11 ม.ค.62 ที่ห้องเวทีเยาวชนพรรคเพื่อไทย โดยพรรคเพื่อไทย ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดนโยบาย ในหัวข้อ “นโยบายการศึกษา และเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กและเยาวชน” โดยมี พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเปิดงานการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ การแสดงวิสัยทัศน์เรื่อง การปรับตัวของประเทศไทย เพื่อรองรับเด็กและเยาวชน GenZ โดยดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในหัวข้อ ทิศทางและนโยบายการศึกษาพรรคเพื่อไทย
โดยนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการเสวนาเรื่องการศึกษาที่พรรคเพื่อไทยว่า แนวคิดทำนโยบายการศึกษาของพรรค มุ่งพัฒนาคนให้ทันโลก มีทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่ทิ้งลูกหลานไทยไว้ข้างหลัง โดยนโยบายจะแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กไทยจะยากดีมีจนอยากเรียนต้องได้เรียน 2. ยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกช่วงชั้น ตั้งแต่เด็กอ่อน จนถึงมหาวิทยาลัย และ 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การใช้งบประมาณ และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้โรงเรียน ชุมชน เข้าร่วมจัดการศึกษา
“แนวคิดของพรรคมีเป้าหมายให้คนไทยมีสมรรถนะ และทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน เรียนจบแล้วมีงานทำ โดยเฉพาะอาชีวะศึกษาให้คนเรียนมีฝีมือและทักษะตามที่ตลาดต้องการ พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการศึกษาปฐมวัยหรือเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 8 ขวบ เพราะการศึกษาของเด็กเล็กเปรียบเหมือนเสาเข็มแรกของชีวิต” นายนภดล กล่าว
นายนภดล กล่าวว่า สำหรับแนวคิดเชิงนโยบายบางส่วนที่มีการนำเสนอ เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานการศึกษาไทย เช่น 1. เรียนฟรี 15 ปีต้องฟรีจริง 2. ไม่ทิ้งเด็กไทยไว้ข้างหลัง เด็กจะยากดีมีจนต้องได้เรียนหนังสือสนับสนุนให้แก่นักเรียนที่ออกจากโรงเรียน เพราะยากจนให้เรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนให้เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและพัฒนาอาชีพ
3. แปดปีชี้ทางชีวิต เพิ่มงบประมาณ และให้ความสำคัญการศึกษาปฐมวัย มีมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงอายุแปดขวบ ยกระดับให้มี “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอัจฉริยะ” จำนวน 20,000 แห่ง
4. “เรียนก่อนผ่อนทีหลังเมื่อมีงานทำ” ด้วยกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ ในอนาคต ผ่อนคืนเมื่อมีรายได้
5. “โรงเรียนออนไลน์” คนไทยต้องเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยการเรียนรู้ แบบดิจิทัล ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ด้วยเนื้อหาระดับโลก
6. ปฏิรูปหลักสูตร “หลักสูตรศตวรรษที่ 21 เลิกท่องจำก้าวล้ำคิดสร้างสรรค์”ให้เด็กไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ สร้างสมรรถนะ เลิกการเรียนแบบท่องจำ คนรุ่นใหม่ต้องคิดเป็น แก้ปัญหาได้
7. สอนน้อยลง แต่เก่งมากขึ้น ลดชั่วโมงเรียนทั้งปีลง แต่ไปเรียนรู้ทักษะและฝึกสมรรถนะอนาคตมากขึ้น
8. “เด็กไทยได้สามภาษา” ไทย อังกฤษ จีน พลิกโฉมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้ สามารถสื่อสารได้ตั้งแต่ชั้น ม. 3 ผ่านครูเจ้าของภาษาและแอปพลิเคชั่นฝึกภาษา
9. หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนสองภาษา ไทยและอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาและการ เรียนรู้ให้นักเรียนทั่วประเทศ
10. สร้างครูพันธุ์ใหม่ และ“คืนครูให้ห้องเรียน” เวลาอย่างน้อย 90% ของครู ต้องใช้เพื่อการเรียนการสอน ไม่ใช่ไปทำงานธุรการ
11. เรียนฟรีสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาในสาขาขาดแคลน
12. ศูนย์ฝึกทักษะฝีมืออัจฉริยะ ในทุกภูมิภาคเพื่อฝึกทักษะฝีมือครู นักเรียน ประชาชน
13. “กองทุนอาชีวะสตาร์ทอัพ” เพื่อมีเงินทุนตั้งต้นส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวะไปเป็นผู้ประกอบการ
14. มหาวิทยาลัยให้บริการเรียนรู้ตลอดชีวิต และรองรับสังคมผู้สูงอายุ ฝึกทักษะใหม่ให้คนทำงาน
15. “โรงเรียนของเรา ชุมชนของเรา” กระจายอำนาจ เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการศึกษาของโรงเรียน
นายนพดล ยังกล่าวถึงกรณีรร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ให้นักเรียนชั้นม.1 - ม.6 ใส่ชุดไปรเวทมาเรียนทุกวันอังคารเป็นเวลา 1 ภาคเรียน เพื่อวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพัฒนาการของเด็กว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า เป็นเรื่องดีที่เด็กๆ ได้มีสิทธิเลือกแต่งกายมากกว่าไปจำกัดสิทธิ เพราะในต่างประเทศเองก็ให้เด็กแต่งกายด้วยชุดไปรเวทได้ ทั้งนี้ ขอชื่นชมทางโรงเรียนและจะรอดูผลการศึกษาว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายให้เด็กสามารถแต่งกายด้วยชุดไปเวทได้หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า พรรคไม่ได้มีนโยบายในเรื่องนี้ แต่มองว่า เป็นเรื่องของสังคมที่ต้องถกเถียงกันว่าต้องการให้ลูกหลานแต่งกายอย่างไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยพร้อมรับฟัง ทั้งนี้โดยส่วนตัวเห็นว่า การแต่งกายด้วยชุดยูนิฟอร์มก็อาจจะช่วยเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ต้องมาประกวดประขันกัน แต่ไม่ว่า จะแต่งกายด้วยชุดแบบใด เชื่อว่า ไม่มีผลกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างแน่นอน เพราะความรู้ความสามารถอยู่ที่หัวของเรา ที่สำคัญตนให้ความสำคัญในเรื่องของอาหารมากกว่าเครื่องแบบ หากแต่งกายดีแต่ท้องหิวก็คงไม่ช่วยอะไร
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการปรับตัวของประเทศไทย เพื่อรองรับเด็กและเยาวชน GenZ ว่า เยาวชน Gen Z ที่เกิดตั้งแต่ปี 2540 - ปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน บุคคลเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูจากเทคโนโลยี มีแนวโน้มที่จะเป็นเจ้านายตัวเอง และสร้างเงินจากเทคโนโลยี ดังนั้นอนาคตจะเกิดผู้ประกอบการขนาดเล็กและธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น ขณะที่แรงงานก็จะลดลง การผูกขาดของธุรกิจที่ใช้ทุนลดลง แต่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประเทศไทยคือยังด้อยเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อย อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมืองและชนบท ที่มีทักษะความคิดต่างกันถึง 3 ปี
ซึ่งการแก้ปัญหาคือ 1.รัฐต้องเปลี่ยนจากการควบคุมเป็นการสนับสนุนศักยภาพของบริษัทในการแข่งขันและไม่ปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจด้วยใบอนุญาต
2.ต้อนรับและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของโลกยุตใหม่อย่างผู้นำ
3.สร้างทางลัด สร้างโอกาส สร้างช่องทางให้กับเด็ก Gen Z
4.ลดการผูกขาดทางธุรกิจ
5.สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทุ่นแรงและอำนวยความสะดวก
6.ปรับระบบการทำงานจากที่นับเป็นชั่วโมงการทำงาน เป็นการวัดที่ศักยภาพการทำงาน
และ7.ลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา ลงทุนกับการศึกษาของเด็กและเยาวชน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี