แนะปรับ‘ประกันสังคม’เพิ่มทางเลือกเทียบ‘ม.33’ดึงคนสมัครเข้าระบบ-รัฐตั้งกองทุนค้ำแบงก์ปล่อยสินเชื่อแรงงาน
20 กันยายน 2566 รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในสัมมนารับฟังความคิดเห็น รายงานการศึกษาฉบับร่างและข้อเสนอเชิงนโยบายการบริการจัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ณ รร.เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ว่า แรงงานในกลุ่มกึ่งนอกระบบ หมายถึงในทางปฏิบัตินั้นมีนายจ้างแม้จะไมได้ถูกเรียกว่านายจ้างก็ตาม เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน ไรเดอร์ขี่มอเตอร์ไซค์ส่งสินค้า พนักงานนวดในร้านนวด แรงงานกลุ่มนี้มีความคล้ายกับแรงงานที่อยู่ในประกันสังคม มาตรา 33
แต่จุดที่แตกต่างคือ แรงงานกึ่งนอกระบบอาจมีนายจ้างได้หลายคน เช่น ไรเดอร์รับงานผ่านแพลตฟอร์มหลายเจ้า หรือลูกจ้างทำงานบ้านเหตุที่ไม่สามารถเข้าประกันสังคม ม.33 ด้วยเหตุผลว่าผู้ตรวจแรงงานไม่สามารถเข้าไปตรวจสภาพการจ้างงานได้ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าแนวคิด ม.33 ที่แบ่งการจ่ายเงินสมทบจาก 3 ส่วน คือนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ สามารถนำมาปรับใช้ได้ ขณะเดียวกัน การที่แรงงานกลุ่มนี้มีรายได้ไม่แน่นอน ก็เป็นคำถามว่าจะนำมาปรับใช้อย่างไร
“เขามีนายจ้างหลายคนในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นก็หักส่วนตรงนี้ในทุกๆ Transaction (การทำธุรกรรม) วันนี้เขาขับรถให้ใคร หรือไปรับจ้างกับนาย ก. นาย ข. นาย ค. เราต้องหักทุก Transaction ตรงนี้เราก็ต้องหาวิธีการที่จะมาทำ เพราะฉะนั้นความถี่มันก็จะถี่เยอะขึ้น แล้วก็เปิดโอกาสให้ไม่ว่าคุณจะมีนายจ้างกี่คนก็ตามระบบมันควรจะทำได้ ฉะนั้นถ้าเราตัดในเรื่องของจะต้องตรวจสอบแรงงานได้ เอากฎหมายคุ้มครองแรงงานออกไปจากการมาผูกกับประกันสังคม ลูกจ้างทำงานบ้านก็สามารถเข้า ม.33 ได้” รศ.ดร.กิริยา กล่าว
รศ.ดร.กิริยา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่ไม่มีนายจ้างและรัฐไม่รู้รายได้ กลุ่มนี้จะอยู่กับประกันสังคม ม.40 สิ่งที่น่าคิดคือหากนำ ม.33 ซึ่งดีที่สุดเป็นตัวตั้ง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีสิทธิประโยชน์แบบเดียวกับ ม.33 โดยผู้ประกันตนจ่ายเองทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง เพราะในกลุ่มแรงงานนอกระบบก็มีหลากหลายตั้งแต่รายได้น้อยไปจนถึงรายได้สูง
แต่การไปกำหนดสิทธิประโยชน์ของ ม.40 ให้น้อย ก็ไม่ถูกใจผู้ที่มีรายได้สูง อาทิ มัคคุเทศก์ เป็นอาชีพหนึ่งที่รายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งอยากได้สิทธิประโยชน์แบบ ม.33 แต่ไม่สามารถเข้าได้ จึงน่าจะมีแพ็ตคเกจแบบ ม.33 ให้เป็นทางเลือกกับผู้ที่มีกำลังพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับ ม.40 สิทธิประโยชน์เรื่องเดียวที่ยอมรับว่าทำได้ยากคือเรื่องของการว่างงาน เพราะเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าแรงงานกลุ่มนี้ว่างงานเมื่อใด
“บางทีเราอาจจะบอกว่าสวัสดิการต่างๆ มันมีอยู่แล้ว เอาไปทำบัตรทองก็ได้ บัตรทองก็มีอยู่แล้วรักษาพยาบาล แต่การที่เสนอว่าพยายามเอาทุกคนเข้ามาอยู่ใน ม.33 หรืออะไรที่คล้ายๆ ยังไม่รวมกับ ม.33 ก็ได้นะ เป็นนอกระบบคล้ายๆ ม.33 หรือใกล้เคียง จริงๆ แล้วมันเป็นการลดภาระการคลังที่คนมีนายจ้างนายจ้างก็ร่วมจ่าย คนที่กึ่งก็ร่วมจ่ายด้วย มันก็จะไม่ทุกอย่างไปผูกทุกคนถือบัตรทองหมด มันก็จะเป็นภาระทางการคลังค่อนข้างจะเยอะ ฉะนั้นการดึงเอาทุกคนมาเข้าประกันสังคมไม่ว่าจะเรียกมันว่า ม. อะไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นด้วยว่าจะทำให้การคลังยั่งยืนขึ้น” รศ.ดร.กิริยา กล่าว
รศ.ดร.กิริยา ยังกล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่แรงงานนอกระบบต้องการมากที่สุดแต่ไม่มีในระบบประกันสังคมคือสินเชื่อ แต่แรงงานนอกระบบมักมีรายได้น้อยหรือไม่สม่ำเสมอ ในส่วนนี้ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ จะทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ แต่เมื่อดูบทเรียนจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ก็พบว่าแรงงานเข้าถึงได้ยาก
หรือการที่กระทรวงแรงงานต้องทำหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อและติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งบุคลากรในกระทรวงอาจไม่มีความเชี่ยวชาญ ยังมีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมีความยั่งยืน เพราะแรงงานนอกระบบมีเป็นจำนวนมาก จะคัดกรองคนที่ควรได้รับสินเชื่ออย่างไรเพื่อให้มั่นใจว่าเงินกู้ไปแล้วจะได้กลับคืนเพื่อให้กองทุนมีเงินหมุนเวียน
เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะหากทำได้ง่ายและมีกำไรธนาคารคงปล่อยสินเชื่อเองแล้ว ส่วนข้อสงสัยที่ว่า คณะผู้จัดทำรายงานฉบับนี้เสนอให้กองทุนทำความร่วมมือกับธนาคารเพื่อเข้ามาบริหารจัดการจะเป็นไปได้อย่างไรในการจูงใจ ในเมื่อที่ผ่านมาธนาคารกังวลความเสี่ยงจึงมักไม่ปลอยกู้ให้แรงงานนอกระบบ ประเด็นนี้จริงๆ แล้วไม่ได้ให้ธนาคารเข้าไปบริหารอย่างเต็มรูปแบบเพื่อหวังผลกำไร แต่เป็นการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวิเคราะห์ด้านการเงิน และไม่ใช่จากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่เป็นธนาคารเฉพาะ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
“รัฐอาจจำเป็นต้องสนับสนุน อุดหนุนอะไรอย่างนี้ จริงๆ ถ้าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ สมมติมันอาจจะถูกค้ำประกันโดยรัฐ เช่น มีการตั้งกองทุน ที่เรียกว่ากองทุนฟื้นฟูอะไรแบบนี้ ฉะนั้นถ้าเมื่อไรปล่อยกู้แล้วมีปัญหา Bank Backup (ค่าใช้จ่ายกันสำรองธนาคาร) นะ ธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะ คืออันนี้มันก็สามารถที่จะลองคิดกันไปได้” รศ.ดร.กิริยา กล่าวในตอนท้าย