การออกใบกำกับภาษีปลอมของบริษัท ห้างร้านต่างๆ เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาครัฐ ที่ควรจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
กรณีที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่อาศัยช่องวางทางกฎหมายในประเทศไทย
ที่ผ่านมา มักจะพบว่ามีบริษัทหลายแห่ง สมคบคิดกันตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้า แล้วจัดทำใบกำกับภาษีปลอมเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษี หรือการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยมิชอบตามกฎหมาย
เมื่อไม่นานมานี้ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ.จับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ในความผิดฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออกเอกสารดังกล่าว หลังจากทางตำรวจ บก.ปอศ.ร่วมกับกรมสรรพากร ตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.อุตรดิตถ์ ที่ประกอบการธุรกิจรีไซเคิล แต่พบพฤติการณ์ออกใบกำกับภาษี 1,012 ฉบับ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เชื่อมโยงกับการออกให้บริษัทรีไซเคิลขยะ ซึ่งมี น.ส.สาริสา เป็นกรรมการผู้จัดการ แต่จากการตรวจสอบสถานที่ตั้งบริษัทใน จ.ปทุมธานี กลับไม่พบว่ามีการประกอบกิจการจริง โดยการกระทำของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว สร้างความเสียหายต่อรัฐ กว่า 333 ล้านบาท
อีกรายเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร บูรณาการร่วมกับตำรวจ บก.ปอท.นำกำลังกว่า 127 นาย เปิดปฏิบัติ ‘ปิดเกมส์กลโกงภาษี’ หรือ Anti Tax Fraud Operation เข้าตรวจค้นสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกและใช้ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 14 แห่ง จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา 10 ราย ใน จ.ตาก เชียงใหม่ และ กทม.
ทั้งนี้ เนื่องจากพบการออกใบกำกับภาษีระหว่างกันในกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างยอดขายและยอดซื้อโดยไม่ได้มีการประกอบการจริง และจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นเพื่อกิจการส่งออก ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ได้มีการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ผู้กระทำความผิดมีความสัมพันธ์ทั้งในลักษณะเป็นเครือญาติ เพื่อน นายจ้างและลูกจ้าง แบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมาก รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา เราจะพบลักษณะของการปลอมใบกำกับภาษี หรือการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายกันจริง บริษัทที่สร้างเอกสารขึ้นมาเพื่อแสดงรายการสินค้า/บริการ ที่ไม่มีอยู่จริง เพื่อเพิ่มภาระภาษีการซื้อและลดภาษีการขาย บางครั้งก็ใช้ชื่อบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือเลิกกิจการแล้ว หรือไม่ได้ประกอบกิจการจริง เป็นความร่วมมือกันเพื่อออกเอกสารเท็จ
นอกจากนี้ ก็ยังมีหลายแห่งที่ใช้บริษัทในเครือ ออกใบกำกับภาษีหมุนเวียน ให้ดูเหมือนมีธุรกรรมจริง เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งใช้เอกสารปลอมในการขอคืนภาษีจากกรมสรรพากร
กรณีดังกล่าวจริงแล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แต่อาจเป็นเพราะความหละหลวม หรือการอาศัยช่องว่างช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ ซึ่งควรได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนมหาศาล เรื่องนี้จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างบริษัทที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง กับบริษัทที่มีเจตนาโกงภาษี
ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหา รัฐต้องมีมาตรการปรับปรุงระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ให้ครอบคลุมและบังคับใช้เต็มรูปแบบ
ลดการใช้ใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ ที่ปลอมแปลงได้ง่าย ใช้ระบบบล็อกเชน หรือระบบการตรวจสอบแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันการปลอมแปลง เพิ่มโทษและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ให้มีการปรับหรือโทษทางแพ่ง และความผิดอาญา ที่รุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่กระทำความผิด เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ สนับสนุนให้บริษัทเอกชน เข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ
ให้แรงจูงใจด้านภาษีสำหรับบริษัทที่ใช้ระบบ e-Tax อย่างถูกต้อง
ส่งเสริมการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นอกจากนี้ต้องมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาษี และสร้างจิตสำนึกที่ดีในการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี