เตือนภัยแก๊งตุ๋น
อ้างเพจโรงแรม
ร้านอาหารชื่อดัง
หลอกให้โอนเงิน
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย แก๊งต้มตุ๋นอ้างเพจโรงแรมและร้านอาหารชื่อดังปลอมระบาดหนักหลอกโอนเงินค่าสำรองโต๊ะอาหารบุฟเฟ่ต์ช่วงวันสำคัญเดือนกรกฎาคมมีผู้เสียหายร้องทุกข์สูงเป็นอันดับ 1 กว่า 7,714เรื่อง เสียหายกว่า140ล้านบาท
เมื่อวันที่ 6สิงหาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท.เปิดเผยว่า ได้รับรายงานการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าสำรองโต๊ะอาหาร สำรองบุฟเฟต์ ผ่านเพจเฟซบุ๊กของโรงแรม และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงปลอม โดยเฉพาะช่วงวันสำคัญต่างๆ จะหลอกลวงจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษ หรือหากมาหลายท่านทานฟรี 1 ท่าน เป็นต้น ซึ่งมิจฉาชีพยังคงใช้แผนเดิมๆคือ สร้างเพจเฟซบุ๊กโรงแรม หรือร้านอาหารปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจเดิมที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อบัญชีเพจให้เหมือนเพจจริงทุกตัวอักษร หรือใกล้เคียงกัน คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชั่นจากเพจจริงมาใช้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ค้นหาร้านอาหารให้พบเพจปลอมเป็นอันดับแรกๆ หากไม่ทันสังเกตให้ดีจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้นได้แต่อย่างใด
“ตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวนกว่า 7,714 เรื่อง หรือคิดเป็น 49.09% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์เดือนกรกฎาคม มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 140 ล้านบาท”โฆษก บช.สอท.กล่าว และว่า พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการ
โฆษก บช.สอท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวัง ตรวจสอบให้ดีก่อน เพราะอาจเป็นช่องทางที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ที่ผ่านมามิจฉาชีพปลอมเพจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานเอกชนหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ที่พักหลอกลวงให้สำรองค่าที่พัก ร้านค้าหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น ฉะนั้นเราจะต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจ เหมือนหรือคล้ายเพจจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาในเว็บไซต์ทั่วไป หรือพบเจอในกลุ่มเฟซบุ๊ก หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น
โฆษก บช.สอท.ยังประชาสัมพันธ์ถึงวิธีป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 9 ข้อ ดังนี้ 1.โรงแรม หรือร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัวหรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อโรงแรม หรือร้านอาหาร หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น 2.ควรสำรองโต๊ะอาหารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ 3.หากต้องการเข้าเพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ 4.เพจจริงต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม รวมไปถึงไลน์ทางการต้องมีเครื่องหมายโล่สีฟ้าหรือสีเขียวเช่นเดียวกัน 5.เพจจริงจะมีส่วนร่วมโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่อเนื่อง 6.เพจปลอมมักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน 7.ระวังการประกาศโฆษณาโปรโมชั่นต่างๆ 8.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่าเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ สร้างมาเมื่อใด ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด 9.ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อไปยังโรงแรม หรือร้านอาหารก่อนทำการโอนเงิน ว่าเพจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี