เทศมองไทย! "สังคมสูงวัย-การศึกษา-ภาคเกษตร" 3 ปัจจัยต้องแก้ หากอยากหลุด"กับดักรายได้ปานกลาง"
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 East Asia Forum ซึ่งเป็นวงวิชาการในประเด็นนโยบายต่างประเทศ ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่บทความ Thailand’s economy stuck in the middle ซึ่งเขียนโดย ริชาร์ด ยาร์โรว์ (Richard Yarrow) นักวิจัยประจำศูนย์วิจัย มอสซาวาร์-ราห์มานี (Mossavar-Rahmani Center) โรงเรียนฮาร์วาร์ด เคเนดี (Harvard Kennedy School) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และเป็นนักวิจัยแลกเปลี่ยน ณ สำนักวิจัยเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Bureau of Economic Research) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เนื้อหาดังนี้
เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจมีพลวัตมากที่สุด กำลังดิ้นรนกับสารพัดมรสุมที่รุมเร้า ทั้งโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ระบบการศึกษาที่เสื่อมถอย และภาคเกษตรที่ให้ผลผลิตต่ำ ประเทศไทยดูเหมือนติดหล่มอยู่ในจุดที่เรียกว่า "กับดักรายได้ปานกลาง" ด้านหนึ่งยังไม่สามารถร่ำรวยขึ้นไปได้มากกว่านี้ แต่อีกด้านก็ต้องเผชิญกับประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนามที่เปรียบเหมือนคนหนุ่มสาวร่างกายคึกคักกว่า หรืออินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่กว่า
การหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่ใช่เรื่องง่าย เว้นแต่การลงทุนด้านการศึกษา ตลอดจนการปฏิรูปทุนมนุษย์ การเกษตรและธรรมาภิบาล จะได้รับความสำคัญเป็นลำดับแรก ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในอาเซียน อยู่ในระดับเดียวกับสิงคโปร์ ซึ่งน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเกาหลีใต้ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ใกล้เคียง 0.8 โดยระหว่างปี 2543-2564 ประชากรวัยหนุ่ม-สาว อายุระหว่าง 20-24 ปี ลดลงร้อยละ 15 ประชากรวัยเดียวกันในประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 20 ขณะที่ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 27
ถึงกระนั้น ต้องไม่ลืมว่า ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ต่อหัวสูงกว่าไทยถึง 4 เท่า ยังไม่ต้องนับความพร้อมด้านทรัพยากรที่สนับสนุนทั้งประชากรสูงอายุและดึงดูดชาวต่างชาติที่มีทักษะให้เข้าไปทำงาน อนึ่ง ไทยนั้นไม่ต่างกับอีกหลายๆ ชาติ วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ซ้ำเติมสถานการณ์สังคมสูงวัยของไทยให้เลวร้ายลง ในปี 2563-2564 จำนวนเด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงร้อยละ 8 ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน เงินเฟ้อ และโอกาสการมีงานทำที่ย่ำแย่ลง คนไทยทั้งรากหญ้าและชนชั้นกลางล้วนไม่ค่อยอยากมีลูก ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ หนี้ครัวเรือนในไทยสูงถึงร้อยละ 90 ของ GDP
ในช่วงทศวรรษ 2000 (ปี 2543-2552) ประเทศไทยมีผลงานเหนือกว่าคู่แข่งร่วมภูมิภาคในการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เด็กที่อายุเข้าเกณฑ์เกือบทั้งหมดได้เรียนในระดับประถม และวัยรุ่นหนุ่ม-สาวจำนวนมากเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมต้น ในปี 2549 แรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับประถมอย่างดีที่สุด กระทั่งในปี 2562 ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับหลังประภมบางส่วน
การเพิ่มพูนความรู้และทักษะเหล่านี้สามารถบรรเทาผลกระทบจากภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างทุนมนุษย์และการหลุดจากกับดักรายได้ปานกลายคือการยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น ในทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนการลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัย ดูเหมือนจะลดลงมากกว่าการลดลงของประชากรวัยหนุ่ม-สาว โดยในทศวรรษ 2010 (ปี 2553-2562) ช่วงต้นนั้นการลงทะเบียนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของประชากรวัยที่ควรเรียนในระดับดังกล่าว ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 50 ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 40-45 ในช่วงไม่กี่ปีล่าสุด
ปัญหาของมหาวิทยาลัยไทยมีทั้งเรื่องคุณภาพ การมีงานทำ ไปจนถึงการเงินของครัวเรือน เมื่อมีผู้เรียนน้อยลง สถาบันการศึกษาจึงขาดแรงจูงใจและทรัพยากรในการปรับปรุงคุณภาพแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยในจีนหรือสิงคโปร์ ขณะที่การจ้างงานผู้เรียนจบในระดับดังกล่าวก็ดูจะอ่อนแอลง เห็นได้จากค่าจ้างของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาลดลงตั้งแต่ปี 2553 และบัณฑิตจำนวนมากก็ไม่พร้อมลงสู่สนามการทำงาน
ในสถานการณ์โควิด-19 บรรดาผู้เรียนจบมหาวิทยาลัยที่ว่างงานเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเท่าตัว และสำหรับครัวเรือนที่แบกรับภาระหนี้สิน การศึกษาในมหาวิทยาลัยเพิ่มอีกหลายปีอาจไม่คุ้มค่าอีกต่อไป นอกจกานั้น สถาบันการศึกษาหลายแห่งก็ต้องเผชิญตั้งแต่การปิดหลักสูตรไปจนถึงการปิดตัวลงอย่างสิ้นเชิง ขณะที่เมื่อหันไปมองที่ภาคเกษตรกรรม อีกเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจไทย ก็ดูจะน่าเป็นห่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ภาคเกษตรครองสัดส่วนเพียง 1 ใน 10 ของ GDP ประเทศไทย แต่กลับมีแรงงานมากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งประเทศ แม้จะมีความหลากหลายทั้งการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แต่ข้าวก็ยังถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก สัดส่วนข้าวไทยอยู่ที่ร้อยละ 14 ของตลาดค้าข้าวระหว่างประเทศ แต่การทำนาของไทยก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก อัตราตอบแทนเฉลี่ยต่ำกว่าทั้งเวียดนาม กัมพูชาและลาว ปัจจัยสำคัญมาจากขนาดของแปลงนาในไทยโดยเฉลี่ยเล็กเกินไป ประกอบกับชาวนาไทยอายุมากและมีฐานะยากจน จึงเป็นเรื่องยากที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปรับปรุงผลผลิต
ความท้าทายเหล่านี้กระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายหันมาพึ่งพาอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยหวังว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาทิ ในเดือน พ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayut Chan-o-cha) ประกาศเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวเหมือนกับ “การแทงพนันแบบลงเงินเดิมพันสูง (Costly Gamble)” เนื่องจากไทยอยู่ในภูมิภาคที่มีผู้บริโภคเพียงไม่กี่รายที่สามารถซื้อเทคโนโลยีนี้ได้ตั้งแต่แรก
ไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับประโยชน์จากการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นและจีน การส่งออกของไทยทำได้ดีตั้งแต่ปี 2563 รถยนต์ถูกส่งไปยังญี่ปุ่นและสินค้าเกษตรถูกส่งไปจีนเพิ่มขึ้น การค้าที่ขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้กระตุ้นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเปิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แต่ไทยก็มีปัญหาทั้งการทุจริต สภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนทั้งทางการเมืองและกฎหมาย การผูกขาด และข้อจำกัดในการถือครองของต่างชาติ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่เพิ่งก่อสร้างเมื่อเร็วๆ นี้ ยังไมได้ขยายการลงทุนในประเทศไทย
การฟื้นฟูการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องปฏิรูปการจัดหาเงินทุน การควบรวมกิจการและการทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นสากล การแก้ปัญหาความซบเซาของภาคเกษตรจำเป็นต้องสนับสนุนให้การผลิตหันไปใช้เครื่องจักร การลงทุนระบบชลประทาน และการควบรวมเป็นนาแปลงใหญ่ ความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ การศึกษาและเกษตรกรรมของไทย ดูเหมือนเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน ด้วยทรัพยากรและอำนาจที่กระจุกตัวอยู่ที่คนรวยและกลุ่มทุนขนาดใหญ่
โครงสร้างแบบนี้จำกัดความต้องการของชนชั้นกลางและกระตุ้นให้เม็ดเงินไหลออกไปสู่ประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังมีการลงทุนของของภาคเอกชนในประเทศน้อยเกินไป มีแรงจูงใจน้อยเกินไปสำหรับนักศึกษาและเกษตรกรเพื่อให้เพิ่มพูนศักยภาพของตนเอง และสนับสนุนน้อยเกินไปสำหรับครัวเรือนที่ประสงค์จะมีบุตร การเปลี่ยนทิศทางคือหัวใจของปัญหาธรรมาภิบาลและการเมือง อาทิ แนวคิด Thailand 4.0 จำนวนมาก เช่น การลงทุนที่สมดุลในระดับภูมิภาคและการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันเพื่อนำทรัพยากรไปสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา
แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ขาดแคลนแนวคิดดีๆ ทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและภาควิชาการ แต่การนำไปใช้นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีคำถาม!!!
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี