วันนี้ (19 มกราคม 2564) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม และธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหนี้สูญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปและหนี้สูญของสถาบันการเงิน
2. โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ทางการเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยเปลี่ยนแปลงการจัดชั้นลูกหนี้จาก 6 ชั้น (ได้แก่ ปกติ กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือควรระวังเป็นพิเศษ ต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ และสูญ) เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Performing) (2) มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Under-Performing) และ (3) มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-Performing) อันส่งผลต่อหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับที่ 186ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์โดยอ้างอิงจากการจัดชั้นสินทรัพย์ ทางการเงินตามหลักเกณฑ์เดิมของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ประกอบกับปัจจุบันลูกหนี้จำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
3. ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหนี้สูญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป และหนี้สูญของสถาบันการเงิน ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์ทางการเงินตามข้อ 2. และเพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กค. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
4. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
4.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้มิได้ทำให้สูญเสียรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้สูญเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว
4.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและมาตรฐานการบัญชี และเจ้าหนี้สามารถจำหน่ายหนี้สูญสำหรับลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งรวมถึงลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญ จากบัญชีลูกหนี้ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 4 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ฯ ดังนี้ เพิ่มวงเงินสำหรับใช้บังคับหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป (จากเดิมกำหนดให้หนี้ที่จะจำหน่ายของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป) และกำหนดขั้นตอนให้ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควร โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถาม อย่างชัดแจ้ง แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ หรือฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีแพ่งที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ รายอื่นฟ้อง โดยมีหมายบังคับคดีของศาลแล้วและมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า มีการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้
2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 5 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ฯ ดังนี้ เพิ่มวงเงินสำหรับใช้บังคับหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป (จากเดิมกำหนดให้หนี้ที่จะจำหน่ายของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาทขึ้นไป) และกำหนดขั้นตอนให้ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควร โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้ง แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ ฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีแพ่งที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องและศาลมีคำสั่งรับคำขอนั้นแล้ว หรือฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องหรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลมีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้นั้นแล้ว
3. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 6 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 ฯ ดังนี้
3.1 กำหนดวงเงินสำหรับใช้บังคับหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญรายย่อยของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท (จากเดิมกำหนดให้หนี้ที่จะจำหน่ายของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท)
3.2 กำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญที่มีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท ไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1. หรือข้อ 2. ถ้าปรากฏว่า มีหลักฐานการติดตามทวงถามตามสมควรแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับ
4. กำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันสำรองครบร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้ เช่น เป็นลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 360 วันหรือ 12 เดือน หรือเป็นลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
5. กำหนดให้กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม ในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้เสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้แจ้งคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรทราบด้วย ทั้งนี้ ให้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประสานการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการของรัฐสภาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง สคก. ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน โดยได้เพิ่มบทเฉพาะกาลไว้ในร่างมาตรา 166 วรรคท้าย เพื่อเร่งรัดให้ ก.ตร. กำหนดการประเมินความพึงพอใจในการบริการประชาชนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และตัดร่างมาตรา 152 วรรคสอง ออก ตามความเห็นของกะทรวงการคลัง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 แล้ว รายละเอียดดังนี้
1. หน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กำหนดหน้าที่และอำนาจของ ตช.ไว้เช่นเดิม แต่มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของ ตช. ได้แก่ ภารกิจของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจงานจราจรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไปให้แก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นโดยตรงรับไปดำเนินการ และโอนอัตรากำลังนั้นไปปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักของ ตช. เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของตำรวจสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจอย่างแท้จริง และให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับโอนภารกิจไปดำเนินการ จึงมีการกำหนดระยะเวลาในการโอนภารกิจแต่ละภารกิจที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ ก.ตร. พิจารณาทบทวนหน้าที่และอำนาจของ ตช. หรือข้าราชการตำรวจในส่วนที่มีกฎหมายกำหนดให้ ตช. หรือข้าราชตำรวจมีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตหรือการจดทะเบียน โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ ตช. หรือข้าราชการตำรวจมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวไว้ ให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณา
2. การจัดระเบียบราชการใน ตช. กำหนดให้ในการแบ่งส่วนราชการของ ตช. อย่างน้อยต้องมีหน่วยงาน ดังนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค กองบังคับการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริการและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยตรง และกำหนดให้ ตช. ต้องจัดอัตรากำลังให้แก่สถานีตำรวจและตำรวจภูธรจังหวัดตามลำดับให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังก่อน รวมทั้งได้กำหนดระดับของสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สถานีตำรวจ ที่มีผู้กำกับการ และสถานีตำรวจที่มีรองผู้กำกับการหรือตำแหน่งเทียบเท่า โดยคำนึงถึงปริมาณงาน ความหนาแน่นของประชากรในเขตรับผิดชอบ จำนวนอัตรากำลังและสถานที่ตั้งของสถานีตำรวจ เพื่อเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน
3. การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ กำหนดหลักการในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
3.1 แบ่งข้าราชการตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการตำรวจที่มียศ และข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ
3.2 แบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ เพื่อให้เกิดการสร้างความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานและเป็นการสร้างความก้าวหน้าในสายงานนั้น ๆ
3.3 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายว่าการจะแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดจะต้องเป็นข้าราชการตำรวจยศใด และเคยดำรงตำแหน่งใดมาแล้วจำนวนกี่ปี และในการแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผล ต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาและทำให้ข้าราชการตำรวจสามารถมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
3.4 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถเติบโตก้าวหน้าในสายงานตามความรู้ความสามารถได้
3.5 กำหนดให้ข้าราชการตำรวจสามารถร้องทุกข์ ต่อ ก.พ.ค.ตร. ในกรณีที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง รวมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดหรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่ง โดยระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
3.6 กำหนดห้ามมิให้สั่งให้ข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจ หรือตำรวจภูธรจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่น เว้นแต่ในคำสั่งนั้นจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจแทน เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มาปฏิบัติราชการติดต่อกันเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้นั้น เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทำหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจและกำกับดูแล ตช. ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ และจัดระบบราชการตำรวจ กำกับดูแลการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจของผู้บังคับบัญชาทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎ ก.ตร. โดยเคร่งครัด ตลอดจนดูแลการเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการตำรวจไปให้สถานีตำรวจให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่และกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในหน่วยปฏิบัติให้เพียงพอ โดยมีนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่เป็นข้าราชการตำรวจ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจเรตำรวจแห่งชาติ มีกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการ ก.พ. อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกกรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย รวมทั้งกำหนดห้ามผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดสั่งการ ข่มขู่ หรือชักจูงด้วยประการใด ๆ เพื่อให้เลือกหรือมิให้เลือกผู้ใดผู้หนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นหลักประกันในการได้มาซึ่งกรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ โดยปราศจากการครอบงำหรือการแทรกแซง
5. คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา โดยมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ และพิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม ซึ่ง ก.พ.ค.ตร. จะประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก ก.พ.ค.ตร. และเป็นผู้ซึ่งสามารถทำงานได้เต็มเวลา เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวมีความเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ก.ตร.
6. คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ เพื่อเป็นกลไกในการปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่ประชาชนอันเกิดจากข้าราชการตำรวจ โดย ก.ร.ตร. ประกอบด้วยประธานและกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมจำนวน 9 คน และมี จเรตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ
7. การให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริหารงานใน ตช. โดยกำหนดให้ ตช. จัดระบบบริหารงานให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน และกำหนดให้เงินอุดหนุนที่ อปท. จัดสรรให้แก่สถานีตำรวจให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจและกิจการในสถานีตำรวจนั้น โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา และการรักษาความสงบเรียบร้อยในท้องถิ่นหรือชุมชน กองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือตำรวจภูธรจังหวัดจะจัดให้มีแผนหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชน โดยในการจัดทำแผนหรือมาตรการดังกล่าวให้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าสถานีตำรวจ อปท. และชุมชน และเมื่อ ก.ตร. และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนหรือมาตรการดังกล่าวแล้ว ให้ สงป. และ ตช. พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามแผนหรือมาตรการดังกล่าว
8. กองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา จัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ
9. บัญชีอัตราเงินเดือน ปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการรับเงินเดือนของข้าราชการตำรวจ โดยตัดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในระดับที่ไม่ได้มีการรับในอัตรานั้นออก แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนแต่อย่างใด
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจในการออกประกาศฯ ซึ่งไม่อาจกระทำได้ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (16 มิถุนายน 2563) เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) โดยเห็นควรให้ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) เข้ารับการตรวจประเมินจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564
2. คค. โดยกรมเจ้าท่าได้เตรียมความพร้อมโดยได้จัดจ้างที่ปรึกษา (สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เพื่อยกระดับการปฏิบัติตามพันธกรณีและจากการประเมินเบื้องต้นของที่ปรึกษาฯ ตามรายงานความก้าวหน้า ครั้งที่ 3 (Progress Report) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า ประเทศไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยยังขาดกฎระเบียบที่รองรับการปฏิบัติในการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้ายาม (Watchkeeping) ชั่วโมงการพักผ่อน (Hours of rest) และความเหนื่อยล้าจากการทำงาน (Fatigue) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของอนุสัญญาฯ ที่ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีต้องปฏิบัติตาม
3. ดังนั้น กรมเจ้าท่าพิจารณาแล้ว เห็นควรปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่าสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อให้เจ้าของเรือจัดทำมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ ให้สอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (Maritime Labour Convention 2006, MLC as amended) ซึ่งจะช่วยให้กรมเจ้าท่าสามารถกำกับดูแลให้เจ้าของเรือดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และคุ้มครองคนประจำเรือบนเรือไทย ให้มีสวัสดิภาพการทำงานให้มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเครื่องมือหรืออุปกรณ์และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ พ.ศ. 2561
2. กำหนดนิยาม “ความปลอดภัยในการทำงาน” “การบ่งชี้อันตราย” และ “การประเมินความเสี่ยง”
3. กำหนดให้เจ้าของเรือกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือให้สอดคล้องกับประมวลข้อบังคับการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัย (International Safety Management Code) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน การบาดเจ็บ และโรคที่เกิดจากการทำงาน
4. กำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้ายามและกำหนดชั่วโมงการพักผ่อนให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามสำหรับคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers 1978, STCW as amended) และอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (Maritime Labour Convention 2006, MLC as amended)
5. กำหนดให้เจ้าของเรือกำหนดมาตรการในการดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมเจ้าท่ากำหนด โดยเจ้าของเรือต้องจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและเพียงพอ รวมถึงสอดคล้องต่อการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ รวมถึงกำหนดให้คนประจำเรือมีหน้าที่ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ และปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยที่เจ้าของเรือกำหนด
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเป็นการกำหนดปริญญาในสาขาวิชาวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ และอักษรย่อสำหรับสาขาวิชา รวมทั้งสีประจำสาขาวิชาดังกล่าวเพิ่มขึ้น และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ พศ. เสนอว่า
1. ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งมีสาระสำคัญการให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก พศ. [กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดิม] และกำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยวิธีการฝากไว้กับธนาคาร หรือนิติบุคคลที่ พศ. ให้ความเห็นชอบ
2. จากการใช้บังคับกฎกระทรวงในข้อ 1. พบว่า ที่ผ่านมาในการกำกับดูแลการให้เช่าที่ดินของวัดของมหาเถรสมาคมและ พศ. นั้น ทำได้เพียงในส่วนของการให้เช่าที่ดินโดยไม่รวมถึงการให้เช่าอาคารซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าว ทำให้วัดสามารถให้เช่าที่ดินของวัดได้ตามกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมและ พศ. ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 57/2528 เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 [การให้เช่าที่ดินของวัด ตามข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511)ฯ และมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 14/2521] โดยเรื่องดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาการแสวงหาประโยชน์ในที่ดินของวัดจนทำให้วัดขาดประโยชน์ที่ควรได้รับโดยชอบธรรม นอกจากนี้ การกำหนดให้วัดสามารถเก็บรักษาเงินสดได้เพียง 3,000 บาทนั้น ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในวัด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎกระทรวงในข้อ 1. เกี่ยวกับการให้เช่าที่ดินของวัดให้ครอบคลุมถึงกรณีการให้เช่าอาคารที่ปลูกบนที่ดินดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ในที่ดินของวัด และแก้ไขจำนวนเงินที่วัดสามารถเก็บรักษาได้ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติในประเด็นอื่น ๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 บัญญัติให้การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. ในคราวประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงในข้อ 2. แล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างจากกฎกระทรวงเดิม ดังนี้
ประเด็น |
กฎกระทรวงเดิม |
ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ |
1. การมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์แทนวัด |
ไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์แทนวัดได้ |
กำหนดให้วัดสามารถมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแทนวัดได้ |
2. การให้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง |
กำหนดให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. (กรมการศาสนา ศธ. เดิม) |
กำหนดให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา ที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์หรือ “สิ่งปลูกสร้าง” ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปีต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม |
3. การเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออก |
ไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออกไว้ |
กำหนดให้ในกรณีที่มีผู้ขอเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออก ไม่ว่าจะกำหนดระยะเวลาการเช่ากี่ปีก็ตาม ให้วัดจัดทำเป็น “สัญญาภาระจำยอม” เท่านั้น โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม |
4. การเก็บรักษาเงินของวัด |
กำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือนิติบุคคลที่ พศ. ให้ความเห็นชอบ |
กำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน “100,000 บาทขึ้นไป” ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือวิธีการอื่นใดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด |
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
1. โดยที่มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ “ไม้ทรงคุณค่า” หมายความว่า ไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และให้หมายความรวมถึงไม้อื่นใดที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไปตามลักษณะหรือชนิดที่กำหนดในกฎกระทรวงและมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทส. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า พ.ศ. …. เพื่อกำหนดลักษณะและชนิดของไม้ทรงคุณค่า
2. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1. และให้ดำเนินการต่อไป ประกอบกับพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มาตรา 16 บัญญัติให้การเสนอแนะในการออกกฎกระทรวงของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่ง ทส. ได้รับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักจัดการป่าชุมชน https://www.forest.go.th/community ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และมีหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง ป่าชุมชน และรับฟังความคิดเห็นกฎหมายอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 19 – 20 ธันวาคม 2562 โดยมีผู้แทนเครือข่ายชุมชน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม โดยส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงฯ
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “แผนจัดการป่าชุมชน” หมายความว่า แผนจัดการป่าชุมชนที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนจัดทำขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนประจำจังหวัด
2. กำหนดให้พันธุ์ไม้ที่มีลักษณะหรือชนิดดังต่อไปนี้เป็นไม้ทรงคุณค่า
2.1 ไม้ยืนต้นที่มีขนาดความโตตั้งแต่ 200 เซนติเมตรขึ้นไปโดยวัดรอบลำต้นตรงที่ระดับความสูง 130 เซนติเมตรจากพื้นดิน เว้นแต่ต้นไม้ที่ลำต้นมีลักษณะผิดปกติ เช่น เป็นพูพอน ปุ่ม ตา หรือกิ่วคอดตรงที่ระดับความสูง 130 เซนติเมตร ให้วัดโดยรอบลำต้นตรงที่ถัดจากที่มีลักษณะผิดปกติขึ้นไปใกล้ชิดที่สุด
2.2 ต้นไม้ที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรมประเพณี ไม้ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาในท้องถิ่น พันธุ์ไม้ที่หาได้ยากหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือที่มีความสำคัญเชิงนิเวศในป่าชุมชน
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. และร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2558 รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2558 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. ให้ ทส. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….
1.1) กำหนดให้พื้นที่ภายในบริเวณที่วัดจากแนวเส้นศูนย์กลางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 (ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน) ออกไปทั้งสองด้าน ด้านละ 40 เมตร ตั้งแต่สะพานลำเหมืองพญาคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ถึงสุดเขตตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และบริเวณวัดเมืองกาย ตำบลวัดเกต และบริเวณบ้านป่ายาง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหอย ในท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยจำแนกพื้นที่ออกเป็น 3 บริเวณ คือ
(1) บริเวณที่ 1 หมายถึง พื้นที่ภายในบริเวณที่วัดจากแนวเส้นศูนย์กลางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 (ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน) ออกไปทั้งสองด้าน ด้านละ 10 เมตร
(2) บริเวณที่ 2 หมายถึง พื้นที่ภายในบริเวณที่วัดจากแนวเส้นศูนย์กลางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 (ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน) ออกไปทั้งสองด้าน ด้านละ 40 เมตร แต่ไม่รวมพื้นที่ในบริเวณที่ 1
(3) บริเวณที่ 3 หมายถึง พื้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ 1 และ 2 ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดเมืองกาย ตำบลวัดเกต และบริเวณบ้านป่ายาง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
1.2) กำหนดห้ามดำเนินการฟัน ตัด โค่น หรือกระทำการอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อต้นยางนาหรือต้นขี้เหล็กในพื้นที่บริเวณที่ 1 และ 3
1.3) กำหนดห้ามก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ในพื้นที่บริเวณที่ 1 และกำหนดให้การก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ในบริเวณที่ 2 และ 3 ต้องมีความสูงไม่เกิน 12 เมตร โดยมีสีภายนอกที่กลมกลืนกับธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อม
1.4) กำหนดห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นอาคารบางประเภทในพื้นที่บริเวณที่ 2 เช่น โรงแรม สถานบริการ โรงงาน โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น
1.5) กำหนดให้การก่อสร้างอาคาร ห้องแถว หรือตึกแถว ที่มีความยาวด้านหน้าอาคารรวมไม่เกิน 36 เมตร หรือการก่อสร้างหรือดัดแปลงเพื่อทดแทนอาคาร ห้องแถว หรือตึกแถวเดิมที่มีสภาพชำรุด ในพื้นที่บริเวณที่ 2 ให้ดำเนินการก่อสร้างหรือดัดแปลงโดยมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น
1.6) กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจังหวัดเชียงใหม่ และของจังหวัดลำพูน ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีหน้าที่กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และให้ความเห็นชอบกับการนำแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ
1.7) กำหนดให้จังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ 1.1) เพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดต่อไป
2. ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2558 มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2558
8. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้กับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน ซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการกำหนดให้ “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
9. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ ตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 73 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา เพื่อมอบหมายให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่สนับสนุนโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
10. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีที่ กค. เสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยเป็นการยกเลิกกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2521) ฉบับที่ 77 (พ.ศ. 2533) และฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478 เพื่อให้สอดคล้องกับระบบจำแนกตำแหน่งใหม่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 รวมทั้งปรับปรุงลักษณะรูปแบบเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553
สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี
1. กำหนดให้ยกเลิกกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2521) ฉบับที่ 77 (พ.ศ. 2533) และฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478
2. ปรับปรุงแก้ไขลักษณะ ชนิด และประเภท ของเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมศุลกากร และการกำหนดเครื่องหมายแสดงระดับตำแหน่งบนกะบังหมวกแก๊ปทรงอ่อน รวมทั้งยกเลิกเครื่องหมายพิเศษ รูปอาร์มสำหรับเครื่องแบบทำงานชนิดเครื่องแบบขาวของพนักงานศุลกากรชาย และเครื่องแบบทำงานชนิดเครื่องแบบลำลองของพนักงานศุลกากรหญิงที่ปฏิบัติงานประจำ ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว
11. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยกำหนดเพิ่มเติมการคุ้มครองผู้เสียหายให้ครอบคลุมทุกความผิดมูลฐาน รวมทั้งกำหนดการคุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตลอดจนกำหนดกระบวนการดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ยกเลิกความในวรรคหกของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 เพื่อให้การขอคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายครอบคลุมทุกความผิดมูลฐาน (เดิม ไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ไว้อย่างชัดเจน)
2. กำหนดให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย โดยให้ยื่นก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือชดใช้ทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว และกำหนดให้ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายด้วย
3. กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินอาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาซึ่งส่วนได้เสียโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ
4. กำหนดกระบวนการดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น โดยให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สำนักงาน ปปง. นำทรัพย์สินที่รวมเข้ากันนั้นออกขายทอดตลาดและให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
12. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกำกับดูแลศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนชื่อองค์กร ปรับปรุงวัตถุประสงค์หน้าที่และอำนาจของสถาบัน ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนปรับปรุงบทบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับ การดำเนินงานของสถาบันฯ และเพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. เปลี่ยนชื่อองค์กร จาก “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)” เป็น “สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “ส.ศ.ท.” เพื่อให้สื่อถึงบทบาทและภารกิจขององค์กร และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Sustainable Arts and Crafts Institute of Thailand (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “SACIT”
3. กำหนดให้สถาบันมีที่ตั้งของสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดใกล้เคียง และอาจตั้งสำนักงานสาขาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
4. ปรับปรุงวัตถุประสงค์ของสถาบัน โดยกำหนดให้สถาบันมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย และส่งเสริม สนับสนุน ด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5. แก้ไขหน้าที่และอำนาจของสถาบัน โดยกำหนดให้สถาบันมีหน้าที่และอำนาจ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มศิลปหัตถกรรมไทย และสนับสนุนด้านการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ พัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์การพัฒนารูปแบบ และการบรรจุผลิตภัณฑ์ ตลอดจนผสมผสานหรือประยุกต์เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาครูสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ และครู่ช่างศิลปหัตถกรรม ในการพัฒนางานหัตถกรรมให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
6. กำหนดให้ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสถาบันประกอบด้วยทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 46 เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ และดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสถาบัน
7. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ โดยมีประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารงาน ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้านอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบัน กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนหนึ่งคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินแปดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูง เป็นที่ประจักษ์ในด้านที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และยกเลิกคณะที่ปรึกษาพิเศษของคณะกรรมการ
8. กำหนดให้สถาบันจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สิ้นปีบัญชีทุกปี
9. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศหรือคำสั่งใดที่ออกตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชกฤษฎีกานี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
13. เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้
1. รับทราบความคืบหน้าและปัญหาในการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย การเข้าถึงบทบัญญัติในกฎหมาย และการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
2. เห็นชอบการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่มีผู้รักษาการหลายคนยังไม่ตรงกัน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างผู้รักษาการร่วมกันในกฎหมายฉบับนั้น ตามรายชื่อกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ และระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนด (ตามเอกสารท้ายหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0913/1 ลงวันที่ 6 มกราคม 2564)
3. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและการเข้าถึงบทบัญญัติในกฎหมาย ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และเผยแพร่ข้อมูลกฎหมายและกฎเกณฑ์ตามรายชื่อกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ และระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนด (ตามเอกสารท้ายหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0913/1 ลงวันที่ 6 มกราคม 2564) โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบ เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
4. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบว่า มีกรณีที่ต้องมีการออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายตามมาตรา 22 หรือไม่ โดยให้เร่งออกกฎหรือดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังนี้
(1) ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562
(2) ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในการออกกฎหรือดำเนินการดังกล่าว หน่วยงานของรัฐต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี รวมตลอดทั้งระยะเวลาที่เหมาะสมในการออกกฎนั้นด้วย
ข้อเท็จจริง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอว่า
1. โดยที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดภารกิจและหลักเกณฑ์สำหรับหน่วยงานของรัฐให้ต้องปฏิบัติตาม ดังนี้
1.1 หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย ได้แก่ การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และการตรวจสอบเนื้อหาของร่างกฎหมาย
1.2 การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
1.3 การเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมาย
2. สคก. ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้รับผิดชอบการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จึงขอรายงานความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และโดยที่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายมีภารกิจหน้าที่บางประการที่ต้องดำเนินการทันทีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงจำเป็นต้องเร่งรัดและกำหนดแนวทางดำเนินการของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกำหนดเวลาและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ประกอบกับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายอาจเสนอแนะการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาได้ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปกฎหมายตามมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รายงานผลการดำเนินการในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยสรุปมีดังนี้
1.1 การดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
หน่วยงานได้ประกาศรายชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์และระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์แล้ว แต่ยังปรากฏว่ามีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกัน ดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่หน่วยงานประกาศไม่ตรงตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งข้อมูลหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากมีบางหน่วยงานที่ยังไม่ได้กำหนดข้อมูลดังกล่าว
(2) ข้อมูลหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่มีผู้รักษาการหลายคนยังไม่ตรงกัน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างผู้รักษาการร่วมกันในกฎหมายฉบับนั้น สคก.จึงได้พิจารณาภารกิจตามกฎหมายและได้กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างผู้รักษาการร่วม
1.2 การดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าถึงบทบัญญัติในกฎหมาย
(1) ข้อมูลที่เผยแพร่ในส่วนกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 หน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลกฎหมายและกฎเกณฑ์ในความรับผิดชอบของตนให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งปรากฏว่ามีบางหน่วยงานที่ยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลกฎหมายและกฎเกณฑ์ในความรับผิดชอบของตนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลในระบบกลางเพื่อประโยชน์ในการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้อย่างทั่วถึง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562
(2) ข้อมูลที่เผยแพร่ในส่วนคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายสำหรับที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 หน่วยงานที่มีกฎหมายในความรับผิดชอบไม่เกิน 5 ฉบับ มีหน้าที่จัดทำคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายในความรับผิดชอบของตนภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งปรากฏว่ามีบางหน่วยงานที่ยังไม่ได้จัดทำคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายในความรับผิดชอบของตน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลในระบบกลางเพื่อประโยชน์ในการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้อย่างทั่วถึง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562
1.3 การดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
(1) โดยที่มาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้กฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หรือภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้ โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว
(2) ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายใด มีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่ากฎหมายนั้นมีกรณีต้องมีการออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 22 หรือไม่ และหากมีกรณีต้องออกกฎหรือดำเนินการใด ให้กระทำภายในเวลาที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนด ทั้งนี้ หากมิได้ออกกฎหรือดำเนินการใดจนเป็นเหตุให้บทบัญญัติของกฎหมายเป็นอันสิ้นผลบังคับลง หรือเป็นผลให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับโดยไม่ต้องมีกฎ หรือดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา 22 วรรคสอง หน่วยงานของรัฐหรือผู้มีหน้าที่ย่อมต้องรับผิดชอบ และรับผิดทั้งในทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง หากเกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดิน หรือต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
1.4 การเผยแพร่คำแปลกฎหมายในเว็บไซต์ของ สคก. ก่อนที่จะมีระบบกลาง สคก. ได้ดำเนินการเผยแพร่คำแปลกฎหมายในเว็บไซต์ www.Krisdika.go.th ไว้แล้ว จำนวน 429 ฉบับ ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 9 ฉบับ พระราชบัญญัติและพระราชกำหนด จำนวน 357 ฉบับ และกฎหมายลำดับรอง จำนวน 63 ฉบับ
เศรษฐกิจ - สังคม
14. เรื่อง โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ภายใต้มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 (มาตรการด้านการเงิน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้
1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่ได้เคยมีมติเห็นชอบกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) โดยเห็นชอบกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ดังนี้
จากเดิม
(1) ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูป (Food/Non-food)
- SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV)
- SMEs ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิต หรือบริการอื่น ๆ หรือธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก
(2) เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินการ ดังนี้ (1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และ (2) โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan
(3) เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น
(4) เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) สินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นคำขอกู้
เป็น
(1) ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูป (Food/Non-food)
- SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)
- SMEs ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิต หรือบริการอื่น ๆ หรือ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก
(2) เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น
ทั้งนี้ รายละเอียดและเงื่อนไขอื่น ๆ ของโครงการคงเดิม
2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการโดยให้มีผลการรับคำขอกู้ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 และสิ้นสุดวันรับคำขอกู้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อรวมของโครงการ แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. อก. ได้บูรณาการกับ ธพว. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 โดยมีรายละเอียดโครงการฯ ดังนี้
รายการ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก เพื่อสร้างและกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการในชุมชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเกษตรแปรรูป (Food/Non-food) ซึ่งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล |
วงเงินสินเชื่อรวม |
50,000 ล้านบาท |
วงเงินสินเชื่อต่อราย |
วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย (แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา วงเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท และบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและนิติบุคคล วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท) |
กลุ่มเป้าหมาย |
1. ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1.1 SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกษตรแปรรูป (Food/Non-food) 1.2 SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) 1.3 SMEs ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิตหรือบริการอื่นๆ หรือธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก 2. เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการ ที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ธพว. ดำเนินการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan 3. เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น 4. เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นคำขอกู้ |
ระยะเวลาการกู้ยืม |
ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี |
ระยะเวลา ดำเนินโครงการ |
สิ้นสุดรับคำขอกู้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อ รวมของโครงการ แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน |
อัตราดอกเบี้ย |
คิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้แตกต่างกัน เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบนิติบุคคลปรับตัวเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ดังนี้ (1) กรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดาปีที่ 1 - 3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR-1.875 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR = 6.875) ปีที่ 4 – 7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด (2) กรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล ปีที่ 1 - 3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR – 3.875 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR = 6.875) ปีที่ 4 - 7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด การคิดอัตราดอกเบี้ยระหว่างบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีความแตกต่างกันเนื่องจากบุคคลธรรมดามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (Credit Risk Cost) สูงกว่านิติบุคคลถึงร้อยละ 2.27 ประกอบกับต้นทุนทางการเงินของ ธพว. มีแนวโน้มสูงขึ้น |
การขอรับงบประมาณ ชดเชยจากรัฐบาล |
1. รัฐบาลชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ใน 3 ปีแรก รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาท (วงเงิน 50,000 ล้านบาท X อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2 ต่อปี X ระยะเวลา 3 ปี) 2. ธพว. สามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ 3. ให้ ธพว. แยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ (Public Account Service : PSA) |
ผลเชิงเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะได้รับ |
ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 50,000 ล้านบาท โดยช่วยให้ SMEsเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 15,000 ราย (วงเงินเฉลี่ยต่อราย 3.33 ล้านบาท) รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 75,000 คน (อัตราการจ้างเฉลี่ยต่อราย 5 คน)และ สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ได้ประมาณ 229,000 ล้านบาท (ปัจจุบัน อก. ยังไม่ได้มีการประเมินผลสำเร็จว่าเป็นไปตามเป้าหมายเพียงใด) |
2. ผลการดำเนินโครงการฯ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำนวน 24,606 ราย วงเงินจำนวน 40,440.86 ล้านบาท (เป้าหมาย 50,000 ล้านบาท) และมียอดเบิกจ่าย จำนวน 24,353 ราย วงเงินจำนวน 40,087.22 ล้านบาท โดยมีปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงาน ดังนี้
2.1 เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเป้าหมายได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
2.2 ในช่วงดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน จึงใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน แต่ บสย. มีวงเงินไม่เพียงพอในการค้ำประกัน ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จึงเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากมีหลักเกณฑ์กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะต้องไม่ได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan รวมทั้งต้องมีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นคำขอกู้ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ขัดกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ และกลุ่มเป้าหมายเดิมไม่สามารถยื่นขอกู้ได้
3. โดยที่โครงการฯ ยังมีวงเงินคงเหลือ 9,500 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 5,760 ราย (วงเงินเฉลี่ยต่อราย1.65 ล้านบาท) รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 28,800 คน (อัตราการจ้างเฉลี่ยต่อราย 5 คน) และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 43,510 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการฯ จะสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินโครงการในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 แต่ยังมีวงเงินโครงการคงเหลืออยู่ และยังมีความจำเป็นต่อผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น อก. (ธพว.) จึงขอขยายระยะเวลาโครงการต่อไปอีก 1 ปี (ให้มีผลการรับคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 และสิ้นสุดวันรับคำขอกู้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2564) และขอปรับปรุงหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมาย โดยตัดหลักเกณฑ์ (ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการตามข้อ 2.1 และ 2.2) ที่กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ SMEs จะต้องไม่ได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan และต้องมีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นคำขอกู้
15. เรื่อง การนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ และให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ลงนามในเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
รายละเอียด ดังนี้
ข้อมูลทั่วไป –ชื่อประเทศภาคีสมาชิก : จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย - ชื่อแหล่ง : เมืองโบราณศรีเทพ
ข้อมูลแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม - ขอบเขตของแหล่งที่เสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก : แหล่งมรดกวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ (เมืองในและเมืองนอก) โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์
- พื้นที่แหล่งวัฒนธรรมรวม 866.475 เฮกตาร์ (ประมาณ 8.66 ตารางกิโลเมตร) และมีพื้นที่กันชน 4,871.204 เฮกตาร์ (ประมาณ 48.71 ตารางกิโลเมตร)
เหตุผลที่สมควรสำหรับการมีคุณค่าความโดดเด่นเป็นสากล (1) เมืองโบราณศรีเทพมีรูปแบบผังเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ โดยผังเมืองขยายเป็น 2 ชั้นซ้อนกัน เรียกว่า เมืองในและเมืองนอก (2) ศาสนสถานเขาคลังนอกที่แสดงถึงความเป็นมณฑลจักรวาลที่หลงเหลือหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์ (3) ศาสนสถานถ้ำถมอรัตน์ที่มีความสำคัญของศาสนสถานประเภทถ้ำ (4) ประติมากรรม “สกุลช่างศรีเทพ” ที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากประติมากรรมในยุคสมัยเดียวกัน โดยเป็นประติมากรรมสลักลอยตัว เอียงตน และมีลักษณะสีหน้าผสมผสาน
เกณฑ์ที่เหมาะสม เกณฑ์สำหรับการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจำนวน 2 ข้อ ดังนี้ (1) เกณฑ์ข้อที่ 2 : ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ เนื่องจากเมืองโบราณศรีเทพ มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 เป็นเมืองที่มีการสร้างกำแพงเมือง คูเมือง และมีการติดต่อรับคติความเชื่อทางศาสนา ทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู ที่ปรากฏหลักฐานทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมต่าง ๆ เช่น ศาสนสถานเขาคลังนอก ศาสนสถานถ้ำถมอรัตน์ (2) เกณฑ์ข้อที่ 3 : เป็นประจักษ์พยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมทั้งที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุน คือ เมืองโบราณศรีเทพที่มีความสำคัญมากในสมัยทวารวดีที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีและงานศิลปกรรม สามารถแสดงความเป็นศูนย์กลางของอารยธรรม มีการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใกล้เคียงตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย วัฒนธรรมเขมร และวัฒนธรรมทวารวดีจากแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งเมืองโบราณศรีเทพยังแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่ต่างศาสนาในระยะเวลาเดียวกัน เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางที่เชื่อมโยงเส้นทางสัญจร
แผนการบริหารจัดการเมืองโบราณศรีเทพ เป็นไปตามแผนแม่บทการอนุรักษ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพฉบับปัจจุบันและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมศิลปากร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อแสดงถึงการปกป้องและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องนำเสนอเอกสารฯ ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเข้าวงรอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งมีกำหนดการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564
ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกรวม 5 แหล่ง ได้แก่ (1) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (2) เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (3) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (4) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง และ (5) ป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเคยเห็นชอบการเสนอสถานที่เป็นแหล่งมรดกโลกในลักษณะเดียวกัน คือ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 และ 21 มกราคม 2563) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก
16. เรื่อง ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ที่ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภาค 9 และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดสงขลา พร้อมอาคารที่พักและสิ่งปลูกสร้างประกอบ
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจัดสรรงบประมาณให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทน ไม่น้อยกว่า 20 เท่า ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์ ตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อม กรณีการดำเนินโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน พ.ศ. 2556 ด้วย
3. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ป.ป.ช. รายงานว่า
1) เดิมสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษาสงขลา กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สข.1100 (บางส่วน) ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ 151 ไร่ 1 งาน 29.7 ตารางวา ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แจ้งความประสงค์ไปยัง กปส. เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 66.6 ตารางวา เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา พร้อมอาคารที่พักและสิ่งปลูกสร้างประกอบ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร และอาคารดังกล่าวเป็นอาคารของส่วนราชการจึงไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2) กปส. ได้แจ้งความยินยอมให้สำนักงาน ป.ป.ช. ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุดังกล่าว และแจ้งว่าได้ส่งคืนที่ราชพัสดุให้กับสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สงขลาเรียบร้อยแล้ว
3) สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าวจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังด้วยแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการห้ามใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543) ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติณะรัฐมนตรีดังกล่าว
17. เรื่อง กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เสนอดังนี้
1. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 24,400 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
2. ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 เรื่องแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สาระสำคัญ
กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย (ก) งบสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวน 14,640 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนทุนแบบให้มีการแข่งขัน (Competitive Funding) สำหรับการทำวิจัยที่เน้นตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ และ (ข) งบสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) จำนวน 9,760 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research Fund) และ Functional-based Research Fund เพื่อสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงาน โดยมีเป้าหมาย 4 แพลตฟอร์ม 17 โปรแกรมที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ
แนวทางการจัดสรรงบประมาณของกรอบวงเงินดังกล่าวเป็นแบบวงเงินรวม (Block grant) และการจัดสรรงบประมาณต่อเนื่องแบบหลายปี (Multi-year budgeting) มีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเกิดความคล่องตัว มีความยืดหยุ่นและดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และตรงกับหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปะจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ ตลอดจนช่วยให้งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถสร้างผลงาน หรือแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศได้ในเวลาที่เหมาะสม
18. เรื่อง ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 [เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่ให้เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวต่อคณะรัฐมนตรีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้การบริหารจัดการข้าวสอดคล้องกันทั้งระบบและมีการพัฒนาต่อเนื่อง] ซึ่ง นบข. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. วิสัยทัศน์ คือ ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต โดยแบ่งข้าวออกเป็น 7 ชนิด ตามความต้องการของตลาด 3 ประเภท ดังนี้ 1) ตลาดพรีเมียม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทย 2) ตลาดทั่วไป ได้แก่ ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ 3) ตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวสีหรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ
2. ยุทธศาสตร์ข้าวไทย มี 4 ด้าน สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นยุทธศาสตร์ |
รายละเอียด |
1. ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดต่างประเทศ |
|
1.1 ตลาดนำการผลิต |
เป้าหมาย คือ ประเทศไทยมีชนิดข้าวที่หลากหลายสามารถ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด กลยุทธ์ เช่น 1) การจัดทำฐานข้อมูลตลาดข้าวเชิงลึก 2) การเชื่อมโยงข้อมูลแนวโน้มความต้องการของตลาดกับ ภาคการผลิต และ 3) การผลักดันผลผลิตสู่ตลาดเป้าหมาย
|
1.2 การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทย |
เป้าหมาย คือ ข้าวไทยเป็นหนึ่งด้านคุณภาพและมาตรฐาน กลยุทธ์ เช่น 1) การกำหนดมาตรฐานสินค้าข้าวเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาพันธุ์ข้าว 2) การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสินค้าข้าวไทย และ 3) การผลักดันให้มีห้องปฏิบัติการของรัฐสำหรับ ตรวจวิเคราะห์สารตกค้างหรือสารปนเปื้อน |
1.3 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกข้าวไทย |
เป้าหมาย คือ ลดต้นทุนการส่งออกเพื่อให้แข่งขันได้ กลยุทธ์ เช่น 1) การปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งข้าว 3) การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล การขนส่ง และ 4) การตรวจรับรองมาตรฐานข้าวตั้งแต่ต้นทาง ไปจนถึงปลายทาง |
1.1 การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ |
เป้าหมาย คือ เพิ่มโอกาสและช่องทางตลาดของข้าวไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง กลยุทธ์ เช่น 1) การอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคในการส่งออกข้าวไทย 2) การส่งเสริมการค้าข้าวในรูปแบบที่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของประเทศผู้ซื้อ 3) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรข้าวไทย และ 4) การส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ส่งออกข้าวไทยและผู้นำเข้าเพื่อสร้าง “Brand Loyalty” |
2. ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดภายในประเทศ |
|
2.1 ตลาดนำการผลิต |
เป้าหมาย เช่น 1) เกษตรกรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจวางแผนการผลิตข้าวได้ตรงตามความต้องการของตลาด และ 2) มีการจัดชั้นคุณภาพข้าวเปลือก ข้าวสาร เพื่อเป็นเกณฑ์ในระบบการค้า กลยุทธ์ เช่น 1) การจัดทำฐานข้อมูลความต้องการใช้และบริโภคเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลการส่งออกเป็น Single Demand Base 2) การจัดชั้นคุณภาพข้าวเปลือกและข้าวสาร และ 3) การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) |
2.2 เพิ่มประสิทธิภาพระบบการค้าข้าวและยกระดับกลไก การซื้อขายสู่มาตรฐานสากล |
เป้าหมาย เช่น 1) มีกระบวนการผลิตข้าวสารที่ได้รับการพัฒนา สู่มาตรฐานสากล และ 2) ผู้ผลิตและผู้ค้าข้าวไทยมีศักยภาพ และขีดความสมารถในการแข่งขันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น กลยุทธ์ เช่น 1) การปรับปรุงกฎระเบียบการค้าข้าวและฐานข้อมูลผู้ประกอบการค้าข้าว 2) การจัดระบบการตรวจรับรองมาตรฐานคุณภาพข้าวสารที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และ 3) การส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตข้าวของโรงสีสู่มาตรฐานสากล
|
2.3 บริหารสมดุลอุปสงค์อุปทานข้าวและสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงด้านราคา |
เป้าหมาย เช่น 1) การลดความผันผวนของราคาข้าว ชาวนาได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมคุ้มค่ากับการลงทุน และ 2) กลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการแข่งขันสูงขึ้น กลยุทธ์ เช่น 1) การสร้างหลักประกันรายได้ให้ชาวนา และ 2) การเพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงสีและผู้ค้าข้าวในการดูดซับผลผลิตในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก |
2.4 พัฒนาระบบการเชื่อมโยงและรณรงค์การบริโภค |
เป้าหมาย เช่น 1) ชาวนามีความรู้ด้านการตลาดและการสร้าง Brand สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และ 2) การลดปัญหาสภาพคล่องของคู่ค้าในระบบการค้าข้าว กลยุทธ์ เช่น 1) การจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและการใช้ข้าวระดับจังหวัด และ 2) การส่งเสริมการให้ใบประทวนสินค้าข้าวเป็นหลักทรัพย์
|
3. ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการผลิต |
|
3.1 สร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาและองค์กรชาวนาพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพียงพอและอยู่ดีมีสุข |
เป้าหมาย คือ 1) ชุมชนข้าวมีความเข้มแข็งในระดับมาตรฐาน ไม่น้อยกว่า 10,000 กลุ่ม ในปี 2567 และ 2) มีชาวนาปราดเปรื่อง ปราชญ์ชาวนา และชาวนารุ่นใหม่ ไม่น้อยกว่า 130,000 ราย ในปี 2567 กลยุทธ์ เช่น 1) การยกระดับชาวนาให้เป็นชาวนาปราดเปรื่อง และปราชญ์ชาวนา และ 2) การขยายและสร้างศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตข้าวของชุมชน |
3.2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการ ผลิตข้าว |
เป้าหมาย เช่น 1) ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกแต่ละชนิดเท่ากับ หรือสูง ต่ำกว่าปริมาณความต้องการตลาดไม่เกินร้อยละ 10 ของแต่ละปี และ 2) ต้นทุนการผลิตข้าวทุกชนิด เฉลี่ยไม่เกิน ไร่ละ 3,000 บาท หรือเฉลี่ยไม่เกินตันละ 6,000 บาท ในปี 2567 กลยุทธ์ เช่น 1) การขยายโครงสร้างพื้นฐานการผลิตข้าวโดยเพิ่มแหล่งน้ำในไร่นา จัดรูปแปลงและปรับพื้นที่นา และปรับปรุงบำรุงดินให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญ และ 2) การกำหนดเขตส่งเสริมการปลูกข้าวตามศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) และ 3) การเพิ่มศักยภาพการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอ |
3.3 เพิ่มศักยภาพการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว และเทคโนโลยีการผลิตข้าว |
เป้าหมาย เช่น 1) ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ตรงตามความต้องการของตลาด อายุเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตต่อไร่สูงมาก ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ ในปี 2567 และ 2) มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการลดต้นทุนการผลิตข้าวและผลผลิตต่อไร่ ไม่น้อยกว่า 10 เทคโนโลยีในปี 2567 กลยุทธ์ เช่น 1) ยกระดับและเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และ 2) การเสริมสร้างพัฒนาองค์กรวิจัย สนับสนุนงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากรในการวิจัยข้าวและนักวิจัยรุ่นใหม่ |
4. ยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว |
|
4.1 การส่งเสริมนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของตลาด |
เป้าหมาย เช่น 1) มีผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว ที่มีการนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น และ 2) มีงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว มีมากขึ้น กลยุทธ์ เช่น 1) การส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ และ 2) การส่งเสริมให้มีระบบหรือช่องทางในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ |
4.2 การสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณประโยชน์ |
เป้าหมาย คือ ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรับรู้ถึงคุณสมบัติและคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวเพิ่มมากขึ้น กลยุทธ์ เช่น 1) การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว 2) การพัฒนาตลาดเสมือนจริงผ่านช่องทางเว็บไซต์ และ 3) การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจาก ข้าวผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ |
4.3 การส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ |
เป้าหมาย คือ การค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศมีมูลค่า เพิ่มมากขึ้น กลยุทธ์ เช่น 1) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวผ่านช่องทางออนไลน์ และ 2) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีศักยภาพ |
4.4 การอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยและผู้ประกอบการ |
เป้าหมาย คือ 1) มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่พัฒนาผลิตภัณธ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว และ 2) การดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น กลยุทธ์ เช่น 1) การสนับสุนแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว และ 2) การปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งระบบการให้บริการของภาครัฐ ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ |
19. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ของกระทรวงพาณิชย์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ของกระทรวงพาณิชย์
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
สภาพปัญหา |
แนวทางแก้ไขปัญหา |
1. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) |
|
ด้านการเกษตร |
|
1) ช่องทางการตลาดของสินค้าประมงลดลงในช่วงโควิด-19 |
จัดทำผลิตภัณฑ์แปรรูปและหาช่องทางด้านการตลาดเพิ่มขึ้น |
2) การส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง มีมูลค่าการค้าชายแดนลดลง - ปี 2561 17,000 ล้านบาท - ปี 2562 19,000 ล้านบาท - ปี 2563 5,000 ล้านบาท 3) สถานการณ์โควิด – 19 ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากสามารถนำเข้าผ่านช่องเม็กได้ช่องทางเดียวและเสียช่องทางการส่งออกไป สปป. ลาว ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 17,000 ล้านบาท 4) ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านลดลง |
เร่งสร้างผลผลิตด้านการเกาตรให้เกิดความหลากหลาย |
ด้านแรงงาน |
|
สถานบริการต้องลดจำนวนแรงงานลง ส่งผลให้แรงงานภาคบริการถูกเลิกจ้าง |
- สร้างอาชีพที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง - พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม - พัฒนาเส้นทางคมนาคมในแหล่งท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม |
2. กลุ่มโครงสร้างการพัฒนาจังหวัดด้านต่าง ๆ |
|
ด้านเศรษฐกิจ |
|
ปัจจุบันการซื้อขายในจังหวัดมีมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ทั้งนี้ หากสามารถเจรจากับกัมพูชาเพื่อเปิดเขาพระวิหารให้มีทางขึ้นฝั่งไทยได้ จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทยมาท่องเที่ยวจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมและสวนทุเรียนที่สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ด้วย |
- ควรเปิดด่านช่องอานม้าที่อำเภอน้ำยืน เนื่องจากจะทำให้มูลค่าการส่งออกและนำเข้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท - ควรสร้างนิคมอุตสาหกรรมและสร้างอุตสาหกรรมให้สอดรับกับพื้นที่ รวมทั้งนำสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาใช้เพื่อดึงดูด นักลงทุน เช่น สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี - ขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้วยการวิจัยและ แปรรูปผลิตภัณฑ์และนำออกจำหน่าย |
ด้านการเกษตร |
|
1) ปัญหาใบด่างมันสำปะหลังและราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน |
ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรและการผลิตเกษตรอินทรีย์ |
2) ปัญหาสินค้า เนื้อโค เนื้อหมู ราคาค่อนข้างสูง |
ควรจัดตั้งตลาดกลางเพื่อรองรับสินค้าเกษตร |
ด้านภัยแล้งและน้ำท่วม |
|
1) ปัญหาภัยแล้งและเพลี้ยระบาด 2) ปัญหาน้ำท่วมและการเยียวยาพื้นที่น้ำท่วม |
- เพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ - เพิ่มเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้สามารถทำนาในฤดูแล้งได้ |
ด้านโลจิสติกส์ |
|
การก่อสร้างถนนสาย 24 ซึ่งเป็นถนนที่ผ่านไปสู่อำเภอเดชอุดม |
หากก่อสร้างถนนสาย 24 ไปอำเภอสิริธรจะลดระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้เป็นศูนย์กลางของอินโดจีน เนื่องจากถนนสายนี้จะเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม |
2. ประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
สภาพปัญหา |
แนวทางแก้ไขปัญหา |
1. ด้านโลจิสติกส์ |
|
ถนนเชื่อมเส้นทางการค้าชายแดนและภายในจังหวัดมีสภาพคับแคบ ไม่สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสัญจรของยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นได้ |
- ก่อสร้างถนนวงแหวนด้านทิศเหนือของจังหวัด - ก่อสร้างและปรับปรุงถนนสายหลักเขาพระวิหาร ทางหลวงหมายเลข 221 - ก่อสร้างเพิ่มเส้นทางจราจรทางหลวงหมายเลข 220 ศรีสะเกษ-ขุขันธ์ - เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟรางคู่เพื่อการขนส่งสินค้าทางการเกษตร - สนับสนุนรถโมบายขนส่งสินค้า |
2. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน |
|
1) ประชาชนมีรายได้ลดลงจากการถูกเลิกจ้างในช่วง โควิด-19 2) ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและผลผลิตทางการเกษตร เช่น พริก หอม และกระเทียม กำลังจะออกสู่ตลาด 3) ปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกิน 4) กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อขาดแคลนโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน |
- สนับสนุนให้มีโครงการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน - เตรียมการรองรับแรงงานจากภาคกลางและ ภาคตะวันออกที่ถูกเลิกจ้างและกลับภูมิลำเนา - สนับสนุนการออกหนังสือรับรองที่ดินทำกินให้กับประชาชน - สนับสนุนระบบชลประทานและระบบส่งน้ำเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรและประชาชน - สนับสนุนกลุ่มเลี้ยงโคในจังหวัดศรีสะเกษเพื่อให้ เกิดการแปรรูปผลผลิตออกสู่ตลาด |
3. ด้านสาธารณภัย |
|
อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ประสบปัญหาภัยแล้งและขาดน้ำในการอุปโภคและบริโภค โดยมีลุ่มน้ำห้วยทับทันเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคของจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ |
- ดำเนินโครงการขุดลอกแหล่งน้ำตื้นเขิน - ก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและผันน้ำจากลำห้วยทับทันมาในแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ - ก่อสร้างระบบประปาเพื่อกระจายน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ |
4. ด้านความมั่นคง |
|
1) ความไม่ชัดเจนของแนวเขตระหว่างประเทศ 2) การลักลอบตัดไม้ของคนต่างด้าวและของผิดกฎหมาย โดยเฉพาะไม้เศรษฐกิจที่มีราคาแพง เช่น ไม้พะยูง 3) การลักลอบข้ามพรมแดน |
- สนับสนุนให้เปิดจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าชายแดนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของ 2 ประเทศ บริเวณเขา พระวิหารและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ศรีสะเกษ - ออกมาตรการเพื่อควบคุมการลักลอบข้ามพรมแดนและการลักลอบตัดไม้ โดยเฉพาะไม้พะยูงและสิ่งของผิดกฎหมาย |
3. พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มีการนำผลการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษของ พณ. ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
ตัวอย่างประเด็นปัญหาที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ |
พม. (เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด)
|
การสร้างอาชีพที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง |
กษ. (เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด) |
การเร่งสร้างผลผลิตด้านการเกษตรให้เกิดความหลากหลาย การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปและหาช่องทางด้านการตลาดเพิ่ม |
คค. (เช่น แขวงทางหลวงชนบท) |
การก่อสร้างถนนวงแหวน การก่อสร้างถนนสาย 24 ไปอำเภอสิริธร การเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ |
ทส. |
การออกมาตรการเพื่อควบคุมการลักลอบข้ามพรมแดนและ การลักลอบตัดต้นไม้
|
มท. (เช่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) |
การสนับสนุนให้มีโครงการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน |
รง. (เช่น สำนักงานแรงงานจังหวัด) |
การเตรียมการรองรับแรงงานจากภาคกลางและภาคตะวันออกที่ ถูกเลิกจ้างและกลับภูมิลำเนา |
อก. (เช่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัด) |
การสร้างนิคมอุตสาหกรรมและสร้างอุตสาหกรรมให้สอดรับกับพื้นที่ |
20. เรื่อง ผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2564 (เช่น ปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาล แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 46,600 คน ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน – 8 ธันวาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
อันดับ |
ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาลในปี 2564 |
ร้อยละ |
ความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับในปี 2563 |
ร้อยละ |
1 |
ควมคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา |
79.4 |
ค่าครองชีพสูง เช่น สินค้าอุปโภค บริโภค ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง |
75.2 |
2 |
เพิ่มมาตรการ/สวัสดิการต่าง ๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง เบี้ยยังชีพคนชรา |
27.1 |
ปัญหาจากการทำการเกษตร เช่น ต้นทุนสูง ผลผลิตราคาตกต่ำ |
40.4 |
3 |
แก้ปัญหาด้านการเกษตร เช่น จัดหาตลาดรองรับผลผลิต แก้ปัญหาราคาพืชตกต่ำ |
19.7 |
ไม่มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ |
27.8 |
4 |
แก้ปัญหาการว่างงาน |
15.1 |
รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย / รายได้ลดลง |
19.8 |
5 |
ชดเชยรายได้ที่สูญเสียจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ) โควิด -19) |
12.8 |
หนี้สินในระบบ/นอกระบบ |
15.0 |
ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด (ร้อยละ 45.5 และร้อยละ 47.2 ตามลำดับ)
2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
2.1 ควรมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ (เช่น โควิด-19 ปัญหาน้ำท่วม) อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น ควบคุมราคาสินค้า หาแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ชดเชยรายได้ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน/ถูกเลิกจ้าง หาตลาดรองรับผลผลิตด้านการเกษตร
2.2 ควรมีมาตรการและสวัสดิการของรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้ทั่วถึงและเพียงพอ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การรักษาพยาบาลฟรี การสนับสนุนทุนการศึกษา การส่งเสริมคุณภาพชีวิต
2.3 ควรบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน/เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม การจำหน่ายสินค้าราคาถูก
21. เรื่อง รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามมติคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 [คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเป็นคณะกรรมการตามมติคณะรัฐมนตรี (22 ตุลาคม 2562) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย รวมทั้ง นำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปีหรือเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน] ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็กเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สถานการณ์แรงงานเด็กทั่วโลก องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า ในปี 2568 การใช้แรงงานทุกรูปแบบจะไม่สามารถลดลงเป็นศูนย์ตามเป้าประสงค์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
2. สถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเฉพาะในส่วนของเด็กที่มีอายุ 15-17 ปี พบว่า มีเด็กทั้งหมด 2.61 ล้านคน เป็นเด็กทำงาน 0.17 ล้านคน ทั้งนี้ เด็กทำงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรม รองลงมาอยู่ในกิจการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์ การผลิต และการก่อสร้างและกิจการโรงแรม ตามลำดับ
3. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในปี 2562 มีการใช้แรงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จำนวน 2,696 คน โดยพบว่า การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดมีจำนวนมากที่สุด จำนวน 2,495 คน รองลงมาคือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็ก เพื่อการค้าประเวณี จำนวน 106 คน การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานเด็ก จำนวน 59 คน และการให้เด็กทำงานที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพความปลอดภัย หรือศีลธรรมของเด็ก มีจำนวนต่ำสุดเพียง 36 คน
4. ผลการประเมินจัดระดับสถานการณ์แรงงานเด็ก โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยได้รับการจัดระดับว่ามีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญโดยมีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยดำเนิการในประเด็นการคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร่วมการชกมวยไทยโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกัน (สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยอยู่ระหว่างการทบทวนกฎหมาย กฎ กติกา รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันอันตรายให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น)
5. การบริหารจัดการข้อมูลในส่วนของรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติด ซึ่งพบว่า มีการใช้แรงงานเด็กมากที่สุด โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้เห็นชอบร่วมกันในการใช้ข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเป็นข้อมูลในส่วนของรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดสำหรับรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมถึงรายงานในปีถัดไปด้วย
6. ข้อเสนอแนะให้หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องดำเนินงานเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น (1) นำข้อเสนอแนะของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาจากการประเมินจัดระดับสถานการณ์แรงงานเด็กของประเทศไทย (ตามข้อ 4) มาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม (2) ควรสำรวจการทำงานของเด็กอายุ 5-17 ปี เป็นการเฉพาะในประเทศไทยทุก 4 ปี เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้สำรวจไปแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กของประเทศไทย
7. ผลการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เช่น
7.1 การตราและประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
(1) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 และ (2) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2562 โดยกำหนดความผิดและมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการไว้เป็นการเฉพาะ
7.2 การตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการเกี่ยวเนื่องประมงทะเล กิจการผลิตสินค้าจากอ้อย กิจการเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสถานประกอบกิจการ รวม 1,892 แห่ง ลูกจ้างรวม 76,624 คน พบว่า มีสถานประกอบกิจการปฏิบัติถูกต้อง จำนวน 970 แห่ง ลูกจ้างรวม 45,924 คน และมีสถานประกอบกิจการปฏิบัติไม่ถูกต้อง จำนวน 922 แห่ง ลูกจ้างรวม 30,700 คน จึงได้แนะนำนายจ้างถึงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง ตลอดจนออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามกฎหมายและติดตามผลจนกระทั่งนายจ้างปฏิบัติถูกต้องหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
8. การดำเนินการต่อไปเพื่อขับเคลื่อนการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น การดำเนินมาตรการถอดรายการสินค้าออกจากรายการที่ถูกขึ้นบัญชี การใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับอย่างน้อย 1 รายการ ภายในปี 2565
22. เรื่อง ผลการดำเนินงานตามนโยบายของส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) เสนอ รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลของส่วนราชการในสังกัด นร. [สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมสตรี (สปน.) กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)] ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (23 มิถุนายน 2563) ที่มอบหมายให้ทุกส่วนราชการจัดทำข้อมูลผลการปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเสนอคณะรัฐมนตรี โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ |
ผลการดำเนินงานที่สำคัญของส่วนราชการในสังกัด นร. |
1. สปน. |
|
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ |
- การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส เฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 ภายใต้การจัดงาน “ชีวิตวิถีใหม่ ใต้ร่มพระบารมี ... เราสร้างไปด้วยกัน” ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2563 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร - การจัดงานเฉลิมพระกียรติสมด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2563 ภายใต้การจัดงาน “วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2563 รักเอยรักลูก” ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม 2563 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร - การจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้าย วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2562 - การจัดกิจกรรมน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2562 - การจัดงานวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2562 เพื่อถวายพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2562
|
2) การตรวจราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี |
- ผู้ตรวจราชการกระทวง/กรม คณะผู้ตรวจราชการได้ร่วมกำหนดและดำเนินการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น การเกษตรสร้างมูลค่า การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการพัฒนาชุมชนเมือง - การตรวจราชการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือข้อร้องเรียนของประชาชนโดยนำกระบวนการ Government Innovation Lab มาปรับใช้ในการดำเนินการ |
3) การให้บริการประชาชน |
- สปน. ในฐานะศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน จำนวน 140,238 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 99,591 เรื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 82,146 เรื่อง (ร้อยละ 82.48) และอยู่ระหว่างดำเนินการ 17,445 เรื่อง (ร้อยละ 17.52) โดยช่องทางการยื่นเรื่องร้องทุกข์มากที่สุด ได้แก่ สายด่วนของรัฐบาล 1111 สำหรับประเภทเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ สังคมและสวัสดิการ |
4) จิตอาสาภาครัฐ |
- ผู้แทนรัฐบาลประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ประสานงานหลักจิตอาสาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมและลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการดำเนินโครงการจิตอาสาภาครัฐและพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนทั่วประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัย จำนวน 5 ครั้ง รวม 8 โครงการ
|
5) การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น |
- สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดทำ (ร่าง) แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563-2565 โดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนดังกล่าวทั้ง 2 แผนแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป |
6) การทำงานร่วมกับภาคประชาชน |
- คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดได้ติดตามการดำเนินแผนงาน/โครงการ และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัด (ข้อมูลรอบ 6 เดือนแรก) จำนวน 403 โครงการ/เรื่อง แล้วแจ้งข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทราบและ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป - สปน. ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) จำนวน 634 คน
|
7) ภารกิจพิเศษที่รัฐบาลมอบหมาย |
- การติดตามมาตรการและการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุยิงประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และ การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) |
8) การเสริมสร้างประสิทธิภาพภาครัฐ |
- การจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในระบบตรวจราชการ จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ (1) หลักสูตรผู้ตรวจราชการกระทรวง (2) หลักสูตร ผู้ตรวจราชการกรม และ (3) หลักสูตรผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ - การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้กับคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ |
2. กปส. |
|
1) การเป็นศูนย์ข้อมูลต้นทางของประเทศในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 |
-กปส. เป็นศูนย์ข้อมูลต้นทางของประเทศในการบริหารจัดการศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน 2019 รวมทั้ง มีสถานีวิทยุโทรทัศน์ แห่งประเทศไทย (NB) เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดการแถลงข่าวไปยังสถานีโทรทัศน์ กปส. ภูมิภาค 4 สถานี - การปรับช่อง NBT เป็น COVID Channel ผลิตรายการเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง - การจัดทำประเด็นประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของ COVID - 19 - การจัดทำเพจ Facebook ศูนย์ข้อมูลโควิด -19 ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารเปิดช่องทางการสื่อสารให้แก่ ประชาชนและสื่อมวลชน |
2) การบริหารข้อมูลข่าวสารและแก้ไขข่าวปลอม (Fake News) |
- การชี้แจงข่าวปลอมได้ดำเนินการใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) ให้ส่วนราชการชี้แจงผ่านกลไกการชี้แจงประเด็นที่ทันต่อสถานการณ์ และ (2) ใช้กลไกจากเครือข่ายเพื่อตรวจสอบและตอบโต้/ชี้แจง Fake News ซึ่งประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทันต่อความจำเป็นในการดำเนินชีวิตหรือทันต่อสถานการณ์ |
3) การควบรวมสถานีโทรทัศน์ NBT ภูมิภาค ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ทั้ง 4 ภูมิภาค |
- การพัฒนาช่องทางสื่อของ กปส ได้แก่ การพัฒนา NBT ภูมิภาค ให้เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ระดับท้องถิ่น 4 ภูมิภาค (เหนือ อีสาน กลาง และใต้) โดยมีหลักการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ นโยบาย การดำเนินงานภาครัฐข่าวสารประจำวันที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการเติมเต็มข้อมูลข่าวสารที่สื่อจากส่วนกลางไม่สามารถเสนอได้ โดยการใช้ภาษาถิ่นที่เข้าใจง่าย สร้างความรู้สึกเป็นกันเองใกล้ชิดกับผู้ชม และสามารถส่งข้อมูลถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามต้องการ
|
3. สคบ. |
|
1) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ |
- การพัฒนาระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค โดยประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องทุกข์ ผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง - การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้าน ต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง - การพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ โดยเป็นต้นแบบในการ นำเครื่องมือทางเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับกระบวนงานการไกล่เกลี่ยเป็นรูปแบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ร้องเรียน - การพัฒนาระบบจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ ผู้ประกอบธุรกิจ |
2) การปฏิรูปกฎหมาย |
- การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน และ ร่างประมวลกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวิเคราะห์ผลดี ผลเสียของการรวบรวมกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดของประเทศให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียว - การจัดทำแผนพัฒนากฎหมายของ สคบ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2566 |
3) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน |
- การจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่ไม่ได้รับความป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการ รวมทั้งการจัดช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ ทางไปรษณีย์ และทางเว็บไซต์ www.ocpb.go.th |
4) การเสริมสร้างความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค |
- การรณรงค์จัดฝึกอบรมสัมมนา เช่น การสัมมนาความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และกิจกรรมคลินิก สคบ.
|
23. เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 (ครั้งที่ 151)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้
1. รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2563 (ครั้งที่ 151) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ พน. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) และข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. ให้ พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโครงการนำร่องตามแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและการกำกับดูแล และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการต่าง ๆ ภายใต้กองทุนฯ และโครงการนำร่องตามแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพลังงาน (พน.) รายงานว่า ในคราวประชุม กพช. ครั้งที่ 2/2563 (16 พฤศจิกายน 2563) ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติในเรื่องเชิงนโยบายที่สำคัญและได้รับรองมติการประชุมเรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 เรื่อง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
หัวข้อ |
รายละเอียด |
||||||||||||||||||||||||
1.1 การประชุม กพช. (16 ธันวาคม 2562) |
เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในช่วงปี 2563 - 2567 ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เสนอ และเห็นชอบให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนฯ สำหรับใช้จ่ายตามแนวทางดังกล่าวในวงเงิน ปีละ 10,000 ล้านบาท ภายในวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยแบ่งตามสัดส่วนได้ ดังนี้ (1) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ร้อยละ 50 (2) แผนพลังงานทดแทน ร้อยละ 47 และ (3) แผนบริหารจัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ร้อยละ 3 |
||||||||||||||||||||||||
1.2 การประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ (26 สิงหาคม 2563) |
- อนุมัติจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 1,035 โครงการ วงเงิน 2,067 ล้านบาท - จัดทำประมาณการกระแสเงินสด (Cash Flow) ของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2564 - 2567 ณ กันยายน 2563 ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท
|
||||||||||||||||||||||||
1.3 การปรับปรุงโครงสร้างของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2564 |
- พน. ได้จัดทำโครงสร้างของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ โดยมีการรวมแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและแผนพลังงานทดแทนเดิม และจัดเป็น 2 แผนใหม่ในวงเงินรวม 6,500 ล้านบาท ได้แก่ แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงิน 6,305 ล้านบาท ซึ่งมี 7 กลุ่มงานย่อย อาทิ กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 500 ล้านบาท กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ 355 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก 2,400 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการ ส.กทอ. ในวงเงินรวม 195 ล้านบาท - ปรับปรุงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการสร้างงานและสร้างรายได้ด้านพลังงานตามมติคณะรัฐมนตรี (12 พฤษภาคม 2563) เรื่อง กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ การให้ความสำคัญต่อสาขาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีความได้เปรียบในช่วงหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 - เตรียมความพร้อมผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ตามกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 |
||||||||||||||||||||||||
1.4 การประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 (30 ตุลาคม 2563) |
มีมติเห็นชอบให้เสนอ กพช. ยกเลิกแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2563 - 2567 และเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2564 ในวงเงิน 6,500 ล้านบาท (ตามข้อ 1.3) |
กพช. มีมติ เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เสนอ (ตามข้อ 1.4) และเห็นชอบให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนฯ สำหรับการใช้จ่ายตามแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตามลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามกลุ่มงานต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ภายในวงเงินดังกล่าว
2. แนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
2.1 พน. ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักการการรับซื้อและเงื่อนไขของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จากมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 โดยคำนึงถึงการจัดหาวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ โดยมีรายละเอียดเปรียบเทียบได้ ดังนี้
เงื่อนไขเดิม ตามมติ กพช. (16 ธันวาคม 2562) |
เงื่อนไขใหม่ (โครงการนำร่อง) |
1. ประเภทเชื้อเพลิง |
|
ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และเชื้อเพลิงแบบผสมผสานร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ |
ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25) |
2. เป้าหมายการรับซื้อ |
|
700 เมกะวัตต์ |
150 เมกะวัตต์ (ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์) |
3. ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายต่อโครงการ |
|
ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ |
1) โรงงานไฟฟ้าชีวมวล ไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ 2) โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ |
4. รูปแบบผู้เสนอโครงการ |
|
ภาคเอกชน หรือภาคเอกชนร่วมองค์กรของรัฐ |
เฉพาะภาคเอกชน |
5. การแบ่งผลประโยชน์ |
|
แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และ (2) ส่วนแบ่งจากรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ในอัตรา 25 สตางค์ต่อหน่วยให้กับกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า |
แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และ (2) ผลประโยชน์อื่น ๆ สำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม อาทิ ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค และด้านการศึกษา |
6. วิธีการคัดเลือกโครงการ |
|
ใช้การประเมินคุณสมบัติขั้นต้นและให้คะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน |
ใช้วิธีแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) |
2.2 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติ (11 พฤศจิกายน 2563) เห็นชอบให้ดำเนินโครงการนำร่อง โดยมีหลักการการรับซื้อและเงื่อนไข (ตามข้อ 2.1) และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่น ๆ อาทิ
ลำดับ |
หลักการการรับซื้อและเงื่อนไข |
1 |
เป้าหมายการรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ โดยกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA, Power Purchase Agreement) แบ่งเป็น (1) เชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ และ (2) เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25) ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ |
2 |
เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT |
3 |
วิธีการคัดเลือกโครงการ จะพิจารณาข้อเสนอขอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคา ดังนี้ (1) ด้านเทคนิค อาทิ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี พื้นที่มีระบบสายส่งรองรับ เชื้อเพลิง พื้นที่ปลูก การบริหารน้ำ และปัจจัยอื่น ๆ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร (ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคจะได้รับการพิจารณาด้านราคาต่อไป) และ (2) ด้านราคา (Competitive Bidding) โดยผู้ยื่นเสนอโครงการจะต้องเสนอส่วนลดในส่วนของ FiT คงที่ ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า |
4 |
โครงการที่ยื่นขอขายไฟฟ้าต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ |
5 |
มีแผนการจัดหาเชื้อเพลิงในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องระบุข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ (1) ปริมาณการรับซื้อพืชพลังงาน (2) ระยะเวลาการรับซื้อพืชพลังงาน (3) คุณสมบัติของพืชพลังงาน และ (4) ราคารับซื้อพืชพลังงาน โดยพืชพลังงานที่จะนำมาใช้จะต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงอย่างน้อยร้อยละ 80 และผู้ประกอบการสามารถจัดหาเองได้ไม่เกินร้อยละ 20 |
2.3 กพช. มีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อและเงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้านำร่อง เงื่อนไขใหม่ (ตามข้อ 2.2) และมอบหมายให้ กกพ. ไปดำเนินการออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และดำเนินการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้ กบง. พิจารณา
24. เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการกำหนดสินค้าควบคุมปี 2564 จำนวน 4 รายการ ได้แก่ (1) หน้ากากอนามัย (2) ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย (3) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และ (4) เศษกระดาษ และกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันพุธที่ 13 มกราคม 2563 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า
ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2563 เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องออกประกาศใหม่ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน และนำลงประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนวันสิ้นสุดผลการบังคับใช้ รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับดูแลสินค้าควบคุมให้มีกำหนดระยะเวลาต่อเนื่องในการบังคับใช้ จึงเห็นควรกำหนดสินค้าควบคุม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) มีการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรุนแรงกว่าในรอบแรก ดังนั้น หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ยังคงมีความจำเป็นที่รัฐจำเป็นต้องติดตามกำกับดูแล และควบคุมสินค้าดังกล่าวให้มีปริมาณเพียงพอ และมีราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นธรรม เพื่อให้การกำกับดูแล ติดตาม ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรกำหนดเป็นสินค้าควบคุม จำนวน 3 รายการ คือ 1) หน้ากากอนามัย 2) ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย และ 3) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ
2. ปัจจุบันมีการนำเข้าเศษกระดาษของประเทศจีนในฐานะผู้นำเข้าเศษกระดาษรายใหญ่ของโลก พบว่า มีการชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาเศษกระดาษในตลาดโลก ปรับตัวลดลง ซึ่งอาจมีการนำเข้าเศษกระดาษมาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอันจะเป็นปัจจัยที่กดทับราคาเศษกระดาษในประเทศ จึงยังคงมีความจำเป็นต้องกำหนดเป็นสินค้าควบคุม เพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมดาด้านราคาแก่ผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า (ซาเล้ง) และผู้เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้อีก เป็นสินค้าควบคุม
25. เรื่อง ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป “โครงการจัดหาอากาศยาน (ทดแทน) เพื่อใช้ในภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง”
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รายการเครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ วงเงินทั้งสิ้น 1,252,000,000 บาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 250,400,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - พ.ศ. 2567 จำนวน 1,001,600,000 บาท ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนการดำเนินการและยืนยันความพร้อมของรายการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ประมาณการราคา ผลการสอบราคา ความพร้อมในการดำเนินงานให้ครบถ้วน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วนและคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็นตามวงเงินงบประมาณประจำปีต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
26. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ได้พิจารณาจัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 6 วรรคสาม พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงาน/โครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) พิจารณาความเหมาะสมของการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ และพิจารณาความเหมาะสมของการขอยกเลิกการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ รวมถึงรายงานผลการพิจารณาข้อเสนอโครงการองค์กรภาคประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ และมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1. อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (3) มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5 (2) เพิ่มเติมจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ระลอกใหม่ในประเทศ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ ต่อไป
2. อนุมัติโครงการเราชนะ ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังกรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่ 2.1 โดยเห็นควรกำหนดเงื่อนไขการดำเนินโครงการฯ ดังนี้
2.1 กรอบวงเงินให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ภายใต้โครงการฯ เมื่อรวมกับเงินที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือตามสิทธิผ่านช่องทางต่างๆ แล้วจะได้รับเงินช่วยเหลือจาก โครงการฯ รวมเป็นไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือน
2.2 การใช้จ่ายเงินที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ จะไม่สามารถเบิกเงินสดได้ โดยต้องนำไปใช้ผ่านระบบ เพื่อชำระค่าสินค้า เครื่องดื่ม และอาหาร โดยครอบคลุมการใช้ชำระค่าบริการในส่วนของค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) และรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งบริการต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาสูบที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น
2.3 ผู้ประกอบการ/ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า ที่เป็นนิติบุคคล โดยเป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อยที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้ หรือเป็นร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.4 ระยะเวลาที่ประชาชนสามารถใช้จ่ายเงินสนับสนุนได้ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2564 และควรกำหนดกรอบวงเงินการใช้จ่ายในรูปแบบรายสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายแต่ละช่วงเวลา
2.5 การใช้สิทธิ์ของโครงการฯ ควรสนับสนุนให้อยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมพื้นที่ของรัฐบาล
ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับบุคลากรในสังกัดให้ปฏิบัติตามแนวทางหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
3. อนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ภายใต้กรอบวงเงินของโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2
4. มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 2 และข้อ 3 และดำเนินการ ดังนี้
4.1 รับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
4.2 จัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์/รายวัน (แล้วแต่กรณี) เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ
4.3 รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหา อุปสรรคในระบบ eMENSCR และจัดส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
4.4 ประสานกับกระทรวงการคลังในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ ด้วย
5. อนุมัติการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ โดยเห็นควรปรับลดกรอบวงเงินของโครงการจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 วงเงิน 9,805.7075 ล้านบาท เป็น 3,550.9175 ล้านบาท และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เป็นธันวาคม 2564 พร้อมทั้งเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลหน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด
6. อนุมัติให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ยกเลิกการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการขายในรูปแบบตลาดออนไลน์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลา บ้านท่าดินแดง จังหวัดนครสวรรค์ วงเงิน 1.6370 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเสนอ พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กำกับสถาบันการศึกษาให้พิจารณาตรวจสอบความซ้ำซ้อนของโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในภาพรวมต่อไป
7. รับทราบผลการพิจารณาข้อเสนอโครงการขององค์กรภาคประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐ เพื่อขอใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้หัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบตามข้อเสนอโครงการขององค์กรภาคประชาชน พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ต่อไป
27. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) เพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้
1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยปรับกรอบงบประมาณโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) จากวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท เป็นวงเงิน 6,216.25 ล้านบาท โดยเพิ่มงบประมาณในส่วนการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จาก 2,379.4306 ล้านบาท เป็น 2,545.9606 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในการดำเนินงานดังกล่าว
2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงิน 166,530,000.- บาท ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca)
สาระสำคัญ/ข้อเท็จจริง
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) วงเงิน 6,049,723,117.- บาท และคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบโครงการดังกล่าวและอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้โครงการข้างต้น วงเงิน 2,379.43 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าว ดำเนินการภายใต้นโยบายไม่สร้างกำไรและไม่ขาดทุน (No profit, no loss) ทำให้ราคาของวัคซีนคำนวณตามต้นทุนที่ใช้ในการวิจัย พัฒนาและผลิตเท่านั้น โดยในการเจรจาตกลงราคาเป็นราคาสุทธิของวัคซีน ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7 ของมูลค่าวัคซีนที่จอง และตามสัญญาจองวัคซีนล่วงหน้า (Advance Market Commitment Agreement) กำหนดว่า ราคาที่กำหนดนั้นไม่รวมภาษีทางอ้อม ประกอบกับหนังสือกรมสรรพากร ด่วนที่สุด ที่ กค 0702/พ.104 ลงวันที่ 7 มกราคม 2564 กรมสรรพากรแจ้งให้ทราบว่า ผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในฐานะผู้ซื้อสินค้าจึงต้องถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของมูลค่าฐานภาษี ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร และกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจึงไม่อาจยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้ได้แต่อย่างใด
กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7.0 ของมูลค่าวัคซีนที่จอง ในวงเงิน 166,530,000.- บาท
สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 166,530,000.- บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7.0 ของมูลค่าวัคซีนที่จอง
ต่างประเทศ
28. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: ACWC) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในการเสนอชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกลำดับแรก (นาวสาวรัชดา ไชยคุปต์) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: ACWC) (ผู้แทนไทย ACWC) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี (นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ – 6 ตุลาคม 2566) โดยหากผู้ได้รับคัดเลือก (นาวสาวรัชดา ไชยคุปต์) ถูกเพิกถอนรายชื่อ หรือสละสิทธิ หรือมีเหตุอื่นที่ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยใน ACWC หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิจารณาเรียกผู้ได้รับการคัดเลือกในลำดับถัดไปเพื่อดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยใน ACWC โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของประเทศไทย มีหนังสือแจ้งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยใน ACWC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
ตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: ACWC) กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะแต่งตั้งผู้แทน จำนวน 2 คน โดยเป็นผู้แทนด้านสิทธิสตรี 1 คนและผู้แทนด้านสิทธิเด็ก 1 คน ซึ่งนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ได้สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 7 ตุลาคม 2563 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะหน่วยงานประสานงานหลักในการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาขาสวัสดิการสังคมและการพัฒนา จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติให้นางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยใน ACWC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ในวาระก่อนหน้า (ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2560 – วันที่ 7 ตุลาคม 2563) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยใน ACWC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี (นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2566) ซึ่งที่ผ่านมา มีผลงานในขณะดำรงตำแหน่งเป็นที่ประจักษ์ เช่น โครงการจัดทำสื่อรณรงค์เพื่อขจัดความรุนแรงต่อสตรีและการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประชาคมอาเซียน โครงการทบทวนและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี โครงการนำร่องของ ACWC ในการนำแนวปฏิบัติที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะสำหรับการดูแลสตรีที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เป็นต้น คณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนไทยใน ACWC จึงมีความเห็นว่าการได้รับคัดเลือกอีกวาระหนึ่งจะส่งผลให้การดำเนินโครงการ/กิจกรรม มีความต่อเนื่อง ตลอดจนช่วยผลักดันแผนงาน/โครงการของประเทศไทยในระยะถัดไป
29. เรื่อง การจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปเพื่อแก้ไขความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงิน สำหรับโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการพื้นที่คุ้มครองในอาเซียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือตอบรับของฝ่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงิน สำหรับโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการพื้นที่คุ้มครองในอาเซียน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือตอบรับของฝ่ายอาเซียน และให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งความเห็นชอบของประเทศไทยต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ณ กรุงมะนิลา ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ผู้ควบคุมโครงการฯ ของฝ่ายสหภาพยุโรป) เสนอให้จัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อแก้ไขความตกลงฯ สืบเนื่องจากจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ทำให้คณะกรรมการกำกับโครงการฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 เสนอให้ขยายระวะเวลาการดำเนินงานโครงการออกไปอีก 1 ปี ซึ่งจะต้องแก้ไขสัญญาให้เปล่า (Grant Contract) ที่สหภาพยุโรปทำไว้กับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และสัญญาจ้างที่ปรึกษา ซึ่งการขยายสัญญาทั้งสองฉบับมีความเกี่ยวข้องกับการใช้งบฉุกเฉินภายใต้ความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงิน ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงเสนอให้จัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อแก้ไขความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินในข้อบทที่ 2 เงื่อนไขพิเศษ (Article 2 Special Conditions) โดยให้ขยายระยะเวลาบริหารงานโครงการในภาพรวมทั้งหมดอีก 12 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมระยะเวลาดำเนินงาน การติดตาม และการตรวจสอบโครงการฯ ดังนี้
เดิม |
ขยายเป็น (เสนอครั้งนี้) |
ระยะเวลาบริหารงานโครงการฯ ในภาพรวม 90 เดือน (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2567) แบ่งเป็น 1) ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 66 เดือน (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565) 2) ระยะเวลาติดตามและตรวจสอบ 24 เดือน (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2567) |
ระยะเวลาบริหารงานโครงการฯ ในภาพรวมเป็น 102 เดือน (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2568) แบ่งเป็น 1) ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ เป็น 78 เดือน (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2566) 2) ระยะเวลาติดตามและตรวจสอบ 24 เดือน (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2568) |
โดยเลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนจะเป็นผู้ลงนามหนังสือของฝ่ายอาเซียนเพื่อตอบรับข้อเสนอของฝ่ายสหภาพยุโรป
30. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ (Communique) สำหรับการประชุม Global Forum for Food and Agriculture (GFFA) ครั้งที่ 13 และการประชุม Berlin Agriculture Ministers’ Conference ครั้งที่ 13
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ (Zero Draft-2021 Communique) ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน (Berlin Agriculture Ministers’ Conference) ครั้งที่ 13 และอนุมัติในหลักการว่าหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าว ในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเอกสารร่างแถลงการณ์ฯ เป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่รัฐมนตรีเกษตรที่เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม Global Forum for Food and Agriculture (GFFA) ครั้งที่ 13 จะร่วมรับรองโดยไม่มีการลงนาม เอกสารร่างแถลงการณ์ (Zero Draft-2021 Communique) จะมีการพิจารณารับรองในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13 ในวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2564 ผ่านการประชุมออนไลน์ลักษณะเสมือนจริง (virtual event)
ร่างแถลงการณ์ฯ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 2 การขจัดความอดอยาก หิวโหย การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร การทำการเกษตรที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร การป้องกันโรคระบาดพืชและสัตว์ การบรรเทาความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคการเกษตร การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำการเกษตร ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมความปลอดภัยอาหาร โดยมิให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านอาหาร สัตว์ และพืช ทั้ง Codex, OIE และ IPPC ตามลำดับ รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขของ WTO
31. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) และให้ความเห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 และผลการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
สาระสำคัญ ดังนี้
1. การพิจารณารายงานของที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 26
1.1 ที่ประชุมเห็นชอบรายงานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 26และรับทราบผลการดำเนินการต่างๆเช่น (1) ผลการดำเนินงานภายใต้แผนงาน IMT-GT ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาคและลดความเหลื่อมล้ำ และความยากจนลง (2) ผลการประชุมเพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งได้หารือถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อแผนงาน IMT-GT และแนวทางการพลิกสถานการณ์ภายหลังการระบาดให้เป็นโอกาส (3) ผลการทบทวนการดำเนินการภายใต้แผนดำเนินงานระยะ 5 ปี 2560-2565 ภายใต้วิสัยทัศน์ 2579 ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์แล้วกว่าร้อยละ 77.3 และเร่งรัดการดำเนินการโครงการที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 พร้อมทั้งย้ำให้มีการประเมินผลกระทบและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเสนอใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและความท้าทายในปัจจุบัน (4) ความก้าวหน้าของความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น เครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT สภาธุรกิจ IMT-GT ธนาคารพัฒนาเอเชีย และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยมีโครงการสำคัญ เช่น การผลักดันการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการต่างๆ ของทุกคณะทำงานและการศึกษาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงาน IMT-GT
1.2 ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งรัดการเปิดตัวแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ IMT-GT และการลงนามในกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ ภายในปี 2564 การพัฒนาระบบนิเวศฮาลาลที่ครอบคลุมผ่านกลยุทธ์ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมฮาลาลตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันในนุภูมิภาคและเสริมสร้างการทำงานร่วมกันข้ามสาขาความร่วมมือ
1.3 ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป ได้แก่ (1) เร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ เพื่อช่วยยกระดับการค้าข้ามพรมแดนพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า และสนับสนุนการเคลื่อนย้ายคนภายในอนุภูมิภาค (2) ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของอนุภูมิภาค IMT-GT ในอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและฮาลาล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อยอย่างครอบคลุมและทั่วถึง (3) สนับสนุนความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 (4) ส่งเสริมการพัฒนาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้การดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และ (5) มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมแผนดำเนินงานระยะห้าปี 2565-2569 ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ในระยะต่อไป
2 การพิจารณารายงานของที่ประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 17(1) ความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT ที่เกี่ยวกับกรอบการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น กรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและสภาเทศมนตรีสีเขียว (2) ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) มาเลเซีย และประเทศไทย (ไทย) และ (3) การสนับสนุนความก้าวหน้าของสภาธุรกิจ IMT-GT ในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจ
3. การพิจารณารายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย(1) การทบทวนและประเมินการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ โดยเสนอให้ปรับโครงสร้างระเบียงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบทบาทของจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเกิดความเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นเครือข่ายซึ่งจะช่วยยกระดับการเข้าถึงทรัพยากรและตลาดสินค้าและบริการในอนุภูมิภาค รวมทั้งให้เปลี่ยนชื่อระเบียงเศรษฐกิจซึ่งจากเดิมใช้ชื่อจังหวัดหรือรัฐที่เป็นจุดเชื่อมต่อ เป็นการเรียกชื่อตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เช่น จากเดิม ระเบียงเศรษฐกิจสงขลา-ปีนัง-เมดาน เป็น ระเบียบเศรษฐกิจไทยตอนใต้-มาเลเซียตอนเหนือ-สุมาตราตอนเหนือ และ (2) ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงาน IMT-GT ซึ่งเสนอให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการทำงานร่วมกับผ่านการสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียว และเสริมกลยุทธ์ความร่วมมือด้วยการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาเรื่องการทบทวนและประเมินการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจและแนวทาง การพัฒนาความร่วมมือ เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงานของธนาคารพัฒนาเอเชียในการขับเคลื่อนอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน
4. การดำเนินการเกี่ยวกับ โควิด-19 ของไทย รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทยได้นำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจาก โควิด-19 ในปัจจุบัน เช่นโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่ง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และลดภาระค่าของชีพของประชาชนรวมทั้งเน้นย้ำในเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
5. แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 26 ที่ประชุมได้เห็นชอบแถลงการณ์ โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมให้มีเนื้อหาที่มีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้นแต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาและสาระสำคัญตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
6. มาเลเซียจะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้องแผนงานในปี 2564 ณ รัฐกลันตัน มาเลเซีย
32. เรื่อง การบริจาคเงินสมทบกองทุนเสริมสร้างสันติภาพ (Peacebuilding Fund) ของสหประชาชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการบริจาคเงินสมทบกองทุนเสริมสร้างสันติภาพ (Peacebuilding Fund – PBF) ประจำปี 2565 เพื่อสนับสนุนบทบาทการเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพ (Peacebuilding Commission – PBC) ของสหประชาชาติ และการเสริมสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 3,037,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เท่ากับ 30.37 บาท) เห็นสมควรให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการบริจาคเงินสมทบกองทุน PBF โดยสมัครใจ มีดังนี้
1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในการผลักดันความร่วมมือระดับพหุภาคีในประเด็นการเสริมสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งในกรอบ PBC การประชุมระดับสูงด้านการเสริมสร้างสันติภาพ และในกรอบอื่น ๆ โดยการบริจาคเงินสมทบกองทุน PBF เป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนภารกิจด้านการเสริมสร้างสันติภาพของสหประชาชาติอย่างเป็นรูปธรรม
2. ส่งเสริมสถานะและเกียรติภูมิของไทยในเวทีระหว่างประเทศในฐานะประเทศที่มีบทบาทด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติและการเสริมสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ แผนย่อยด้านการส่งเสริมสถานะและบทบาทของประเทศไทยในประชาคมโลก
3. ส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ของไทย โดยเฉพาะกับประเทศที่อยู่ในอาณัติของ PBC และประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุนโครงการภายใต้กองทุน PBF ซึ่งประสบหรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง รวมทั้งส่งเสริมบทบาทไทยในการสนับสนุนขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
33. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 17
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 17 ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างปฏิญญาอังการา 2) ร่างแผนงานกรอบความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2021 – 2030 และ 3) ร่างหลักการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวรของกรอบความร่วมมือเอเชีย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์ ทั้ง 3 ฉบับ มีดังนี้
1. ร่างปฏิญญาอังการา เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือในทวีปเอเชียเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์เอเชีย ค.ศ. 2030 (Asia Vision 2030) ของกรอบความร่วมมือเอเชีย การสนับสนุนภาคธุรกิจและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล การศึกษา สาธารณสุข การค้า การขนส่งและความเชื่อมโยง
2. ร่างแผนงานกรอบความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2021 – 2030 เป็นเอกสารที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือในแต่ละเสาให้มีทิศทางมากขึ้น กล่าวคือ (1) ด้านความเชื่อมโยง เน้นการสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในทุกมิติให้ครอบคลุมทั้งทวีปเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนภายในเอเชีย (Intra ACD trade) (2) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เน้นการส่งเสริมขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการพัฒนาต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และการใช้ดาวเทียมเพื่อเตือนภัยธรรมชาติ เป็นต้น (3) ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการสร้างโอกาสการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในศตวรรษที่ 21 (4) ด้านอาหาร พลังงาน และความมั่นคงด้านน้ำ เน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน และการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (5) ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เน้นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (6) ด้านการส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม เน้นการเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองและการสร้างความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ เช่น โรคโควิด-19 และการร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาและขจัดความยากจน
3. ร่างหลักการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวรของกรอบความร่วมมือเอเชีย เป็นเอกสารกำหนดขอบเขตภารกิจ โครงสร้างองค์กร แนวทางการบริหารงาน และการจัดสรรงบประมาณสำหรับสำนักเลขาธิการถาวรของกรอบความร่วมมือเอเชีย โดยสาระสำคัญหลักเน้นเรื่องแนวทางการแต่งตั้งและขอบเขตหน้าที่ของเลขาธิการ
แต่งตั้ง
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นางสาววิจิตรา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นางสาวภคมน ศิลานุภาพ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ (นักวิชาการแรงงานทรงคุณวุฒิ) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
36. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1. นายนพดล วาณิชฤดี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563
2. นางพรสุดา กฤติกาเมษ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลนครพิงค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) โรงพยาบาลนครพิงค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2563
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
37. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกและรองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะรัฐมนตรีรับทราบการแต่งตั้งนายอนุกูล ปีดแล้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางจตุพร โรจนพานิช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ [คำสั่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ 848/2563 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกและรองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ฝ่ายข้าราชการประจำ)]
38. เรื่อง แต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเสนอการแต่งตั้ง นายนพพร ชื่นกลิ่น ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขต่อไปอีกวาระหนึ่ง [ตามมติคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 8/2563 (วาระลับ) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563] โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญจ้าง (วาระที่ 2) เป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
39. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จำนวน 6 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ดังนี้
1. ศาสตราจารย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีลาภ ตั๊นสวัสดิ์
3. รองศาสตราจารย์ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์
4. นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล
5. ศาสตราจารย์มรรยาท รุจิวิชชญ์
6. ศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี