7 มี.ค. 2562 ถือเป็นอีกวันที่ต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ” จากกรณีเหตุการณ์เสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วไม่เฉพาะในประเทศไทยเพราะแม้แต่สื่อมวลชนทั่วโลกก็ให้ความสนใจ โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่าเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (2) “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องยุบพรรค
“เมื่อการกระทำของคณะกรรมการบริหารผู้ถูกร้อง (พรรคไทยรักษาชาติ) มีหลักฐานชัดเจนว่าได้กระทำไปโดยรู้สำนึกและโดยสมัครใจอย่างแท้จริง ซึ่งคณะกรรมการบริหารผู้ถูกร้องย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร : ในหลวงรัชกาลที่ 10) แม้ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังคงดำรงในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์
การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์เป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชนคนไทยทั่วไปรู้สึกได้ว่าสามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง และมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางในทางการเมือง อันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว” (สาระสำคัญในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ)
ต้องถือว่าในรอบทศวรรษเศษๆ ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ยุบพรรคเกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้ประกอบด้วย 1.การยุบพรรคไทยรักไทย หากย้อนไปช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2540s (ประมาณปี 2544 - 2548) “พรรคไทยรักไทย” ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) สร้างปรากฏการณ์ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย จนเป็นพรรคการเมืองที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ไม่ต้องร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นรัฐบาลผสมอย่างการเมืองไทยในอดีต อีกทั้งยัง “ได้ในคนระดับล่าง” อย่างล้นหลามถึงขั้นบอกว่านี่คือประชาธิปไตยที่กินได้
แต่แล้วในช่วงปลายปี 2548 เริ่มมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยนั้นกำลังกลายเป็น “เผด็จการรัฐสภา” อ้างเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งของประชาชนไปแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ จนกลไกคานอำนาจไม่อาจทำงานได้ และใช้อำนาจที่มีเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองของตน นำไปสู่การชุมนุมประท้วงของ “กลุ่มเสื้อเหลือง” พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนจบลงด้วยการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐประหารในขณะนั้นไม่ได้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ฉบับเดิม ทำให้คดีที่มีผู้ร้องเรียนว่า 2 ผู้บริหารพรรคไทยรักไทย พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรค กับ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรค “ร่วมกันจ่ายเงินว่าจ้างให้พรรคพัฒนาชาติไทย - พรรคแผ่นดินไทย ลงเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย. 2549 เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่ระบุว่าหากเขตใดมีผู้สมัครเพียงพรรคเดียวจะต้องได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น” จึงได้รับการรับรองให้เป็น สส.
ซึ่งสืบเนื่องจากวิกฤติทางการเมือง ทำให้ 3 พรรคใหญ่ในเวลานั้น ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้พรรคไทยรักไทยต้องใช้วิธีดังกล่าว “โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พ.ค. 2550 และให้ตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค รวม 111 คน เป็นเวลา 5 ปี” จนเกิดเป็นวลี “บ้านเลขที่ 111” ในเวลาต่อมา
“ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยรับจ้างพรรคไทยรักไทยจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. แก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อให้ครบ 90 วัน โดยมีพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สนับสนุน และพรรคพัฒนาชาติไทยกับพรรคแผ่นดินไทย ออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคของตนอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง
พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคดำเนินการเพื่อให้พรรคไทยรักไทยสามารถกลับคืนสู่อำนาจได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกล่าวหา ทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้งทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย
ถือได้ว่าการกระทำของ พล.อ. ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคไทยรักไทย นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและการรับเงินจากพล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นผู้แทนของพรรคพัฒนาชาติไทย ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญทวีศักดิ์เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคพัฒนาชาติไทย
นายบุญาบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทย รู้เห็นยินยอมให้นางฐัติมา ภาวะลี รับเงินจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ ทั้งยังออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญาบารมีภณเป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคแผ่นดินไทย การกระทำของพรรคไทยรักไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การกระทำของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” (สาระสำคัญตอนหนึ่งจากคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย)
2.การยุบพรรคพลังประชาชน คงไม่ผิดนักหากจะเรียกว่าเป็น “หนังภาคต่อ” เพราะเมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบ บรรดานักการเมืองที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร และไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ย้ายไปเข้าร่วมกับ “พรรคพลังประชาชน” เพื่อเตรียมสู้ศึกการเลือกตั้ง สส. วันที่ 23 ธ.ค. 2550 แล้วก็เป็นไปดังคาด..พรรคพลังประชาชนอันเป็น “รุ่นที่ 2” ของพรรคการเมืองกลุ่มชินวัตร ยังได้รับความนิยมเป็นอันดับ ได้โควตาในสภาถึง 233 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทย ตามลำดับ
กระทั่งวันที่ 26 ก.พ. 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมาก 3 ใน 5 ระบุว่าให้ตัดสิทธิทางการเมือง นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งขณะนั้นเป็น สส.แบบสัดส่วน อีกทั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นายยงยุทธมอบเงินให้กับกำนัน 10 คน ในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ให้สนับสนุนตนในการเลือกตั้งดังกล่าว ต่อมา 8 ก.ค. ปีเดียวกัน ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ตัดสินยืนตามคำวินิจฉัยของ กกต. ให้ตัดสิทธิทางการเมืองนายยงยุทธ เป็นเวลา 5 ปี
ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน โดยให้เหตุผลว่า “การที่นายยงยุทธผู้เป็นรองหัวหน้าพรรค กระทำการอันฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ” นอกจากนี้ยังให้ตัดสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรครวม 109 คน หรือ “บ้านเลขที่ 109” อีก 5 ปี
“กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ให้เพิกถอนสิทธิ์ 5 ปี แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ได้กระทำ แต่กฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้กระทำ ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอื่นได้ เพราะการซื้อเสียงความผิด ใช้วิธีการแยบยล จึงให้ผู้บริหารพรรคคัดเลือกผู้ที่จะทำงานกับพรรคและควบคุมสอดส่องไม่ให้คนของพรรคกระทำผิด ถือได้ว่ามีเหตุว่าสมควรยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องหรือไม่ เนื่องจากต้องเป็นแบบอย่างถูกต้องชอบธรรม การได้มาซึ่ง สส.ควรได้มาด้วยความนิยมเป็นหลัก มิใช่ได้มาด้วยผลประโยชน์หรืออามิสสินจ้าง
กรรมการบริหารต้องช่วยกันทำหน้าที่ควบคุมดูแล แต่นายยงยุทธ และกรรมการบริหารใช้วิธีการผิดกฎหมาย ตนเองได้รับการเลือกตั่ง ได้ สส.เพิ่มขึ้น ถือว่าได้ประโยชน์แล้ว การที่นายยงยุทธ เป็นกรรมการบริหารพรรค มีบทบาทสำคัญในพรรค ได้รับยกย่องเป็นรองหัวหน้าและประธานสภา มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแล สส. แต่กลับกระทำความผิดเสียเอง คุกคามระบอบประชาธิปไตย มีเหตุสมควรให้ยุบพรรคเพื่อเป็นมาตรฐานพฤติกรรมที่ดีงาม ไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก” (สาระสำคัญจากคำอธิบายกรณียุบพรรคพลังประชาชน)
เช่นเดียวกับกรณีของ “พรรคชาติไทย - พรรคมัชฌิมาธิปไตย” ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคด้วยเหตุผลเดียวกัน เมื่อกรรมการบริหารพรรคทำผิดแม้เพียงคนเดียว ประกอบด้วย นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทย และ นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ทั้งคู่ถูก กกต. ให้ใบแดงหลังพบพฤติกรรมทุจริตการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ตามกฎหมาย “พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 90 (2) ประกอบมาตรา 92” ระบุว่าพรรคการเมืองสามารถสิ้นสภาพได้โดยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ตามสาเหตุดังต่อไปนี้ 1.กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3.กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74 และ 4.มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด โดย “มาตรา 20” ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ระบุว่าการตั้งพรรคการเมืองนั้นต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ใช่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน,
“มาตรา 28” ห้ามพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม, “มาตรา 30” ห้ามพรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก,
“มาตรา 36” ห้ามพรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดขึ้นภายนอกประเทศ, “มาตรา 44” ห้ามพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองและสมาชิกพรรค รับบริจาคจากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน,
“มาตรา 45” ห้ามพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ, “มาตรา 46” ห้ามพรรคการเมือง สมาชิกหรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง
หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐนอกจากนี้ยังห้ามผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองสมาชิกหรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ,
“มาตรา 72” ห้ามพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ “มาตรา 74” ห้ามพรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก 1.บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
2.นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ใน หรือนอกราชอาณาจักร 3.นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้พิจารณาตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หุ้นที่ไม่ปรากฏชื่อผู้ถือหรือถือโดยตัวแทนของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญชาติไทย
4.คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย 5.บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจากบุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่เข้าลักษณะข้อ 1-4 และ 6.บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับ ข้อ 1-5 ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี