ผ่านพ้นไปแล้วกับการประกาศผล “รางวัลนวัตกรรมภาครัฐยอดเยี่ยมแห่งเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2568” หรือ “Gov Award 2025” จากนิตยสารกอฟมีเดีย (Gov Media Magazine) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อระดับนานาชาติ ในเครือชาร์ลส์มีเดียกรุ๊ป ที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งมี 2 โครงการที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลด้วย
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. เปิดเผยว่า “โครงการวิจัยแก้ปัญหาความยากจน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” ซึ่ง บพท. ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ ที่มีปัญหาความยากจนกระจุกตัวในระดับสูง และ “โครงการวิจัยบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” ซึ่ง บพท. ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย และเทศบาลนคร เทศบาลเมือง จำนวน 18 เมืองทั่วประเทศ เป็น 2 โครงการที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
“เกณฑ์ในการพิจารณาของคณะกรรมการตัดสิน จะตรวจสอบครอบคลุม 5 ประเด็นคือ 1.หลักการเหตุผลความเป็นมาของโครงการวิจัย 2.ความเป็นนวัตกรรมต้นแบบ ที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และกระบวนการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม 3.ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย 4.ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อองค์กร ชุมชน และภาคีเครือข่าย และ 5.เป็นนวัตกรรมที่มีความเป็นพลวัตร ยืดหยุ่นไปได้กับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งโครงการวิจัยแก้ปัญหาความยากจน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และโครงการวิจัยบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ สามารถสอบผ่านการตรวจสอบได้อย่างครบถ้วน” ดร.กิตติ กล่าว
สำหรับโครงการวิจัยแก้ปัญหาความยากจน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ มุ่งมั่นยุติความยากจนทุกรูปแบบ ยุติความหิวโหย และสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nation Sustainable Development Goals -UN-SDGs) ซึ่ง บพท. ร่วมกับ 18 มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยานราธิวาสราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัย ราชภัฏลำปาง วิทยาลัยชุมชนยโสธร วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร สถาบันวิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ดำเนินโครงการใน 20 จังหวัดนำร่องได้แก่กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ สกลนคร ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร มุกดาหาร ชัยนาท แม่ฮ่องสอน ปัตตานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย พัทลุง ยะลา นราธิวาส พิษณุโลก และลำปาง
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เป็นรูปธรรมจากโครงการวิจัยแก้ปัญหาความยากจนฯ คือ 1.ทำให้ครัวเรือนคนจนกลุ่มเป้าหมายมีทักษะอาชีพ แสวงหารายได้พึ่งพาตัวเองได้ 2.ครัวเรือนคนจนกลุ่มเป้าหมายมีรายได้ดีขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 3.เกิดวิสาหกิจชุมชน 4.เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชน 5.เกิดกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อขจัดความยากจน 6.เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะซึ่งถูกทิ้งร้าง ในการทำเกษตรแปลงรวม และ 7.ชุมชนเข้มแข็ง และ 8).สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ส่วนโครงการวิจัยบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการ เพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บพท. สมาคมเทศบาลนครและเมือง กับ 12 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
ดำเนินโครงการใน 18 พื้นที่ 18 เมืองนำร่อง ได้แก่ เทศบาลเมืองลำพูน-พนัสนิคม-ทุ่งสง-ศรีสะเกษ-กาฬสินธ์ุ-ร้อยเอ็ด-สระบุรี-แพร่-ชุมพร–นครสวรรค์-แม่เหียะ และเทศบาลนครนนทบุรี-ปากเกร็ด-สกลนคร-เชียงราย-พิษณุโลก-ลำปาง-นครศรีธรรมราช ทั้งนี้โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ ผ่านกระบวนการบ่มเพาะองค์ความรู้ ด้วยชุดความรู้ที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และบริบทสังคม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาเมือง โดยยึดหลักการพัฒนาเมืองอย่างสมดุลและยั่งยืน
เน้นการขับเคลื่อนและผลักดันโครงการวิจัยในระดับเทศบาลเมืองและเทศบาลนครให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญคือ 1.การใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง 2.การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กันการพัฒนาสังคม 3.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคเอกชน 4.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
หมายเหตุ : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี