โฆษกดีอีเอส เผย กสทช.ขอความร่วมมือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ กำหนดหมายเลข +697 นำหน้าเบอร์โทรที่มาจากต่างประเทศ เป็นจุดสังเกต ป้องกันถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ด้าน รองโฆษก ตร.เตือนแก๊งคอลฯใช้รูปแบบใหม่ อ้างดีเอสไอ ให้โหลดแอพฯ อาจถูกดูดข้อมูลมือถือจนเกิดความเสียหาย
เมื่อวันที่ 3กรกฎาคมน.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า กรณีปัญหามิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงประชาชนนั้น ขณะนี้ทางดีอีเอสได้ประสานความร่วมมือกับกสทช.และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อแก้ปัญหามิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงประชาชนดังกล่าว โดยกำหนดเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วย +697 ซึ่งการโทร.เข้ามาจากต่างประเทศด้วยการโทร.ผ่านอินเทอร์เน็ต เกือบทั้งหมดจะเป็นมิจฉาชีพ เนื่องจากการโทร.ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ต้องมีการลงทะเบียนเบอร์โทร.หรือการยืนยันตัวตนเหมือนอย่างการเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือ จึงทำให้เป็นช่องทางของมิจฉาชีพใช้ช่องว่างนี้ในการหลอกลวง
“ต้องขอบคุณทาง กสทช.ที่ออกมาตรการให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ใส่เครื่องหมาย + นำหน้าเบอร์ที่โทร.มาจากต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่สังเกตของประชาชน เพื่อให้ประชาชนระมัดระวัง อย่ารับสาย ป้องกันการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง” น.ส.นพวรรณ กล่าวและว่า หากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทร.หรือส่งข้อความเข้ามา ประชาชนสามารถแจ้งหมายเลขโทรศัพท์กับทางเครือข่ายมือถือของท่านเพื่อตรวจสอบพร้อมกับบล็อคหมายเลขดังกล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น ปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์พยายามพัฒนารูปแบบการหลอกลวง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดพบว่าคนร้ายมีการหลอกลวงในรูปแบบใหม่ โดยแอบอ้างเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อมูลผ่านระบบเสียงอัตโนมัติแนะนำแอพพลิเคชั่นป้องกันการถูกโกง อ้างว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถป้องกันการโกงได้ทุกรูปแบบ โดยให้เหยื่อติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ หากหลงเชื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่นตามที่คนร้ายบอก อาจจะถูกเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ เช่น ข้อมูลบัญชีผู้ใช้ ข้อมูลรหัสผ่าน ข้อมูลบัญชีธนาคาร ทำให้ได้รับความเสียหาย หรือคนร้ายอาจหลอกให้ติดตั้งโปรแกรม Remote Desktop ซึ่งจะทำให้โทรศัพท์ของเหยื่อถูกมิจฉาชีพควบคุมได้ และอาจเห็นข้อมูลส่วนตัว รูปถ่าย หรือไฟล์ข้อมูลสำคัญที่อยู่ในโทรศัพท์ หรืออาจเข้าใช้งานโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน เช่น สั่งให้ถอนเงิน หรือโอนเงินได้ด้วย
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า ได้ประสานไปยัง พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวเป็นการนำชื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปใช้แอบอ้าง จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังในการติดตั้งแอพพลิเคชั่นลงในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของตน เพราะหากเป็นแอพพลิเคชั่นที่คนร้ายทำขึ้นและหลอกลวงให้ติดตั้งในอุปกรณ์โทรศัพท์ อาจทำให้พี่น้องประชาชนมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อและได้รับความเสียหายจากกลลวงดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อรู้เท่าทันกลโกงของคนร้าย และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นหมายเลขโทรศัพท์ใดที่มีพฤติกรรมดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วนศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทร.และ SMS มิจฉาชีพ1185 (เอไอเอส), 9777 (ทรู), 1678 (ดีแทค) และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง