สภาทนายจัดเสวนาหัวข้อสิ่งที่สื่อมวลชนควรทราบเกี่ยวกับมรรยาททนาย ด้านนายสภาฯเผยเร่งกำหนดกรอบสอบมรรยาทให้เสร็จภายใน 1 ปี เผยพวกทนายหิวแสงแถลงเรียกราคาทอดทิ้งลูกความ โอ่อวดเข้าข่ายผิดมรรยาท ประชาชนสามารถร้องเรียนได้
เมื่อวันที่ 6 เม.ย.นี้ ที่สภาทนายความ ถนนพหลโยธิน สภาทนายฯ จัดเสวนาวิชาการ เรื่องสิ่งที่สื่อมวลชนควรทราบเกี่ยวกับมรรยาททนาย โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษสภาทนายความ และนายเกษม สรศักดิ์เกษม ประธานกรรมการมรรยาททนายความ และตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วมเสวนา มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นายวิเชียร กล่าวว่า ในการที่คณะกรรมการมรรยาทจะพิจารณาคดีมรรยาททนายความ จะต้องมีผู้ร้องเรียน จะต้องมีผู้เสียหายเป็นผู้ร้อง หรือทนายความกันเองร้องหรือความปรากฏมีเหตุเพียงพอไปสู่จึงนำไปสู่การพิจารณาคดีมรรยาททนาย จึงสามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ส่วนเรื่องโทษมีสามสถาน คือหนึ่งภาคทัณฑ์ สองห้ามเป็นทนายความไม่เกินสามปี สามลบชื่อออกจากสารระบบทนายความ ผ่านไปห้าปีถึงสามารถขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวน แต่ถ้าพบว่ามีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจอาจไม่ได้รับใบอนุญาตใหม่
นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาทนายให้ความสำคัญกับเรื่องมรรยาททนายความ ในยุคที่ตนเป็นนายกสภาทนายความ จะจัดระเบียบทนายความพิจารณามรรยาททนายความให้รวดเร็วขึ้น ก่อนหน้านี้มีบางเคสห้าปีเจ็ดปียังไม่แล้วเสร็จ เมื่อไปดูกฎหมายในเรื่องคดีมรรยาททนายความ ไม่กำหนดกรอบระยะเวลากฎหมายบอกว่าให้พิจารณาโดยเร็วและเที่ยงธรรมหลายคดีจึงล่าช้าเกือบ 10 ปี ตนจึงได้ปรึกษาหารือกับคณะว่าต้องแก้ข้อบังคับออกระเบียบเกี่ยวกับกรอบระยะเวลา คดีมรรยาทไม่ควรเกินหนึ่งปี ถ้าเห็นต่างเรื่องการถูกลงโทษโดยคณะกรรมการมรรยาท ค่อยไปว่ากันที่ศาลปกครอง คดีมรรยาทต้องรวดเร็วเพื่อเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถ้าทนายความถูกร้องเรื่องมรรยาทจะเสียโอกาสหลายอย่าง ไม่สามารถไปทำอะไรบางอย่างได้ จึงต้องให้ความเป็นธรรม อย่างบางคดีก็ไม่สมควรที่จะนำมาเป็นคดีมรรยาท เช่น ขาดอายุความไปแล้ว หรือเป็นกรณีที่เคยมีการวินิจฉัยแล้วว่าไม่ผิด แบบนี้ไม่ควรรับเรื่องสอบสวน ถึงเวลาแล้วที่ควรตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนรับเป็นคดีมรรยาทเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และสามารถชี้แจงกับคู่กรณีและสังคมได้ว่า รับหรือไม่รับคดีเพราะอะไร
นายวิเชียร กล่าวว่า คดีมรรยาทหลายหลายคดีเกิดจากการที่ทนายความไปให้สัมภาษณ์กับสื่อนำมาซึ่งคดีหมิ่นประมาท คดีพรบ.คอมพิวเตอร์ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในการทำละเมิด และโยงไปถึงคดีอาญาคดีแพ่งที่สื่ออาจจะต้องโดนไปด้วย ถ้าสื่อเข้าใจมรรยาททนายความ ก็สามารถมัดระวังเพื่อป้องกันตนเองได้
นายวิเชียร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาลงโทษทนายความ ที่โดนระงับใช้ใบอนุญาตว่าความ แต่กลับไปว่าความในคดีต่างๆโดยลงโทษจำคุกคดีละห้าวันโดยไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล ตอนนี้มีการเชื่อมข้อมูลระหว่างสภาทนายความกับศาลยุติธรรมสามารถตรวจสอบชื่อ และสถานะ ทนายความว่าถูกผักใบอนุญาตหรือไม่ ส่วนประชาชนก็สามารถตรวจสอบสถานะทนายความกับทางสภาทนายความได้ว่าเป็นทนายความจริงหรือไม่หรือว่าอยู่ระหว่างพักการใช้ประโยชน์ด้านหรือไม่
ขณะที่นายสุชาติ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ใช่มีแค่ ทนายหิวแสง ยังมีทนายร้องทนายเพื่อต้องการแสงอีกสเต็ปหนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีการลงโทษทนายความหิวแสงที่แถลงสัมภาษณ์สื่อ ในกรณีนี้คือความปรากฏชอบอวดอ้างว่าเป็นทนายความ สมัยก่อนสื่อไม่กี่ช่องเวลามีปัญหาข้อกฎหมายหรือต้องการสอบถามก็จะติดต่อมาที่สภาทนายความ จะส่งตัวแทนไปให้สัมภาษณ์หรือให้ความเห็น แต่ปัจจุบันนี้สื่อมักจะโทรสอบถามทนายความที่ต้องการออกความเห็น จึงอยากให้สอบถามข้อกฎหมายกับทางสภาทนายความ เรามีทีมกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตอบคำถามได้ทนายเอกชนต้องการมีชื่อเสียงเวลาสื่อโทรไปสอบถามก็ตอบได้ทุกเรื่อง มันเป็นอันตรายที่ประชาชนจะไม่ได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง ทนายความตอนนี้มีประมาณ 100,000 กว่าคนมีประพฤติผิดก็เยอะสภาทนายต้องดำเนินการป้องปรามถ้าจัดการได้หนึ่งเคสก็จะเป็นตัวอย่างให้ทนายความปฏิบัติตามมารยาทปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
นายสุชาติ กล่าวถึงกรณีเคสรองนายกรัฐมนตรีที่ถูกทนายความเผยแพร่ข้อมูลหมดแล้วมีผู้ร้องได้ส่งพยานหลักฐานและคำกล่าวหามาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างกรรมการมรรยาทพิจารณา ด้านจริยธรรมและด้านสังคมรวมถึงการละเมิดว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร
"ตอนนี้สื่อสร้างวีรบุรุษโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์บ้านกกกอดก็ดีหรือทนายหล่อก็ดี สภาทนายเองก็ต้องร่วมรับผิดกับสื่อ เราต้องรู้เท่าทัน เมื่อเป็นทนายดังก็เรียกค่าว่าความได้สูงกว่าใครๆก็รู้จัก ทนายหน้าจอถามกี่เรื่องรู้ทุกเรื่องเพราะเปิด Google ตอบข้อกฎหมาย แต่ไม่มีประสบการณ์ว่าความ หลายครั้งประชาชนได้รับข้อมูลที่ผิดๆอยากฝากสื่อถ้ามีข้อสงสัยให้สอบถามมาที่สภาทนายความ"นายสุชาติ กล่าว
ขณะที่นายเกษม กล่าวว่า คดีมรรยาทนั้นผู้ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนทนายความจะมาร้องคดีเองมีน้อย ส่วนองค์ประกอบความผิดมรรยาทมีทั้งหมด 11 ข้อ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปฎิบัติหน้าที่ของทนายความสามารถมาร้องเรียนได้ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ มาตรา 65 หากความปรากฏกรรมการมรรยาทสามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาคดีได้เอง ไม่ต้องมีผู้เสียหาย ถ้าทนายผิดมรรยาทในศาล หากศาลร้องเรียนมาโทษสูงสุดคือถอนใบอนุญาตทนายความตลอดชีวิต รวมทั้งการใช้อุบายจูงใจ อวดอ้างว่าตนมีความรู้เหนือกว่าทนายคนอื่นอย่างนี้ผิดแน่ เปิดเผยความลับของลูกความ จงใจผิดนัดว่าความ ประกาศโฆษณา เช่นเดียวกัน
ส่วนกรณีทนายเอาเรื่องในคดีมาแถลงข่าวโดยส่วนใหญ่คืออยากโตเร็วอยากมีชื่อเสียง อย่างไรก็ตามไม่มีข้อห้ามไม่ให้ทนายมาแถลงข่าวกับลูกความ แต่การรับเป็นทนายความว่าต่างคดีไม่มีเหตุใดเลยที่ต้องมานั่งแถลงข่าว รับคดีมาก็ไปสู้คดีกันในศาล มาตั้งโต๊ะแถลงเพื่อแสดงฝีมือหรืออยากดัง แถลงได้แต่อย่านำเรื่องในคดีมาแถลง ทนายความที่แถลงข่าวเมื่อมีชื่อเสียงก็เรียกค่าทนายความสูง ดังนั้นทนายความควรหลีกเลี่ยงพฤติการณ์เหล่านี้ ส่วนการเอาผิดกรณีความปรากฏนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากกรรมการมรรยาทต้องเสาะแสวงหาพยานหลักฐานเอง ส่วนกรณีมีผู้เสียหายมาร้องเรียนนั้น สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าเนื่องจากมีพยานหลักฐานค่อนข้างครบถ้วน
ส่วนนายเกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า เฉพาะปีนี้มีผู้ร้องคดีมรรยาทเข้ามากว่า 100 เรื่องถ้ามีความการเร่งรัดการพิจารณาคดีมรรยาทขอเป็นเรื่องที่ดีเพราะการล่าช้าคือความไม่เป็นธรรม-001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี