เตือน 7 จว.เหนือ
ฝนยังถล่มหนัก
เพิ่มระบายน้ำ
เขื่อนเจ้าพระยา
อุตุฯเผยทั่วไทยมีฝนตก แต่เหนือหนักสุด 60% โดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคเหนือ กทม. 40% ด้านกรมชลฯ ระบุน้ำเหนือเพิ่ม ทำระดับน้ำเหนือ“เขื่อนเจ้าพระยา”สูงขึ้น ปรับเพิ่มระบายน้ำยันไม่กระทบพื้นที่ท้ายเขื่อน นครพนมอ่วมน้ำทะเลสาบหนองหาร เอ่อลงลำน้ำก่ำทะลักท่วมนาข้าว-ที่ลุ่มนับพันไร่ วัวควายขาดแคลนอาหาร
เมื่อวันที่ 20 กันยายน กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ลักษณะอากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับคลื่นลมทะเลอันดามันและอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือระมัดระวัง หลีกเลี่ยงเดินเรือบริเวณที่ฝนฟ้าคะนอง
พยากรณ์อากาศรายภาค โดยภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทะเลคลื่นสูง 1- เมตร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) ภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ส่วนมากบริเวณจ.ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร หนองบัวลำภู อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครสวรรค์ อุทัยธานี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี รวมถึงกรุงเทพและปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 เช่นกัน
ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงทำให้ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ในอีก 1-3 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2อ.เมือง จ.นครสวรรค์ประมาณ 900-1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 700-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 60-80 เซนติเมตร ได้แก่ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ตลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ซึ่งการระบายน้ำดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งนี้ หากกรมฯปรับเพิ่มการระบายน้ำอีกครั้ง จะประกาศแจ้งให้ประชาชนรับทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมในพื้นที่จ.นครพนมว่า ผลกระทบจากปริมาณน้ำในทะเลสาบหนองหาร จ.สกลนคร เกินความจุทะลักล้นลงลำน้ำก่ำ ไหลจากจ.สกลนคร ผ่านอ.วังยาง อ.นาแก จ.นครพนม รวมระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร และไหลระบายลงสู่น้ำโขง บริเวณประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำตอนล่าง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ทำให้ชลประทานนครพนม เร่งระบายน้ำในลำน้ำก่ำลงน้ำโขงให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่ลุ่มโดยเฉพาะพื้นที่บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สายคือ ลำน้ำบังกับลำน้ำก่ำ ก่อนไหลระบายลงน้ำโขง ล่าสุดล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่ม พื้นที่นาข้าวของชาวบ้าน จมน้ำหลายพันไร่ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่ม ไม่มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์การเกษตร วัว ควายกว่า 500 ตัว เริ่มขาดแคลนอาหารองค์การบริหารส่วนตำบลพิมานประสานปศุสัตว์ อ.นาแก และปศุสัตว์จ.นครพนมสนับสนุน ฟางอัดแห้ง คาดว่าแนวโน้มกระทบหนัก หากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมขยายวงกว้าง และต้องกักตุนอาหารสัตว์ หญ้าแห้งไปอีก 1 เดือน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยงกว่า 200 ครัวเรือน อพยพสิ่งของขึ้นที่สูง รวมถึงสัตว์เลี้ยงทางการเกษตรด้วย