แรงงานบุกทำเนียบฯเรียกร้องรัฐบาลปรับค่าแรง 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หลังจากเสนอมาหลายปีแต่ไม่ได้ พร้อมยื่น 7 ข้อเสนอเร่งด่วน หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กำจัดทุนผูกขาด ยันไม่เอากาสิโน
เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2568เพื่อเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนเคลื่อนขบวนได้ร่วมกันวางดอกไม้และยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มในเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สะท้อนถึงปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงการคัดค้านกาสิโน ต่อมาเมื่อขบวนฯ เดินทางมาถึงบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำค้อนโฟมทุบโมเดลกาสิโน และโมเดลถังแก๊ส แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับกาสิโน และสะท้อนปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้นในปัจจุบันแต่ค่าแรงไม่พอจ่าย
จากนั้นเวลาประมาณ11.40 น.นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์พร้อมข้อเรียกร้องเร่งด่วน 7 ข้อ และข้อเรียกร้องที่เป็นข้อเสนอเดิมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 15 ข้อ ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
นายมานพ กล่าวถึงข้อเรียกร้องเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.ขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์2.หยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกหลักของรัฐในการทำหน้าที่จัดบริการสาธารณะด้านต่างๆ ให้กับประชาชน 3.รัฐต้องเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน พ.ศ.2524 4.รัฐต้องวางมาตรการที่เข้มข้นเพื่อหยุดการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ รวมถึงเพิ่มกลไกการตรวจสอบประกันสังคมกรณีการจัดซื้อตึก และการใช้เงินที่อาจผิดวัตถุประสงค์ของผู้ประกันตน 5.รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมสถานประกอบการของคนไทยให้มีความเข้มแข็ง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และค่าจ้าง ที่เป็นธรรม ต้องเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองเกี่ยวกับการลงทุนของกลุ่มทุน ทั้งทุนเทา ทุนดำ นอมินี ทั้งทุนในประเทศ และที่มาจากต่างประเทศ 6.รัฐต้องเร่งช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากอาคาร สตง.พังถล่มเป็นกรณีเร่งด่วน และ 7.รัฐต้องมีมาตรการในการดำเนินการต่อกลุ่มทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือรัฐ ที่สร้างผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะในกิจการพลังงาน โทรคมนาคม และรัฐควรยกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน
จากนั้นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า หลายเรื่องที่รับไปมีทั้งก้าวหน้า และไม่ก้าวหน้า แต่ยืนยันรัฐบาลฟังเสียงพี่น้องแรงงานมาตลอด และจะได้พูดคุยกันในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกเสียง แม้ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบรัฐบาลก็ตาม
วันเดียวกัน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบาย 400 บาททั่วประเทศว่าจริงๆ ไม่อยากตอบเรื่องนี้เพราะมีโรคเลื่อนมาตลอดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ด้วยเหตุผลของการประชุมร่วม 3 ฝ่ายของคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี บางครั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง หรือฝ่ายภาครัฐก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งการศึกษาเรื่องอะไรต้องตอบสนองทั้ง 3 ฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายนายจ้าง ที่เสียประโยชน์ ฝ่ายลูกจ้างที่อาจไม่ครอบคลุม หรือไม่ได้ดั่งที่คาดหวังทั้งยังต้องตอบสนองหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี