“ธรรมศาสตร์”ประกาศความพร้อมดูแลคนไทยใน“สังคมสูงวัย” ด้วยการบูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายคณะเป็น ONE TU เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนทางด้านบริการวิชาการ-บริการสังคม “อธิการบดี”ยืนยัน มธ.มีของเยอะ งานวิจัยและนวัตกรรมเพียบ อปท.ไหนต้องการให้ซัปพอร์ต-สนใจอยากนำไปต่อยอด ให้ประสานเข้ามาพูดคุยกันผ่าน 4 ศูนย์“ท่าพระจันทร์-รังสัต-พัทยา-ลำปาง”
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศความพร้อมในการเป็นกลไกสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดบริการดูแลประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์สังคมสูงวัย โดยเบื้องต้นหาก อปท. ใดต้องการการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ตลอดจนหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรสุขภาพ สามารถเข้ามาพูดคุยหรือเข้ามาทำความร่วมมือกับ มธ.ได้ ผ่านทั้ง 4 ศูนย์ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ ท่าพระจันทร์ , พื้นที่ จ.ปทุมธานี ณ ศูนย์รังสิต , พื้นที่ จ.ชลบุรี ณ ศูนย์พัทยา และพื้นที่ จ.ลำปาง ณ ศูนย์ลำปาง
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า บทบาทสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันจะอยู่ที่ชุมชนและหน่วยบริการระดับปฐมภูมิเป็นหลัก ซึ่งเป็นแน่นอนว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ดูแลสุขภาพ (Caregiver) อปท.ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น กทม. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่รับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาบริหารจัดการ ตลอดจนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล หากท้องถิ่นใดหรือหน่วยบริการใดต้องการการสนับสนุนทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร ฯลฯ มธ.ยินดีสนับสนุน
“ผมอยากจะเรียนว่าธรรมศาสตร์มีของเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาเรามีการจัดบริการวิชาการ การจัดบริการสังคม การดูแลชุมชนผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งหากของของเราตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ก็อยากให้ท่านลองประสานเข้ามา” อธิการบดี มธ.กล่าว
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน มธ.มีงานวิจัยจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในระดับบุคลากร ระดับสังคม และระดับนโยบาย ซึ่งการจะแปลงงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงนั้น 1.ผู้ประกอบการจะต้องเห็นประโยชน์และมีการติดต่อขอนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการทำเป็นครั้งๆ และจบไป 2.การนำงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะไปพัฒนาต่อ โดยกรณีนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่เป็นผู้ที่มีทรัพยากรมากกว่า และกำหนดนโยบายในการสนับสนุนได้ 3.การที่ อปท.เห็นความสำคัญและต้องการนำงานวิจัยหรือนวัตกรรมไปใช้ดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยในส่วนนี้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และอยู่ในวิสัยที่จะทำงานร่วมกันได้ทันที
“เรามีงานวิจัยและนวัตกรรม ทาง อปท.มีพันธกิจในการดูแลประชาชน ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นกับสถาบันการศึกษาให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้องค์ความรู้หรืองานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ถูกนำไปใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่จริงๆ” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับ อปท.ทำได้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์จัดงานแสดงนวัตกรรมการป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เราก็ได้หารือกับ กทม.ว่า เรามีงานวิจัยและนวัตกรรมประมาณนี้ ถ้า กทม.สนใจเราพร้อมพัฒนาต่อให้ กทม.ก็สนใจและได้จัดสรรงบประมาณมา สุดท้ายงานนี้ก็ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กทม.เหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือที่เกิดขึ้นได้ทันที
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสังคมสูงวัยในอีก 10 - 15 ปีข้างหน้า ที่สัดส่วนประชากรสูงวัยในประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดกันอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลปัจจุบัน แต่ต้องแผนระยะยาวในการขับเคลื่อน ที่ผ่านมาเรามีการพูดกันถึงประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คำถามคือในยุทธศาสตร์เรามีพูดเรื่องพวกนี้มากเพียงใด ถ้ายังไม่พูดก็ควรต้องพูดและต้องทำตามที่เขียนเอาไว้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี