"รัชดา"แจงนโยบาย"ถูกฝาถูกตัว"แก้จนยุค4.0ของรัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์" แบ่ง4กลุ่มจังหวัดตามโครงสร้างพื้นฐาน เน้นลดภาระค่าครองชีพ สร้างความมั่นคงทางการเงิน ย้ำนโยบายประกันรายได้"ข้าว" แค่บรรเทาความเดือดร้อนและลดความเสี่ยงด้านราคา ส่วน"ปาล์ม"มั่นใจราคาจะขยับเกิน4บาท/กก.แน่นอน
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในรายการ Government Weekly ครั้งที่ 3 จัดโดยสำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นทุกวันศุกร์ในเวลา 15.00 น.ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการทางสังคมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถแก้ปัญหาได้ "ถูกฝาถูกตัว" กล่าวคือในอดีตที่ผ่านมาการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือความยากจน จะมุ่งเน้นระดับภูมิภาค ตามสภาพภูมิประเทศ หรือภูมิอากาศ แต่ในความเป็นจริงการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรม ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีแนวคิดใหม่ในการแก้ปํญหาความยากจนด้วยการจัดกลุ่มจังหวัดออกเป็น 4 กลุ่ม ตามโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
กลุ่มที่ 1 จังหวัดเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีความพร้อมสูง (สีเขียว) 29 จังหวัด อาทิ กทม.และจังหวัดปริมณฑล รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งกลุ่มจังหวัดเหล่านี้มีอัตราการจ้างงานและรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงมาก ทางรัฐบาลจะเน้นบรรเทาภาระค่าครองชีพและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน กลุ่มที่ 2 จังหวัดเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่ง (สีฟ้า) 8 จังหวัด เน้นพัฒนาอาชีพ และจัดหางานให้ทำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาหรือต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากสินค้าเกษตรได้ กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่ขาดความพร้อม 7 จังหวัด (สีน้ำเงิน) ต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลุ่มที่ 4 จังหวัดที่ติดกับดักความยากจน (สีแดง) ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน หรือ จังหวัดที่เศรษฐกิจอ่อนแอ (สีส้มและสีเหลือง) ต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาอาชีพ รวมถึงการยกระดับการศึกษาและดูแลการรักษาพยาบาล เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ทั้งนี้ 4 กลุ่มจังหวัดที่กล่าวมาจะมี "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เป็นเจ้าภาพในการบูรณาการและขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวง ทบวง กรมเข้าไปร่วมบูรณาการ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เข้าไปดูแลด้านการศึกษา กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปดูแลด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกันพัฒนาอาชีพ และ การนำเทคโนโลยีมาลดต้นทุนการผลิต หรือ การฝึกอบรมและยกระดับความรู้การค้าขายออนไลน์แก่พี่น้องเกษตรกร เป็นต้น
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่าอีกมาตรการที่เข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนภาคเกษตร ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งอนุมัติเมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา คือ โครงการประกันรายได้ "ข้าว" และ "ปาล์ม" งบประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท เป้าหมายและวัตถุประสงค์ คือ บรรเทาความเดือดร้อนในสภาวะพืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ ที่สำคัญไม่ใช่มาตรการเข้าไปแทรกแซงราคาตลาด เพราะหลักการประกันราคา คือ หากราคาพืชผลต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกันไว้ จะจ่ายส่วนต่างให้กับเกษตรกร แต่หากราคาพืชผลสูงกว่าราคาประกันทางรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง หรือ จ่ายชดเชยแต่อย่างใด โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือน ต.ค.นี้ ดังนั้นพี่น้องเกษตรกรมั่นใจได้ว่าจะมีเงินเข้ากระเป๋าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
สำหรับโครงการประกัน "ปาล์ม" ครั้งนี้ถือว่าแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา คือ ประกันราคากิโลกรัมละ 4 บาท จึงอยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนขอให้รีบไปขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบ ที่สำคัญการจ่ายเงินในครั้งนี้จะจ่ายถึงมือเกษตรกรโดยตรง ทั้งผู้ปลูกข้าว หรือ ผู้ปลูกปาล์ม แต่ขอย้ำว่า มาตรประกันราคา "ปาล์ม" เพื่อบรรเทาความเสี่ยงด้านราคา เพราะรัฐบาลยังมีมาตรการอื่นๆในการเข้ามาช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันอีก ตัวอย่างเช่น นโยบายพลังงานทางเลือกในภาคขนส่ง และ การผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกระทรวงพลังงาน เตรียมนำปาล์ม 1.3 แสนตัน ไปผลิตกระแสไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อดูดซับอุปทานปาล์มในตลาด รวมถึงส่งเสริมการใช้ "ไบโอดีเซล" ที่ปัจจุบัน บี 7 เตรียมผลักดันให้เป็น บี 10 ภายในปลายปีนี้ จึงมั่นใจว่าราคาปาล์มในอนาคตจะต้องสูงกว่า 4 บาทต่อกิโลกรัม อย่างแน่นอน ย่อมจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่าอีกปัญหาสังคมที่น่าเป็นห่วง คือ ปัญหา "วินัยการออม" โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ควรระมัดระวังการใช้จ่ายและรู้จักออมเพื่อในอนาคตเมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถใช้หนี้คืน กยศ.ได้ ตัวอย่างเช่น ปีที่ 1 - 3 ควรเก็บสะสมวันละ 10 บาท พอปีที่ 4 - 7 อาจเพิ่มเป็นเก็บสะสมวันละ 15 - 20 บาท เมื่อเรียนจบและมีงานทำสามารถคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ กยศ.ได้ โดยไม่ต้องมีปัญหาในภายหลัง ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้ "มีสติ" ยับหยั่งชั่งใจไม่ควรก่อหนี้เพิ่มระหว่างเรียน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ กยศ.หรือหนี้อื่นๆ อาทิ บัตรเครดิต หรือ หนี้ที่อยู่ในระบบ หรือ นอกระบบ ถือเป็นปัญหาสังคมที่รัฐบาลมีความเป็นห่วงอย่างมาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี