กทม.เตรียมเปิด “บ้านอิ่มใจ” ปี’68 ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน/เพิ่มมาตรการจัดระเบียบจุดแจกข้าว ตรอกสาเก แก้พฤติกรรมไม่หมาะสม
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวถึงการจัดการ “บ้านอิ่มใจ” ว่า สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ได้รับมอบภารกิจการเปิดให้บริการ “บ้านอิ่มใจ” ในปี 2568 เพื่อเป็นสถานที่พักชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้าน รองรับการจัดบริการสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมและจำเป็น ได้แก่ การคัดกรอง ให้คำปรึกษาแนะนำ บันทึกประวัติ และจัดเก็บข้อมูล ติดตามช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะได้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการด้านต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำ การทำบัตรประจำตัวประชาชน บริการด้านสุขภาพ บริการซัก อบ อาบ บริการห้องสุขา-ห้องอาบน้ำการฝึกอาชีพ การประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การส่งกลับคืนสู่ครอบครัว และการจัดหาที่พักอาศัย ซึ่งการจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านให้ได้รับการส่งเสริมศักยภาพตามกระบวนการข้างต้น เป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านของ กทม. ในระยะยาวที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง และการให้บริการ“บ้านอิ่มใจ” จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูกลุ่มคนไร้บ้านให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีและลดจำนวนผู้ที่ออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ “บ้านอิ่มใจ” จะเปิดบริการโดยใช้พื้นที่ประปาแม้นศรี เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 64.70 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 9,958.36 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยอาคาร 3 ชั้น อาคาร 6 ชั้น และอาคารอนุรักษ์ โดยกรุงเทพมหานคร ได้ทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 30 ปี ค่าเช่า3 ปีแรก 2567-2569 เดือนละ 1,071,050 บาท หรือปีละ 12,852,600 บาท สพส.ดำเนินการปรับปรุงโดยส่งแบบให้สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมศิลปากร คณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และขอจัดสรรงบประมาณค่าปรับปรุงและค่าบริหารจัดการ โดยจะเร่งดำเนินการปรับปรุงให้พร้อมเปิดบริการในปี 2568
ในส่วนของคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณตรอกสาเก ที่มีกรณีข้อร้องเรียนคนไร้บ้านบริเวณตรอกสาเกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้นผอ.สพส. เปิดเผยว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งในพื้นที่สาธารณะของ กทม. ลงพื้นที่ตรวจตรา โดยร่วมกับฝ่ายเทศกิจเขตพระนคร ประชาสัมพันธ์จุดรับบริจาคอาหาร รวมถึงบริการให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ อีกทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานฯ เพิ่มมาตรการจัดระเบียบบริเวณจุดแจกข้าว รวมถึงแจ้งให้ผู้บริจาคได้ทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อาทิ นั่งขวางรถ หรือการดักรอผู้ที่นำข้าวกล่องมาบริจาคแล้วนำไปขายต่อ ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักเทศกิจสำนักงานเขต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสุขภาพจิตกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน เพื่อบูรณาการสนับสนุน อำนวยความสะดวก และประสานงาน ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กรณีคนไร้บ้านสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา หรือสร้างความไม่สะอาดในพื้นที่ รวมถึงการพักอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ
สำหรับข้อมูลคนไร้บ้าน จากการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ปี 2566 มีคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร 1,271 คน อยู่ในเขตพระนคร 585 คน คิดเป็นร้อยละ 46.03 อยู่ในเขตจตุจักร 96 คน คิดเป็นร้อยละ 7.55 อยู่ในเขตยานนาวา 78 คน คิดเป็นร้อยละ 6.14
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี