วคราวก่อนหรือในวันนัด แจ้งพนักงานสอบสวนหากจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านก่อนหรือในวันนัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับก่อนหน้านี้สำหรับการฝากขังครั้งที่ 7 ศาลเคยอนุญาตฝากขังเป็นเวลา 5 วันซึ่งวันนี้ที่ศาลอนุญาตฝากขังอีก 7 วันก็จะครบอำนาจการคุมตัวตามกฎหมายที่ควบคุมได้ในชั้นฝากขัง 84 วัน หากพนักงานอัยการยังไม่สามารถยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวันได้ ก็จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทันที
-001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี