1.ในกระบวนการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการพลเรือน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หากข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งลงโทษทางวินัยในภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด (มาตรา 96 แห่งพ.ร.บ.ข้างต้น)
ส่วนกรณีข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกได้ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ทั้งนี้ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงก่อน หากคณะกรรมการสอบสวนหรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก็ให้ส่งเรื่องให้อ.ก.พ.จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ.กระทรวง แล้วแต่กรณี (ซึ่งผู้ถูกกล่าวสังกัดอยู่) พิจารณาเมื่ออ.ก.พ.ดังกล่าวมีมติเป็นประการใด ก็ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุฯ สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมติอ.ก.พ.นั้น (มาตรา 97 วรรคหนึ่งและวรรคสอง)
2.ในส่วนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการรายงานการดำเนินการทางวินัยทำนองเดียวกันกับมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนแต่เป็นมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ก็กำหนดแนวทางปฏิบัติในทำนองเดียวกัน
3. ประเด็นของปัญหาครั้งนี้ เกิดจากกรณีที่ส่วนราชการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายช้าง ข้าราชการรายหนึ่งแล้วรายงานไปยังอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาแล้วมีมติอ.ก.ค.ศ.ให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนหนึ่งขั้น แล้วรายงานไปยัง ก.ค.ศ. ปรากฏว่าก.ค.ศ.มีมติให้เพิ่มโทษเป็นปลดออกจากราชการ หัวหน้าส่วนราชการจึงได้มีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ ตามมติของ ก.ค.ศ. หลังจากนั้นผู้ถูกลงโทษได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว พร้อมกับมีคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดออกจากราชการนั้น เช่นนี้ หัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งสั่งลงโทษปลดออกนั้น จะมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษปลดออกดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด
4.คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพิจารณาเรื่องนี้แล้ว มีความเห็นโดยสรุปว่าคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการดังกล่าวเป็นการสั่งลงโทษตามมติของก.ค.ศ.โดยหัวหน้าส่วนราชการได้สั่งตามมติของ ก.ค.ศ.ตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และมีผลทันทีหากผู้สั่งลงโทษปลดออกตามมติของก.ค.ศ.มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดออกจากราชการเท่ากับเป็นการโต้แย้งมติของก.ค.ศ. ประกอบกับคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการต้องมีผลทันที การยับยั้งผลของคำสั่งดังกล่าวจะต้องยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งนั้น ด้วยการพิจารณาอุทธรณ์หรือการฟ้องคดีต่อศาลในกรณีที่ผู้ออกคำสั่งลงโทษเห็นว่าคำสั่งของตนไม่ถูกต้อง ก็ชอบที่จะยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งนั้นเสีย มิใช่การสั่งทุเลาการบังคับแต่อย่างใด อีกทั้งหากต่อมาคำอุทธรณ์ฟังขึ้นก็จะมีการยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษและได้รับการเยียวยาความเสียหายที่ได้รับในภายหลัง ดังนั้นหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการแต่ประการใด เพราะว่าต้องผูกพันตามมติก.ค.ศ.ดังกล่าวในการสั่งลงโทษนั้น (ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 799/2555 กรกฎาคม 2555)
5.เรื่องการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงนั้น จะสั่งลงโทษได้แต่ละเรื่องต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา แล้วออกคำสั่งตามมติขององค์กรนั้น มิใช่คิดและสั่งได้ตามความเห็นของตนเองโดยลำพัง....จะทำสิ่งใดกับคำสั่งทางปกครองในกรณีดังกล่าว คิดและตรองดูให้รอบคอบก่อนนะครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี