วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคฝีดาษลิง ไว้ดังนี้
ไวรัสฝีดาษลิง ไม่ได้แพร่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ แต่การติดเชื้อสามารถเกิดได้หลายช่องทาง หลักๆคือ
1. การสัมผัสโดยตรงกับตุ่มแผล หรือ สารคัดหลั่งที่มีไวรัสอยู่
2. การรับเชื้อจากละอองฝอย จากการคุยกันกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย หรือ จากกิจกรรมที่อยู่ใกล้ชิดกันมากๆ เช่น การกอดกัน จูบกัน หรือ ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
3. ผ่านการสัมผัสสิ่งของ หรือ วัตถุ ที่มีการเจือปนของไวรัสที่ผู้ป่วยไปสัมผัสมา เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือ โทรศัพท์มือถือ
4. รับเชื้อผ่านจากแม่สู่ลูกในครรภ์ผ่านทางรก
5. รับจากสัตว์ที่ติดเชื้อ
ความเสี่ยงจากการติดเชื้อเกิดขึ้นมากกว่ากิจกรรมทางเพศตามที่หลายคนอาจเข้าใจผิดกันไปนะครับ
เคสศึกษา หนุ่มมะกันป่วยฝีดาษลิง เชื่อภูมิคุ้มกันลด-เจ็บปวด
ผู้ป่วยฝีดาษลิงท่านหนึ่งในสหรัฐอเมริกาโพสต์รูปอาการป่วยของตัวเองในทวิตเตอร์ ระบุว่า ตุ่มแผลที่ขึ้นบนใบหน้านี้คือลักษณะของแผลที่ติดเชื้อมา 2 อาทิตย์แล้ว เขาระบุว่าตอนแรกคิดว่าติดฝีดาษลิงคงมีอาการอะไรไม่มาก แต่พอติดแล้วอาการเข้าขั้นโหดไม่ธรรมดา (brutal) เขาเชื่อว่าการที่เขาติดไวรัสฝีดาษลิงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงไปด้วย
เพราะขณะที่กักตัวอยู่เขามีอาการคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส (Strep throat) ทั้งๆที่เขาไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อนเลย ที่น่าสนใจคือ จู่ๆที่ร่างกายส่วนอื่น เช่น ที่หน้าขา ก็มีตุ่มใสขึ้นมาอีก ทั้งๆที่ตุ่มที่ใบหน้าขึ้นมา 2 อาทิตย์และน่าจะหยุดได้แล้ว แต่ตุ่มที่ขึ้นใหม่ไม่น่าจะใหญ่เท่าตอนแรกๆที่ขึ้นที่หน้า เพราะแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นมาน่าจะช่วยลดปริมาณไวรัส และ กระบวนการการอักเสบลงได้…
ภาษาที่ใช้บรรยายเห็นภาพชัดว่าความเจ็บปวดมีอยู่ในระดับสูงมากจนน้ำตาเล็ด (The pain I’ve been experiencing keeps my eyes full of tears) เป็นประสบการณ์ที่ไม่ควรเจอะเจอในชีวิตครับ