เปิดเวทีรับฟังเสียงชาวแม่สาย หลังเผชิญสารพิษในน้ำสูงลิ่ว นายกเล็กเสนอให้ท้องถิ่นเข้าถึงการตรวจ ขณะที่เกษตรกรผู้ใช้น้ำวิตกผลกระทบ
วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 นายทองคำ อินพรม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาสารโลหะหนักปนเปื้อนในแม่น้ำสาย ว่าปัจจุบันยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนต่อชาวบ้านและแปลงเกษตร แต่เกษตรกรมีความกังวลว่าหากต่อไปน้ำสายยังปนเปื้อนโลหะหนักจะส่งผลต่อน้ำทำการเกษตรจะทำให้พืชผลขายไม่ได้
“กลุ่มผู้ใช้น้ำอยากเสนอให้ทางอำเภอแม่สาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแหล่งน้ำอื่นทดแทน เช่น ผันน้ำคำมาใช้ในพื้นที่เกษตร ซึ่งตำบลศรีเมืองชุมใช้น้ำจากแม่น้ำสายโดยตรงประมาณ 80% ใช้น้ำจากแม่น้ำมะ 20% มีความกังวลในเรื่องผลกระทบจากการการปนเปื้อน จึงอยากให้หน่วยงานมาให้ข้อมูลและคำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรที่ใช้น้ำแม่น้ำสาย” นายทอกคำ กล่าว
นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย กล่าวว่าการดูแลผลกระทบจากภาวะปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่ ต้องพูดตรงๆ ว่าท้องถิ่นไม่มีศักยภาพในการตรวจสอบน้ำ ไม่รู้ว่าการตรวจสอบที่ต้องใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์จะเสร็จมีค่าใช้จ่ายตรงไหน ตรวจสอบอย่างไร ซึ่งถ้าส่วนกลางสามารถส่งเจ้าหน้าที่มาช่วย หรือให้ท้องถิ่นสามารถเข้าถึงการตรวจสอบได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในระยะยาว สำหรับการที่ส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางมาประจำอยู่ทุกวันมีค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักอาหาร ฯลฯ แต่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้สามารถตั้งศูนย์ตรวจสอบน้ำได้เองจะทำให้เราสามารถตรวจสอบน้ำได้ทุกวัน
นายกเทศมนตรีตำบลแม่สายกล่าวว่า เชื่อว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นที่เห็นค่า (สารโลหะหนัก) ในน้ำขึ้นแล้วเราจะต้องแก้ไขกันได้ แต่เป็นการสะสมระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นทางอาหาร ผลไม้ พืชไร่ พืชสวน ที่ใช้ระบบชลประทานของ อ.แม่สาย หล่อเลี้ยง อ.แม่สาย ทั้งหมด เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ต้องศึกษาระยะยาวว่า จะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไร
“ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานเกษตร ฯลฯ ไม่มีศักยภาพในการตรวจสอบตรงนี้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้เกษตรอำเภอจะเตือนประชาชน แต่ประชาชนก็จะถามว่าพวกคุณเอาข้อมูลตรงไหนมา เกษตรอำเภอไม่มีศักยภาพไปตรวจน้ำ เพราะฉะนั้นต้องใช้หน่วยงานอื่นมาจัดการตรงนี้ ผมเชื่อว่ายังไงท้องถิ่นต้องเข้าถึงการตรวจสอบและการเก็บบันทึกข้อมูล การเก็บสถิติตรงนี้ให้ได้ก่อน” นายกเทศมนตรีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลเรื่องผลกระทบสารปนเปื้อนโลหะหนักในห่วงโซ่อาหารแค่ไหน นายชัยยนต์กล่าวว่าตนเองก็ไม่ซื้อข้าวในแม่สายกิน ส่วนน้ำก็ซื้อน้ำบรรจุขวด แต่ชาวบ้านที่ไม่มีศักยภาพซื้อได้ก็จะมีความเสี่ยงสูง เพราะคนที่ใช้น้ำดิบ น้ำผิวดิน มีทั้งที่ต้มและไม่ได้ต้ม ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ว่าเขาจะปลอดภัยไม่ปลอดภัยขนาดไหน อย่างไรก็ตาม น้ำประปาเราเชื่อมั่นได้ แต่ต้องมองมุมกลับว่าน้ำประปาปลอดภัย แต่เราใช้สารเคมี ในการบำบัดน้ำประปาสูงที่สุดในประเทศไทย แล้วความปลอดภัยในอนาคตจะเป็นอย่างไร
สำหรับแหล่งน้ำดิบ ล่าสุดเห็นว่าจะใช้น้ำดิบจากแม่น้ำโขง แล้วบางส่วนจะมาจากเกาะช้าง น้ำรวก ซึ่งแม่น้ำทั้งสองแหล่งก็ปนเปื้อนสารโลหะเช่นกัน จึงไม่รู้ว่าจะมีแหล่งน้ำดิบที่ดีกว่าในอนาคตหรือไม่
ด้าน ร.ต.อ.เด่นวุฒิ จันต๊ะขัติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้าง อ.แม่สาย กล่าวว่าปัจจุบันชาวประมงหาปลามาได้ แต่ขายไม่ได้ เพราะเชื่อว่าจะกระทบต่อสุขภาพ เกิดความวิตกกังวล คนไม่กิน ปลาจากแม่น้ำสาย แม่น้ำรวก ไม่มีการซื้อขายปลาจากแม่น้ำเลย ชาวบ้านกินปลาจากบ่อเลี้ยง
“เรากำลังพยายามขับเคลื่อนการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ตอนนี้กำลังคุยกับนายก อปท. แต่ละตำบลในอำเภอแม่สาย จะทำ MOU กัน หาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในอำเภอแม่สาย ว่าจะผันจากน้ำคำมาใช้ในพื้นที่อำเภอแม่สาย เราตระหนักว่าปัญหาแม่น้ำสายคงแก้ได้ยากพอสมควร” นายกอบต.กล่าว
นส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และ International Rivers กล่าวว่าในวันที่ 16 กรกฎาคม จะมีการจัดเวที “ฟังเสียงประชาชนลุ่มน้ำสาย รวก โขง ผลกระทบจากสายน้ำปนเปื้อน-เหมืองแร่ที่ต้นน้ำ” ในเวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแม่สาย โดยได้เชิญชาวบ้านริมแม่น้ำสาย รวก ผู้ประกอบการ เกษตรกร แม่บ้าน ผู้ใช้น้ำชลประทาน และชาวบ้านริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน ร่วมรับฟังปัญหาและเสนอแนะทางออกโดย นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผศ.ดร.ภาณุภัทร์ จิตต์เที่ยง ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เปิดงาน
นส.เพียรพรกล่าวว่า สถานการณ์การปนเปื้อนในแม่น้ำสายน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณต้นแม่น้ำสายได้มีการทำเหมืองแร่มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ที่สำคัญคือในบางเหมืองทำกันกลางแม่น้ำ ทำให้ค่าสารโลหะหนักในแม่น้ำสายสูงลิ่ว และในน้ำท่วมเมื่อเดือนกันยายน 2567 จึงมีดินโคลนจำนวนมากทะลักมากับสายน้ำ และจากการตรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า ดินโคลนเหล่านั้นมีสารโลหะหนักเกินมาตรฐาน ที่น่าเป็นห่วงคือไม่มีใครแจ้งเตือนเรื่องนี้ให้ประชาชนได้รับทราบเลย ขณะที่เสียงของชาวแม่สายยังออกสู่สาธารณชนน้อยมาก ดังนั้นจึงควรมีการรับฟังอย่างจริงจังเพื่อนำไปเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี