วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
‘กักกัน’แตกต่างกับ‘จำคุก’ แนะแยก2กลุ่มออกจากกันให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

‘กักกัน’แตกต่างกับ‘จำคุก’ แนะแยก2กลุ่มออกจากกันให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

วันพุธ ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 18.02 น.
Tag : กสม กักกัน จำคุก สิทธิมนุษยชน
  •  

9 ก.ค. 2568 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า กสม. ได้พิจารณากรณีสถานกักกันนครปฐมนำผู้ถูกกักกันไปควบคุมปะปนกับผู้ต้องขังของเรือนจำกลางนครปฐม ทำให้ผู้ถูกกักกันไม่ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย การศึกษา และฝึกหัดอาชีพ โดยที่การกักกันเป็นวิธีการควบคุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดติดเป็นนิสัยภายหลังจากรับโทษทางอาญาแล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา

การกักกันจึงไม่ใช่โทษและมีความแตกต่างกับการลงโทษทางอาญา เมื่อวัตถุประสงค์ของการกักกันและการลงโทษมีความแตกต่างกัน สถานกักกันจึงควรมีความเหมาะสมในการเอื้ออำนวยสำหรับปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยของผู้ถูกกักกันไม่ให้หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก หากยังคงใช้สถานที่และวิธีการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างจากการจำคุกก็ย่อมเสมือนกับการลงโทษบุคคลซ้ำจากการกระทำความผิดครั้งเดียว และไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน


ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น กสม. เห็นว่า การดำเนินวิธีการกักกันอาจไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะ โดยได้พิจารณาข้อเท็จจริง ความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เอกสารทางวิชาการ หลักกฎหมาย มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566

กำหนดความหมายของการกักกันและวิธีการฟื้นฟูผู้ถูกกักกันว่า การกักกันเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยสำหรับควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนดเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ พัฒนาพฤตินิสัย และฝึกหัดอาชีพ โดยผู้ถูกกักกันต้องได้รับการศึกษาตามอัธยาศัย มีการอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรม กิจกรรมสันทนาการ และได้รับการฝึกวิชาตามความถนัดและความต้องการของตลาดแรงงาน การกักกันจึงเป็นวิธีการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมด้วยการนำตัวบุคคลที่พ้นโทษแล้วไปควบคุมในสถานที่ที่กำหนดซึ่งไม่ใช่เรือนจำ และไม่ให้ปฏิบัติเช่นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาพฤติกรรมบุคคลดังกล่าวก่อนที่จะปล่อยตัวกลับสู่สังคม

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานกักกันตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 เพียงแห่งเดียว คือ สถานกักกันนครปฐม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับเรือนจำกลางนครปฐม ส่งผลให้ขาดความเหมาะสมในการฝึกอาชีพและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ถูกกักกัน อีกทั้งยังไม่มีพื้นที่แยกชาย - หญิงอย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ถูกกักกันหญิงรวมกับผู้ต้องขังหญิงของเรือนจำกลางนครปฐม โดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งการประกอบอาหาร และการรักษาพยาบาล ร่วมกับเรือนจำ

และเมื่อสถานกักกันนครปฐมอยู่ภายในเรือนจำกลางนครปฐม กฎเกณฑ์และระเบียบของเรือนจำ เช่น การเยี่ยมญาติ การเข้าออกเรือนนอน ก็ถูกนำมาใช้บังคับกับผู้ถูกกักกันเช่นเดียวกันด้วย อีกทั้งอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของสถานกักกันนครปฐมที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 15 คน ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ส่วนราชการอื่น โดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานกักกันนครปฐมเพียง 3 คน รวมผู้อำนวยการ

เป็นเหตุให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางนครปฐมในการช่วยเหลือสนับสนุนดูแลผู้ถูกกักกันด้วย การดำเนินการดังกล่าวของกรมราชทัณฑ์จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์และการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกันเสมือนเป็นนักโทษประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ว่าสถานที่สำหรับควบคุมผู้ต้องขังกับผู้ถูกกักกัน รวมถึงวิธีปฏิบัติต้องมีความแตกต่างกัน

ในภายหลัง แม้กระทรวงยุติธรรมจะมีประกาศ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2563 กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวทัพหลวง ที่ตำบลทัพหลวง จังหวัดนครปฐม สำหรับดำเนินการอบรม ฝึกวิชาชีพแก่ผู้ต้องขัง และมีแนวคิดที่จะแยกระหว่างสถานกักกันและเรือนจำออกจากกัน จึงได้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมา แต่ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และการบริหารจัดการทรัพยากรของกรมราชทัณฑ์จึงมุ่งที่ผู้ต้องขังเป็นหลัก ทำให้การแยกสถานกักกันนครปฐมออกจากเรือนจำกลางนครปฐมยังไม่อาจดำเนินการได้

ต่อมากระทรวงยุติธรรม ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 กำหนดสถานกักกันกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการคุมขังผู้ถูกกักกันตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 และผู้พ้นโทษหรือผู้ถูกเฝ้าระวังตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง แม้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนการย้ายผู้ถูกกักกันมายังสถานกักกันกลางกรุงเทพมหานคร แต่ถือได้ว่าเป็นการเริ่มกระบวนการปฏิบัติกับผู้ถูกกักกันเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายว่าด้วยการกักกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 ซึ่งได้บัญญัติขึ้นใช้บังคับเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี โดยไม่มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงนั้น เห็นว่า อาจไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิของผู้ถูกกักกันเมื่อเทียบกับผู้ต้องขังตามคำพิพากษาและผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษ ซึ่งสองกลุ่มหลังหากประพฤติตนดี ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัย จะอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการลดวันต้องโทษ หรือประเมินให้ได้รับการปล่อยตัวก่อนระยะเวลา

ซึ่งแตกต่างจากผู้ถูกกักกันที่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นว่า จึงอาจส่งผลต่อการไม่ปรับปรุงความประพฤติของตัวผู้ถูกกักกันในสถานกักกัน เนื่องจากแม้จะประพฤติตนดีก็ไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากมีการย้ายผู้ถูกกักกันจากสถานกักกันนครปฐมไปรวมอยู่กับผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษ ณ สถานกักกันกลางกรุงเทพมหานคร แม้ผู้ถูกกักกันและผู้ถูกคุมขัง จะมีสถานะและวัตถุประสงค์ในการใช้มาตรการเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของสังคมเช่นเดียวกัน

“แต่เมื่อผู้ถูกกักกันไม่ได้รับสิทธิในการประเมินพฤตินิสัย และพฤติการณ์เช่นเดียวกับผู้ถูกคุมขัง จึงย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งกฎหมายที่ไม่เหมาะสมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประจำสถานกักกันกรุงเทพที่จะต้องบริหารจัดการกลุ่มบุคคลสองกลุ่มที่ถูกควบคุมในสถานที่แห่งเดียวกัน แต่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายที่มีความแตกต่างกัน” นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ พิจารณากำหนดสถานที่สำหรับควบคุมบุคคลแยกตามสถานะตามกฎหมายโดยให้แยกระหว่างผู้ถูกกักกันตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510

และผู้ถูกควบคุมตัวภายหลังพ้นโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการบริหารจัดการสถานกักกัน โดยให้ย้ายอัตรากำลังที่ได้รับการจัดสรรให้ปฏิบัติราชการประจำสถานกักกัน ซึ่งไปปฏิบัติราชการ ในหน่วยงานอื่นของกรมราชทัณฑ์ ให้กลับมาปฏิบัติงานที่สถานกักกัน

รวมทั้งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมคุมประพฤติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดหน่วยงานหรือกลไกที่มีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงในการกระทำความผิดของจำเลย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของพนักงานอัยการในการยื่นฟ้องและขอให้ศาลใช้วิธีการกักกัน

ซึ่งจะสามารถสนับสนุนให้การดำเนินการเพื่อกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วยการกักกันมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ให้สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกันอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2510  และระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566

ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด มีข้อเสนอแนะให้ใช้ข้อมูลตามข้อเสนอแนะฉบับนี้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกอบการใช้ดุลยพินิจของศาลและพนักงานอัยการในการกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วยการกักกัน ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ให้สำนักงานกิจการยุติธรรมใช้ข้อมูลตามข้อเสนอแนะฉบับนี้เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติเพื่อพิจารณาและเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้จัดสรรงบประมาณที่จำเป็นแก่กระทรวงยุติธรรมในการจัดหาและปรับปรุงสถานที่สำหรับเป็นสถานกักกัน รวมถึงงบประมาณสำหรับการจัดสรรอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย กสม. มีข้อเสนอให้กระทรวงยุติธรรมออกกฎระเบียบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ถูกกักกันโดยต้องไม่น้อยกว่าสิทธิของผู้ต้องขังที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562  และหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2510 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยพิจารณาแนวทางตามพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 เช่น การกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมของมาตรการภายหลังการกักกัน การกำหนดวิธีการสำหรับศาลใช้ในการพิจารณาก่อนมีคำสั่งให้กักกัน การกำหนดให้มีหน่วยงานทำหน้าที่จัดทำรายงานผลการพัฒนาพฤตินิสัยภายหลังการกักกัน เป็นต้น

043...

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ศาลฎีกาสั่งจำคุก  ร็อกดัง‘เสก โลโซ’  โทษหนัก2ปี12เดือน  ยาเสพติด-อาวุธปืน ศาลฎีกาสั่งจำคุก ร็อกดัง‘เสก โลโซ’ โทษหนัก2ปี12เดือน ยาเสพติด-อาวุธปืน
  • กสม.ประณาม!! เหตุยิงสามเณรมรณภาพพื้นที่\'สะบ้าย้อย\' กสม.ประณาม!! เหตุยิงสามเณรมรณภาพพื้นที่'สะบ้าย้อย'
  • ย้อนศร‘สตง.’ ‘​กสม.’บี้รับการตรวจสอบเข้มข้น เหมือนที่ไล่เช็คบิลหน่วยงานอื่น ย้อนศร‘สตง.’ ‘​กสม.’บี้รับการตรวจสอบเข้มข้น เหมือนที่ไล่เช็คบิลหน่วยงานอื่น
  • ‘สนธิญา’บุกยธ.ให้กำลังใจผู้คุมคุก เมินกระแส‘นักสิทธิมนุษยชน’ลั่นอย่าทำผิดกฎหมายก็จบ ‘สนธิญา’บุกยธ.ให้กำลังใจผู้คุมคุก เมินกระแส‘นักสิทธิมนุษยชน’ลั่นอย่าทำผิดกฎหมายก็จบ
  • ทำผิดแต่มาร้องขอความเป็นมนุษย์? ‘สนธิญา’บ่นรำคาญเรื่อง‘ผกก.โจ้’ เตรียมให้กำลังใจผู้คุมคุก ทำผิดแต่มาร้องขอความเป็นมนุษย์? ‘สนธิญา’บ่นรำคาญเรื่อง‘ผกก.โจ้’ เตรียมให้กำลังใจผู้คุมคุก
  • คดี‘ผกก.โจ้’การสอบสวนต้องโปร่งใส ย้ำหลักสากลเรือนจำต้องรับประกันความปลอดภัยผู้ต้องขัง คดี‘ผกก.โจ้’การสอบสวนต้องโปร่งใส ย้ำหลักสากลเรือนจำต้องรับประกันความปลอดภัยผู้ต้องขัง
  •  

Breaking News

ฝนตกหนักถนนลื่น! เก๋งเสียหลักตกถนนสายน่าน-ร้องกวางบาดเจ็บ

‘พัทลุง’สลด! พบศพผัวเมียรับซื้อน้ำยาง ถูกยิงดับคู่ในบ้าน ตร.คาดทะเลาะกัน

เชียงรายอ่วม!ฝนหนักทำน้ำท่วม 15 อำเภอ ปภ.เร่งสำรวจความเสียหายช่วย ปชช.

ยิปซีพยากรณ์ดวงรายวัน ประจำวันเสาร์ที่ 12 ก.ค.68

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved