น้ำป่าทะลักจากเทือกเขาภูพานน้อยในพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 200 หลังคาเรือน ล่าสุดเช้าวันนี้ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดนครพนมยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้ง 12 อำเภอ ส่งผลให้ลำน้ำสาขาสายหลักแม่น้ำโขง โซนเหนือคือ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ส่วนโซนทางใต้ได้แก่ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง มีปริมาณเพิ่มสูง บางลำน้ำมีปริมาณเกินความจุ ทำให้ลำห้วยสาขาเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่ลุ่มใกล้ลำห้วยสายย่อย
นอกจากนี้ล่าสุดระดับน้ำโขงวันที่ 16 กันยายน 2566 เพิ่มขึ้นปริมาณต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 8.70 เมตร ห่างจากจุดล้นตลิ่งแค่ 3 เมตร คือที่ 12 เมตร โดยในห้วง 2-3 วัน น้ำโขงมีระดับทะยานเพิ่มขึ้นรวดเร็ววันละ 20-90 เซนติเมตร ส่งผลให้ลำน้ำสาขาไหลระบายช้า เนื่องจากน้ำโขงหนุน
ทั้งนี้ ชลประทานนครพนมยังคงต้องเร่งระบายน้ำจากลำน้ำสาขาทุกสายลงแม่น้ำโขง รวมถึงลำน้ำก่ำที่รับมวลน้ำจากทะเลสาบหนองหาร พื้นที่ จ.สกลนคร ไหลผ่าน อ.วังยาง อ.นาแก ก่อนระบายลงน้ำโขงที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต อ.ธาตุพนม ตลอด 24 ชั่วโมงยังคงต้องเปิดประตูระบายน้ำทุกบานลงน้ำโขงให้มากที่สุด เพราะปริมาณน้ำหนองหาร มีความจุที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องระบายผ่านลำน้ำก่ำ ลงน้ำโขงให้เร็วที่สุด
ล่าสุดหลังจากฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่หลายวันที่ผ่านมารวมถึงลำน้ำสาขา ลำห้วยสาขามีปริมาณน้ำสูงส่งผลกระทบให้น้ำป่าที่ทะลักมาจากเทือกเขาภูพานน้อยในพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน ต.พิมาน ตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา เนื่องจากลำห้วยย่อยไม่สามารถไหลระบายลงลำน้ำก่ำได้ทัน จึงเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน กว่า 200 หลังคาเรือน
โดยทางนายบัญชา ศรีชาหลวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน ได้ระดมเจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.พิมาน และผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดเตรียมกระสอบทราย วางแนวกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนในจุดเสี่ยง บรรเทาความเดือดร้อน กระทั่งเช้านี้ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะปริมาณน้ำก่ำสูงกว่าปกติ ทำให้ลำน้ำสาขาไหลระบายช้า หากมีฝนตกหนักเสี่ยงเอ่อท่วมซ้ำอีกรอบ
นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่ ต.พิมาน ถือเป็นจุดเสี่ยงเคยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี หนักสุดคือปี 2560 น้ำท่วมนานกว่า 1 เดือน เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งติดเขาภูพานน้อย รวมถึงมีพื้นที่ที่บ้านปากบัง เป็นจุดบรรจบลำน้ำ 2 สาย ได้แก่ ลำน้ำบังกับลำน้ำก่ำ ก่อนไหลระบายลงน้ำโขง หากระดับน้ำโขงเพิ่มสูง ผลกระทบที่ตามมาคือ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบังเอ่อล้น ระบายไม่ทัน รวมถึงมีน้ำป่าเขาภูพานไหลมาสมทบ ทำให้เกิดน้ำทะลักท่วมหมู่บ้านทุกปี
นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่เสนอไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงชลประทาน คือ โครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำเพื่อการเกษตร ที่ก่อสร้างไม่คำนึงถึงผลกระทบชาวบ้าน ทำให้ขวางทางน้ำ หากมีฝนตกหนักจะทำให้น้ำระบายไม่ทัน ท่วมบ้านเรือนซ้ำซากทุกปี เคยเสนอไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง มานานกว่า 5 ปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายความเดือดร้อนตกที่ประชาชน - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี