1. โดยที่พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 มาตรา 12 กำหนดว่า ผู้รับจำนำต้องจัดให้มีป้ายคำว่า “โรงรับจำนำ” ตามลักษณะที่พนักงานผู้ออกใบอนุญาตกำหนด แสดงไว้ในที่เปิดเผยหน้าโรงรับจำนำ (วรรคสอง) ในกรณีที่เทศบาลหรือทางราชการตั้งโรงรับจำนำ เทศบาลหรือทางราชการอาจใช้คำอื่นแทนคำว่า “โรงรับจำนำ” ก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำให้ใช้ได้
2. ตามปกติที่เราเห็นและรู้จักกันมานาน เรามักจะเห็นชื่อเป็นภาษาจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะใช้ชื่อของผู้ขอตั้งโรงรับจำนำ จนกระทั่งมีการหยอกกันเล่นว่า ทำไมไม่ตั้งชื่อว่า “โรงรับจำนำย่องเงียบสูญ” กันบ้างนั้นก็เป็นเรื่องที่คุยกันทั่วไป
3. ประเด็นเรื่องการใช้ชื่อโรงรับจำนำนี้ กรมการปกครองเองก็ยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ชื่อโรงรับจำนำไว้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับการตั้งชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทแต่อย่างใด
4. ครั้งนี้เกิดปัญหาขึ้นมาเกี่ยวกับการใช้คำว่า “กรุงไทย” มาเป็นชื่อของโรงรับจำนำโดยกรมการปกครอง จึงหารือคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยว่า ผู้ยื่นคำขอสามารถใช้คำว่า “กรุงไทย” เป็นส่วนประกอบของคำว่า “โรงรับจำนำ” ได้หรือไม่ ประการใดพร้อมกันนั้นได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาได้มีการจดทะเบียนโรงรับจำนำโดยใช้คำว่า “กรุงไทย” เป็นส่วนประกอบของชื่อโรงรับจำนำ จำนวน 8 แห่งแล้ว
5. ปัญหาประการนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า โดยที่พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้มีโรงรับจำนำไว้เป็นเกณฑ์สำคัญ โดยไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ชื่อของโรงรับจำนำไว้อย่างชัดเจน แต่หากชื่อของโรงรับจำนำมีความซ้ำซ้อน ความไม่เหมาะสมหรือทำให้เกิดความสับสน คล้องจองกับกิจการใดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนโรงรับจำนำ ก็สามารถใช้ดุลพินิจตามกฎหมายทั่วไปว่าด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแจ้งให้ผู้ขออนุญาตจัดตั้งเปลี่ยนชื่อได้ สำหรับกรณีนี้ เมื่อปรากฏว่า ผู้ขออนุญาตจัดตั้งโรงรับจำนำรายนี้ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงรับจำนำโดยใช้ชื่อดังกล่าวมาหลายแห่งแล้ว ประกอบกับผู้รับอนุญาตก็ได้ดำเนินกิจการโรงรับจำนำมาเป็นเวลานานและขยายกิจการมาหลายสาขาแล้ว การที่จะให้เขาเปลี่ยนชื่อก็อาจจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนมากเกินสมควร (ความเห็นของคณะกรรมการฯคณะที่ 1 การประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565)
6. ตรงนี้ คณะกรรมการฯ นอกจากจะให้ความเห็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังแนะนำให้ส่วนราชการควรกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องนี้ขึ้นมาให้เจ้าหน้าที่ใช้ประกอบการทำงานด้วยนะ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี