‘คลัง’รับสั่ง8แบงก์รัฐ
อัด3แสนล.
ปล่อยกู้ปลุกเศรษฐกิจ
ประจินเร่งปลดล็อกBOI
กระตุ้นลงทุน7แสนล้าน
ดึงชัชชาติถกรถไฟรางคู่
แบะท่ารื้อแผน2ล้านล้าน
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่กระทรวงอุตสาหกรรม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือมาตรการ นโยบายภาพรวมของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นและระยะยาว
เร่งปลดล็อกBOIลงทุน7แสนล.
ภายหลังการหารือ พล.อ.อ.ประจินแถลงว่า ที่ประชุมหารือถึงโครงการเร่งด่วน โดยเฉพาะการสรรหาประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่สามารถเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้ในวันที่ 4 มิถุนายน โดยนโยบายการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ขณะนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นบอร์ดสำคัญไว้ 3 ประเด็นคือ 1.ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถงานด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ 2.ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาของกิจการนั้นๆ 3.ต้องมีความรู้ความสามารถของงานต่างๆแต่ละหน่วยงาน คาดจะสรุปแต่งตั้งบอร์ดได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ค้างอยู่ 700 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 700,000 ล้านบาท เมื่อสามารถแต่งตั้งประธานบอร์ดบีโอไอได้แล้ว คาดจะใช้เวลาพิจารณาทั้งหมดไม่เกิน 2 เดือน
ลดขั้นตอนขอรง.4เหลือ30วัน
หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่ขณะนี้กระทรวงฯได้ปรับลดขั้นตอนจาก 90 วันให้แล้วเสร็จไม่เกิน 30 วัน โดยให้เร่งอนุมัติโรงงานที่ค้างพิจารณา รง.4 จำนวน 200 แห่งโดยเร็ว โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซล่าร์รูฟท็อป) ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งเบื้องต้นสั่งให้บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งมี 2 งานเร่งด่วนคือ การพิจารณา รง.4 โครงการโซลารูฟท็อปและโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ซึ่งโครงการที่มีขนาดไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์หรือ 1 เมกะวัตต์ ไม่ต้องเข้าหลักเกณฑ์การเป็นโรงงาน และไม่ต้องขอ รง.4
สำหรับเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า หัวหน้า คสช.มอบหมายให้เพิ่มการพัฒนาอุตสาหกรรมรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเข้าไปด้วย พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีแผนงาน 5 ยุทธศาสตร์และ 10 แผนงานสำคัญ เช่น พัฒนาเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสีเขียว
สั่ง8แบงก์รัฐปล่อยกู้3แสนล.
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หลังผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง หารือร่วมกับพล.อ.อ.ประจินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเร่งด่วนสูง ที่พร้อมดำเนินการในส่วนมาตรการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงเดือนมิถุนายน 2557-ธันวาคม 2558 ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองช่วงที่ผ่านมา รวม 11 มาตรการ จาก 8 สถาบันการเงินของรัฐ คิดเป็นวงเงินทั้งหมด 343,600 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือได้ 140,000 ราย
สำหรับมาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบด้วย 1.ธนาคารออมสิน ในโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีสุขใจ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้สินเชื่อระยะสั้น-ยาว วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ปล่อยกู้ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ที่ MLR-1 ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 10,000 ราย 2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) โครงการเพิ่มสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 25,000 ล้านบาท จำนวน 63,500 ราย สินเชื่อวิสาหกิจชุมชนวงเงิน 7,500 ล้านบาท จำนวน 10,437 กลุ่มวิสาหกิจ สินเชื่อผู้ประกอบการ 3,400 ล้านบาท และสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก 30,000 ล้านบาท จำนวน 30,000 ราย
3.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โครงการขยายสินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต 2 วงเงิน 3,000 ล้านบาท รวม 1,200 ราย โครงการสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม 5,000 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการ 600 ราย และมาตรการป้องกันหนี้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย โดยพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือนและเพิ่มวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน
4.ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โครงการขยายสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ธสน. 10,000 ล้านบาท ให้ผู้ส่งออก 22,000 ราย 5.บรรษัทประกันสินเชื่อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาตรการจ่ายค่าธรรมเนี้ยมค้ำประกันแทนเอสเอ็มอีปีแรก (PGS5) วงเงิน 119,000 ล้านบาท และของบชดเชย 1,224 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 15,000 ราย มาตรการให้ความช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอี 5,000 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโอท็อป 10,000 ล้านบาท และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 6 เดือน
6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โครงการเอสเอ็มอีฮาลาลเทรด วงเงิน 2,000 ล้านบาท ลูกค้ารายใหม่ 40 ราย โครงการสินเชื่อมาตรฐานเฟร็คซี่แอนด์ชัวร์ วงเงิน 4,800 ล้านบาท มาตรการแคมเปญสินเชื่อบุคคล 4 โครงการ วงเงิน 800 ล้านบาท 7.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โครงการสินเชื่อเพิ่มสุขสำหรับลูกหนี้ประวัติดี ปล่อยกู้เพิ่มรายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน/ราย และโครงการอื่นๆอีก 14 โครงการ และ8.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้า บตท.โดยใช้นโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และออกมาตราการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า มาตรการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในวงเงิน 343,600 ล้านบาทนั้น จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี 2557 และทั้งปี 2558 รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 โดยคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.8-1% เมื่อเทียบกับการเบิกจ่ายงบโครงการจำนำข้าวในปี 2557 ที่จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท ที่กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 0.2%
ที่ประชุมคสช.เร่งสางงบค้างปี57
ด้านพ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษก คสช.แถลงผลประชุม คสช.ติดตามงาน 7 กลุ่มงานถึงโรดแม็พงานด้านเศรษฐกิจว่า ที่ประชุมมุ่งเป้าไปที่งบค้างปี 2557 ที่มีเงื่อนไขติดขัดในข้อกฎหมายของการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งมีปริมาณพอสมควร และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะดำเนินการโครงการทั้งหมด หรือ ชะลอไว้ก่อน คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ถึงจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน และเมื่อแก้ปัญหาในงบปี 2557 ไปแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณางบประมาณปี 2558 ทันที โดยเน้นเหตุผลความจำเป็น และการบริหารงบประมาณ และรายจ่ายประจำปีไม่ติดขัด เพื่อเป็นส่วนในการผลักดันกระตุ้นเศรษฐกิจ
เล็งดึง“ชัชชาติ”ถกยกเครื่องรถไฟ
ส่วนโครงการเงินกู้สองล้านล้านบาทนั้น พ.อ.ณัฐวัฒน์กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ให้ดำเนินการแนวทางเดียวกับกรณีกระทรวงศึกษาธิการ โดยพิจารณาโครงการไหนดีก็ให้เริ่มก่อน เน้นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชนยอมรับ และผ่านการตรวจสอบเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทุกหน่วยงานไม่มีข้อขัดแย้ง ต้องทำประชาพิจารณ์คนที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้ไปดูข้อดีข้อเสีย ทำแล้วคุ้มหรือไม่ การใช้แหล่งเงินทุนมาจากไหน ซึ่งข้อสำคัญคือไม่กระทบวินัยการคลัง การก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจลงทุนร่วมกับเอกชน คาดว่าไม่น่าจะนำเสนอได้ทันภายใน 2 สัปดาห์ แต่โครงการที่จะสานต่ออย่างแน่นอนก็คือรถไฟรางคู่
ส่วนเรื่องงบประมาณที่ใช้นั้น หัวหน้า คสช.ยังไม่ได้ตัวเลข แต่ให้สำนักงบประมาณไปดูว่าจะเอาเงินส่วนไหนมาดำเนินการ รวมทั้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปหาพื้นที่ว่าจะใช้จุดไหนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะดำเนินการในปีนี้ อีกทั้ง จะพัฒนาระบบรถไฟไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มความเร็วให้มากขึ้น ซึ่ง คสช.จะเรียก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม มาพูดคุย เพราะเป็นคนที่มีความรู้
รื้อแผนน้ำฯเน้นแนวทางในหลวง
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ รอง โฆษก คสช.กล่าวว่า คสช.จะไม่นำรูปแบบการบริหารการจัดการน้ำจำนวน 3.5 แสนล้านบาทมาใช้ทั้งหมด แต่จะหยิบยกเป็นบ้างส่วน โดยเน้นไปที่โครงการที่เป็นเบี้ยหัวแตก เช่น การขุดบ่อน้ำหมู่บ้าน ซึ่งถ้าทำทั่วประเทศถึง 4,000 บ่อๆละ 10 ล้านบาท จะใช้เงินจำนวนมาก จะนำมาพิจารณาดูเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งคสช.เน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำ ที่เป็นแนวทางพระราชทานมาดำเนินการ เช่น โครงการแก้มลิง การขุดลอกคูคลอง ให้กรมชลประทานไปดูแล พร้อมทั้งให้ทหารเข้าไปทำ เช่น โครงการขุดบ่อตามหมู่บ้านทั่วประเทศ 4 พันแห่ง แห่งละ 10 ล้านบาท ช่วยในด้านกักเก็บน้ำ และป้องกันน้ำท่วม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี