‘เหนือ-อีสาน’ยังอ่วม
ฝุ่นPM2.5เกินมาตรฐานแทบทั้งภาค
‘กทม.’ฝุ่นจางหายใจคล่องขึ้น
เชียงใหม่หลุด10เมืองมลพิษโลก
ทอ.เดินหน้าภารกิจบินดับไฟป่า
คุณภาพอากาศในไทยรายวัน ยังพบเกินค่ามาตรฐานเริ่มมีผลต่อสุขภาพ 27 จังหวัด ภาคเหนือ-อีสานเกินเกณฑ์เป็นส่วนใหญ่ ขณะเชียงใหม่ อยู่อันดับ 12เมืองมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลก ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 126AQI ส่วนกทม. อยู่อันดับ 22เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดโลก ส่วนการตรวจพบจุดความร้อนในไทยเริ่มทรงตัว 653 จุด ยังมีมากในป่าอนุรักษ์ ผบ.ทอ.หนุนภารกิจบินดับไฟป่าแล้ว 11 เที่ยวบิน พร้อมลุยต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐาน 27 จังหวัด มีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร น่าน แม่ฮ่องสอน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สระบุรี บึงกาฬ หนองคาย เลย อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์
โดยภาคเหนือ พบเกินค่ามาตรฐาน 13 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 32-84 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 33-99 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 21-56 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 17-41 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 12-24 มคก./ลบ.ม. กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 20-56 มคก./ลบ.ม.
ข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir เวลา 14.06 น. จังหวัดเชียงใหม่ อยู่อันดับ 12 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลก ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 126 AQI ส่วนกรุงเทพมหานคร อยู่อันดับ 22 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลก
ทางด้านข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir รายงานว่า เชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 12 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลก ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 126 AQI ส่วน กรุงเทพมหานคร อยู่อันดับ 22 ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 88 AQI
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ยังคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 18-24 มีนาคม ดังนี้ วันที่ 18 มีนาคมเป็นต้นไปสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มควรเฝ้าระวังทั้งตอนบนและล่างในวันที่ 18 มีนาคม
สำหรับประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือพื้นที่สีแดง ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง
วันเดียวกัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) รายงานจุดความร้อนในไทย ทรงตัวอยู่ที่ 653 จุด ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี ไทยพบจุดความร้อน 653 จุด ขณะที่ประเทศลาวจุดความร้อนขยับขึ้นมานำอยู่ที่ 2,320 จุด เมียนมา 1,067 จุด กัมพูชา 1,016 จุด เวียดนาม 487 จุด และมาเลเซีย 43 จุด
ทั้งนี้ จุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 215 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 156 จุด พื้นที่เกษตร 116 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 78 จุด พื้นที่เขต สปก. 75 จุด และริมทางหลวง 13 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ ชัยภูมิ 62 จุด ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 พบหลายพื้นที่ของประเทศอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่ทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับค่อนข้างดี
ด้าน พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศเปิดเผยว่า หลังกองทัพอากาศตั้งชุดปฏิบัติการสนับสนุนบินภารกิจการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันส่วนหน้า พร้อมวางกำลัง DA-42 และ BT-67 ที่ กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 16 มีนาคม ทำการบินไปแล้ว 11 เที่ยวบิน 22.1 ชั่วโมงบิน โดย DA-42 บินสำรวจจุดความร้อน เพื่อส่งข้อมูลให้กองอำนวยการร่วมและหน่วยงานของ 17 จังหวัดภาคเหนือ นำวางแผน และ BT-67 ขึ้นบินทิ้งน้ำดับไฟต่อไป ยืนยันว่า กองทัพอากาศจะยังคงปฏิบัติภารกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยประสานงานการปฏิบัติกับหน่วยงานและกองอำนวยการร่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชน