อุตุฯเตือนทั่วไทยฝนหนัก
5 จว.ยังจมบาดาล
‘ตาก-กาฬสินธ์ุ’ อ่วมหนัก
เดือดร้อน 1.5 หมื่นครัวเรือน
พนังกั้นน้ำชีแตกท่วมชัยภูมิ
นนทบุรีรับมือเจ้าพระยาล้น
กรมอุตุฯ เตือนทั่วไทยฝนหนัก ด้าน ปภ.ชี้ยังเกิดน้ำท่วม 5 จังหวัด กระทบ 15,963 ครัวเรือน ส่วนที่ชัยภูมิ พนังกั้นน้ำชีแตก ท่วมหมู่บ้านถูกตัดขาด ขณะที่พิจิตร ลำน้ำยมล้นตลิ่ง เอ่อท่วมบ้านเรือน ด้าน รอง ผวจ.นนทบุรี แจ้ง อปท.เฝ้าระวัง 30 ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา พร้อมรับสถานการณ์น้ำเพิ่มสูง หวั่นเอ่อท่วม
เมื่อวันที่ 3ตุลาคม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่า บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประเทศลาวตอนล่าง และประเทศกัมพูชา ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักระหว่างวันที่ 26 กันยายน–3 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด 95 อำเภอ 323 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 25,217 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด 25 อำเภอ 103 ตำบล 492หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,963 ครัวเรือน ได้แก่ 1.ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ สามเงา และบ้านตาก รวม 6 ตำบล 33 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,419 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
2.กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี และสหัสขันธ์ รวม 34 ตำบล 149 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,573 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3.ยโสธร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ ป่าติ้ว เมืองยโสธร และค้อวัง รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 4.อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอได้แก่ เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ม่วงสามสิบ เดชอุดม ตระการพืชผล เขื่องใน เหล่าเสือโก้ก ตาลสุม และดอนมดแดง รวม 57 ตำบล 298 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,836 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และ 5.ปราจีนบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ประจันตคาม และกบินทร์บุรี รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 95 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ที่ จ.ชัยภูมิ ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชี ว่ายังอยู่ในขั้นวิกฤต หลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของ จ.ชัยภูมิ มีน้ำจากเทือกเขาภูแลนคา ไหลลงสู่แม่น้ำชี ตั้งแต่ อ.หนองบัวแดง หนองบัวระเหว บ้านเขว้า จัตุรัส ต่อเข้า อ.เมืองส่งผลให้เกิดน้ำในแม่น้ำชีล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรมากขึ้น เข้าหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรที่อยู่ติดลำน้ำชี มีระดับท่วมสูงขึ้น ที่วัดเสี้ยวน้อย บ้านเสี้ยวน้อย ต.บ้านค่าย น้ำท่วมถนนเส้นทางเข้าวัดกว่า 1 เมตร รถทุกชนิดเข้าออกไม่ได้ วัดบ้านเสี้ยวน้อยถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวบ้านต้องหุงข้าว ประกอบอาหารไปถวายพระ สามเณรภายในวัด
ทั้งนี้ มีบ้านเรือนของราษฎรในหมู่บ้านเสี้ยวน้อยที่มีอยู่กว่า 140 หลังคาเรือน เดือดร้อน มีบ้านเรือนของชาวบ้านที่ตั้งอยู่รอบวัดเสี้ยวน้อย ที่ถูกน้ำท่วมพื้นที่รอบตัวบ้านเข้าออกไม่ได้กว่า 30 หลังคาเรือน ได้มีการตั้งเต็นท์อำนวยการคอยช่วยเหลือราษฎรที่ถูกน้ำท่วมอยู่บริเวณถนนปากทางเข้าหมู่บ้านเสี้ยวน้อยแล้ว
นายสำเริง ทวีภูมิ นายก อบต.บ้านค่าย กล่าวว่า น้ำที่ทะลักมาจากแม่น้ำชี เป็นจุดเดิมที่เคยพนังกั้นแตกเมื่อปี 2565 ขณะนี้พบพนังกั้นลำน้ำชี แตกหลายจุด จนเกิดน้ำไหลทะลักเข้าพื้นที่การเกษตร ทุ่งนา ข้าวกว่า 2,000 ไร่ น้ำไหลท่วมพื้นที่บ้านเสี้ยวน้อย
ขณะที่นายวรศิษย์ พุฒจีบ นายอำเภอเมืองชัยภูมิ รับทราบสถานการณ์ ว่าทางอบต.บ้านค่าย ได้มีการซ่อมแซม โดยนำกระสอบทรายมาปิดกั้นไว้ แต่ภายในลำน้ำชีมีผักตบชวาและเศษท่อนไม้ที่ขวางทางไหลของน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำในลำชีไหลช้าและล้นเอ่อ กัดเซาะทะลักเข้าท่วมทุ่งนาตลอดถึงบ้านเรือนประชานชนดังกล่าว ทั้งยังคงมีมวลน้ำมหาศาลจากแม่น้ำชีที่ยังเพิ่มปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมวลน้ำในแม่น้ำชีจะไหลผ่าน อ.เมืองรอบนอกเขตเทศบาลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว และ ต.กะฮาด อ.เนินสง่า ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนติดกับแม่น้ำชี ให้เตรียมรับน้ำล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วม โดยขอให้ประชาชนเฝ้าติดตามการแจ้งข่าวสารจากทางจังหวัดเพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่ จ.พิจิตร สถานการณ์น้ำฝนสะสมจากจังหวัดพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้แม่น้ำยมที่ จ.พิจิตร มีระดับ 5.13 เมตร มีปริมาณการไหล 299 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 10 เซนติเมตร จนบางจุดล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงน้ำยังท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง ท่วมขังถนนในหมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนกว่า 10 หลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50-70 เซนติเมตร การสัญจรต้องใช้เรือเป็นพาหนะ และต้องย้ายสัตว์เลี้ยงไว้บนที่สูงด้วย
ด้านนายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รอง ผวจ.พิจิตร รักษาราชการแทน ผวจ.พิจิตร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ภายหลังแม่น้ำยมล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมในพื้นที่ อ.สามง่าม 2 ตำบล คือ ต.รังนก และ ต.สามง่าม อ.สามง่าม บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ต.รังนก 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 , 3 , 4 และ 11 และ ต.สามง่าม หมู่ 11 ได้รับความเสียหายรวม 134 หลังคาเรือน โดยยังคงเฝ้าระวังมวลน้ำไหลมาจาก จ.สุโขทัย และพิษณุโลก ที่จะไหลมาสมทบในพื้นที่ ก่อนจะไหลรวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.นครสวรรค์ พร้อมเน้นย้ำฝ่ายปกครองทุกอำเภอ หมั่นสำรวจพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะทรัพย์สิน และยานพาหนะของชาวบ้าน ซึ่งอาจจะถูกฉวยโอกาสถูกขโมยในช่วงชุลมุน พร้อมกับเน้นย้ำปศุสัตว์จังหวัดพิจิตร ถึงการป้องกันโรคที่มากับน้ำเพราะอาจจะส่งผลกระทบถึงสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านได้
นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี กล่าวภายหลังประชุมเตรียมการป้องกันแลแก้ปัญหาน้ำท่วมเทศบาลนครปากเกร็ด ว่า เนื่องจากกรมชลประทาน แจ้งว่าจากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมบริเวณภาคเหนือ ส่งผลให้น้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นและมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก และช่วงวันที่ 3-6 ตุลาคม2566 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,000-1,400ลบ.ม./วินาที โดยจะส่งผลให้มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 1.00-1.50 เมตร อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนริมน้ำใน จ.นนทบุรี จึงสั่งการเจ้าหน้าที่สำนักช่าง สำนักปลัดเทศบาล ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังบริเวณริมน้ำเจ้าพระยาที่เป็นจุดเสี่ยงในเขตเทศบาล อาทิ วัดบางพูดนอก วัดโพธิ์บ้านอ้อย วัดหงส์ทอง วัดบางพัง วัดสลักเหนือ บริเวณซอยปากด่าน และท่าน้ำปากเกร็ด
ขณะที่ นายอภิชัย อร่ามศรี รอง ผวจ.นนทบุรี มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งให้หน่วยราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวัง 30 ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่อาจได้รับผลกระทบและให้พร้อมในการช่วยเหลือทันทีประกอบด้วย ชุมชนบริเวณวัดค้างคาว หมู่ 4, ชุมชนริมน้ำท่าอิฐ หมู่ 8 , ชุมชนบริเวณมัสยิดท่าอิฐ หมู่ 10, ชุมชนคลองบางภูมิ หมู่ 5 ฝั่ง ต.คลองพระอุดม, ชุมชนบริเวณวัดไทรม้าเหนือ, ชุมชนบริเวณวัดไทรม้าใต้ , ชุมชนวัดเฉลิมพระเกรียรติ, ชุมชนวัดอมฤต
ชุมชนบริเวณเกาะเกร็ด, ชุมชนบริเวณวัดแคนอก, ชุมชนวัดศาลารี, ชุมชนวัดค้างคาว หมู่ 4, ชุมชนบริเวณวัดโพธิ์ทองบน, ชุมชนบริเวณวัดสลักเหนือ, ชุมชนวัดแจ้งศิริสัมพันธ์, ชุมชนบริเวณหลังสะพานพระนั่งเกล้า , ชุมชนบริเวณท่าน้ำนนทบุรี, ชุมชนบริเวณหมู่บ้านเทพประทาน, ชุมชนบริเวณวัดกู้, ชุมชนบริเวณวัดบ่อ, ชุมชนบริเวณวัดสนามเหนือ , ชุมชนวัดกลางเกร็ด, ชุมชนวัดแสงสิริธรรม, ชุมชนริมน้ำท่าอิฐ หมู่ 4, หมู่ 5,หมู่ 6 และหมู่ 7, ชุมชนวัดตำหนักใต้, ชุมชนบริเวณวัดท่าบางสีทอง, ชุมชนบริเวณวัดชะลอ , ชุมชนบริเวณวัดเกตุประยงค์เล็ก, ชุมชนบริเวณวัดพิกุลทอง และชุมชนวัดใหญ่สว่างอารมณ์
ที่ จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดฝนตกหนักหนักในพื้นที่ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ตั้งแต่กลางคืนที่ผ่านมาจนถึงช่วงบ่ายวันนี้เม็ดฝนยังไม่ขาดสายทำให้ถนนหลายสายเกิดน้ำท่วมพื้นผิวจราจรโดยเฉพาะถนนสายราษฎร์บำรุง หรือสายล่าง อ.เมืองระยอง ซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจและในช่วงบ่ายยังมีฝนตกหนักซ้ำไม่ถึงชั่วโมง น้ำระบายไม่ทัน ระดับน้ำสูงอยู่ประมาณ 15-20ซม.รถยนต์และรถ จยย.ต้องใช้ความระมัดระวังในการสัญจรไปมา นอกจากนี้บริเวณถนนจันอุดม สี่แยกไฟแดงหน้าโรงเรียนอนุบาลอารีย์วัฒนา น้ำท่วมผิวจราจร 1 ช่องจราจร เจ้าหน้าที่เทศบาลนครระยอง ได้เปิดเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ติดตั้งถาวรไว้จุดดังกล่าว เร่งระบายน้ำลงท่อระบายลงท่อระบายน้ำและลงคลองสาธารณะ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมซ้ำซาก เช่นพื้นที่ตำบล ทับมา และตำบลน้ำคอก หลังฝนตกหนักทุกครั้งเริ่มผวาหวั่นน้ำท่วมทำข้าวของเครื่องใช้เสียหายต่างพากัน เช็คข้อมูลจากหน่วยงาน อปท.ระดมสอบถามปริมาณน้ำในคลองว่ามีการเพิ่มระดับขึ้นมากน้อยเพียงใด หวั่นเกิดน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนซ้ำเหมือนปีก่อนๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี