1.โดยทั่วไปเรามักจะได้ยินได้ฟังเขาพูดกันบ่อยๆ ว่า เอกสารที่เป็นพินัยกรรมของผู้ใด ฉบับที่มีผลบังคับใช้ได้คือฉบับปัจจุบัน แตกต่างกับใบทะเบียนสมรสที่กล่าวกันว่าฉบับที่เก่าที่สุด เป็นฉบับที่มีผลบังคับใช้
2.พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4 กำหนดคำนิยามว่า “ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร” หมายความว่าข้อมูลตัวบุคคลเกี่ยวกับชื่อ ชื่อสกุล สถานะการสมรส
3.พระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 4 กำหนดนิยามคำว่า “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ
สิ่งเฉพาะตัวบุคคล
4.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 5 กำหนดนิยามคำว่า “ทะเบียนครอบครัว” ให้หมายความถึงทะเบียนสมรส และคำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายความว่า ...(3) ผู้ซึ่งนายทะเบียนเห็นว่ามีหรืออาจมีประโยชน์ส่วนได้เสียเกี่ยวกับทะเบียนครอบครัวนั้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ขณะเดียวกันข้อ 46 ของระเบียบนี้ ก็ได้กำหนดโดยสรุปว่า หากผู้มีส่วนได้เสียร้องขอดูทะเบียนครอบครัว ให้นายทะเบียนให้ดูโดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ถ้าจะขอคัดสำเนาและให้นายทะเบียนรับรองด้วย ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามระเบียบ
5.ปัญหาครั้งนี้เกิดเพราะว่าโจทก์ฟ้องคดีจำเลยเป็นคดีแพ่ง ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะจึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและตามหมายบังคับคดีและโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความเป็นผู้มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาประโยชน์ของโจทก์ เช่นนี้ทนายความจะมีสิทธิขอคัดทะเบียนสมรสของจำเลยได้หรือไม่
6.คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมเป็นบุคคล
ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำพิพากษาจึงสามารถขอคัดทะเบียนสมรสของจำเลยได้เพื่อนำไปประกอบการบังคับคดีได้ เมื่อโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนโจทก์ได้ จึงมีสิทธิขอคัดทะเบียนสมรสของจำเลยได้ แต่อย่างไรก็ตามทะเบียนสมรสดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานของรัฐสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 และนายทะเบียนอาจจัดให้มีการบันทึกถ้อยคำผู้ยื่นคำร้องไว้เพื่อทราบวัตถุประสงค์ของการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ได้เพียงเท่าที่จำเป็น (มติของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 การประชุมครั้งที่ 18/2563 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2563)
7.เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นแบบเดียวกันที่พิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคมการบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายคำวินิจฉัยที่สค 335/2562 แต่ทนายความมีใบมอบอำนาจที่สิ้นสุด (หมดอายุแล้ว) จึงไม่มีสิทธิขอคัดทะเบียนสมรสได้นะครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี