ภาคประชาชน-นักวิชาการเชียงรายส่งจดหมายจี้นายกฯ เร่งแก้ปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย แนะใช้โอกาสพบ “มิน อ่อง หลาย” แจ้งสถานการณ์ทำเหมืองทองต้นน้ำ หวั่นภัยพิบัติน้ำท่วม-โคลนถล่มซ้ำอีก
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 คณะทำงานภาคประชาชน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ และนักวิชาการ ได้ส่งจดหมายถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาแม่น้ำกก และแม่น้ำสายเป็นการเร่งด่วน โดยจดหมายดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า ปัญหาแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ที่ไหลผ่านจากรัฐฉาน เมียนมา สู่ จ.เชียงราย พบว่าขุ่นข้นและตรวจพบว่าปนเปื้อนสารโลหะหนัก นำมาซึ่งความกังวลเป็นอย่างยิ่งแก่ประชาชนที่อาศัยในลุ่มน้ำ ทั้ง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย เนื่องจากทั้ง 2 แม่น้ำนี้คือแหล่งผลิตน้ำดิบสำหรับน้ำประปาที่ประชาชนในอุปโภคบริโภค มีประชาชนที่พึ่งพาน้ำจากแม่น้ำกกประมาณ 1.2 ล้านคน เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการเกษตร และเป็นแหล่งรายได้ของประชาชนหลายหมื่นครอบครัว
เนื้อหาในจดหมายยังระบุว่า บริเวณต้นแม่น้ำกกและแม่น้ำสายมีการทำเหมืองแร่อย่างมากมายโดยเปิดหน้าดินอย่างกว้างขวางสามารถเห็นได้จาก google earth ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (ปี 2566) ระบุว่า พื้นที่ชายแดนภาคเหนือมีจุดเสี่ยงจากเหมืองแร่ฝั่งเมียนมา 14 จุด โดย 5 จุด อยู่ใกล้แม่น้ำที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทย จนบัดนี้ยังไม่พบว่ามีการแก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้อย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ซึ่งรายงานของ World Health Organization (WHO) ระบุว่าการได้รับสารไซยาไนด์ในปริมาณ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว สามารถก่อผลกระทบทางสุขภาพได้ในระยะยาว
“เมื่อเดือนกันยายน 2567 ประชาชนลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย ได้เผชิญหายนะจากน้ำหลากท่วมและโคลนถล่มอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต สร้างความเสียหายรุนแรงและกว้างขวาง หลายครอบครัวต้องสูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย อาชีพ โดยที่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุม ที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้เราเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนก็จะเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนยังไม่เห็นมาตรการของรัฐในการรับมือและป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในเร็ววันนี้”จดหมาย ระบุ
เนื้อหาในจดหมายยังระบุว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ 1. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในจังหวัดเชียงราย
2. เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ 3. สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมาหรือกองกำลังที่ดูแลในพื้นที่ เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้ง พื้นที่ต้นน้ำ ก่อนเหมืองในรัฐฉาน
4. สร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน 5. ขยายขอบเขตการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการลุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย
6. เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ
ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าวว่า ปัญหาสารหนูปนเปื้อนน้ำกกและแม่น้ำสายเป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดน หมายความว่ามีแหล่งกำเนิดสารพิษในประเทศหนึ่งคือพม่า ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบกับประเทศอื่นซึ่งคือประเทศไทย โดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ว่าต้องทำการพูดคุยกับประเทศเมียนมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะมีการประชุมกับ พล.อ.มิน อ่อง หลาย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าในประเทศไทยในวันนี้ คุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรใช้โอกาสอันดีนี้พูดคุยกับผู้นำทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้เพื่อนบ้านได้เข้าใจถึงการทำเหมืองแร่ในเขตแดนประเทศเมียนมาที่เป็นสาเหตุทำให้สารโลหะหนักปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย”ดร.สืบสกุล กล่าว
อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องใช้แนวคิดการทูตสิ่งแวดล้อมสร้างความร่วมมือแก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด นอกจากนี้ต้องเสนอให้เมียนมาและมาเลเซียเข้าใจด้วยว่า เหมืองแร่อยู่ในเขตควบคุมของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่การเจรจาสันติภาพในเมียนมา ต้องหยิบยกเอาประเด็นมลพิษข้ามพรมแดนเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาด้วย
น.ส.เพียงพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) และผู้อำนวยการฝ่ายรณรงรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า ทั้งแม่น้ำกกและแม่น้ำสายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยมีต้นน้ำอยู่ในเขตรัฐฉาน ประเทศพม่า การสร้างเหมืองทองที่บริเวณต้นน้ำ ทำให้ประชาชนและระบบนิเวศท้ายน้ำซึ่งอยู่ในประเทศไทยได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งหาทางยุติการทำเหมืองและเปิดหน้าดินในวงกว้างให้ได้ เพราะนอกจากส่งผลในเรื่องการปนเปื้อนสารโลหะหนักลงแม่น้ำแล้ว ยังส่งผลต่ออุทกภัยที่มีดินโคลนปนมาด้วย กลายเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่คนท้ายน้ำต้องเผชิญและหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา
“ทุกวันนี้ทางการสั่งห้ามชาวบ้านสัมผัสน้ำในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องอุปโภคบริโภคน้ำประปาที่ผลิตจากน้ำดิบในแม่น้ำกก แม้ว่าการประปาภูมิภาคจะบอกว่ามีคุณภาพได้มาตรฐาน แต่จริงๆแล้ว ประชาชนผู้บริโภคก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย การที่ทางการตรวจพบสารโลหะหนักปนเปื้อน พร้อมประกาศห้ามประชาชนทำกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับน้ำกกและน้ำสาย แต่กลับไม่ได้พูดให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขที่ต้นตอได้อย่างไร มิต้องพูดถึงนิเวศลุ่มน้ำที่เสียหายอย่างหนัก” น.ส.เพียรพร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี