ละเลงหนัก!‘ก้าวไกล’ซัด ‘กฤษฎีกา’ไม่ฟังเสียงประชาชน ‘สมศักดิ์’แจงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เพิ่มความหลากหลายทางเพศตั้งครอบครัวได้ เพื่อความเสมอภาค ด้านปชป.ชี้เปิดช่องคนทุกเพศเลือกคู่ชีวิต ขณะที่ ‘ฝ่ายค้าน’ดาหน้าไม่เอาพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซัดไม่ตอบโจทย์ ‘ไพบูลย์’แย้งเนื้อหาใกล้เคียงกัน
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เวลา 12.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ 4 ฉบับประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ.... หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะซึ่งเป็นฉบับที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ
2.ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอ 3.ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดย ครม. และ4.ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ที่เสนอโดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. และคณะ เสนอ
จากนั้นที่ประชุมให้ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ชี้แจงหลักการและเหตุผลแต่ละฉบับ
โดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมว่า การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคัดค้านร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยเสนอให้ออกกฎหมายแยกเฉพาะแทนการแก้ไขพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ดูแล้วย้อนแย้ง เพราะในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ครม.เสนอก็นำบทบัญญัติบางมาตราในพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาอ้างอิงงานวิจัย โดยใช้ความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงร่างพ.ร.บ.นี้คือ การเลือกปฏิบัติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ งานวิจัยนี้มีคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้ว เอาความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงเพื่ออะไร แต่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องประชาชน แค่พื้นฐานจะใช้ชีวิตกับใคร ก็ยังไม่มีสิทธิมนุษยชนแบบ100% แม้จะยอมรับแต่มีเงื่อนไขการยอมรับ เราไม่ได้เรียกร้องสิทธิ แต่สิทธิเหล่านี้ถูกพรากไป ทั่วโลกต่อสู้เรื่อความเสมอภาคทางเพศ แต่ประเทศไทยกลับกดความเสมอภาคทางเพศไม่ให้เกิดขึ้น อย่าให้ประชาชนสิ้นหวังกลไกระบบรัฐสภา ครม.ที่ยกร่างร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตอาจคิดเป็นชัยชนะตัวเอง แต่เป็นความพ่ายแพ้ของ LGBT เพราะสิ่งที่ยัดเยียดให้คือ ความไม่เสมอภาค
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงถึงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ตนได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้เสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยมีหลักการ คือ เป็นการรองรับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฏิบัติ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหตุผลความจำเป็นในการเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมาย ในการจัดการความสัมพันธ์ในครอบครัว และขจัดความไม่เป็นธรรม ที่อาจก่อให้เกิดในครอบครัวหลากหลายทางเพศ เช่น การที่คู่ชีวิตไม่สามารถจัดการทรัพย์สินที่ทำมาร่วมกันได้ สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม สิทธิจัดการแทนผู้เสียหายในการดำเนินคดี สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้ทุกภาคส่วนเรียนรู้และเข้าใจ ในการอยู่ร่วมกัน ที่จะเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายใด อนุญาตให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถจดทะเบียนสมรสได้ เพราะการจดทะเบียนสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องสมรสระหว่างชาย และหญิง เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริง มีคู่รักหลากหลายทางเพศจำนวนมาก จึงควรบัญญัติกฎหมาย เพื่อรับรองความสัมพันธ์ โดยร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้พัฒนามาจากการศึกษาด้านมนุษยชน ด้านต่างประเทศ ด้านศาสนา ตลอดจนบริบทของสังคมไทย พร้อมมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เรียบร้อยแล้ว
นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของพรรคประชาธิปัตย์ มีหลักคิดแตกต่างจากฉบับ ครม. เพราะกระทรวงยุติธรรมมองว่า คู่สมรสต้องเป็นชายหญิงเท่านั้น การแต่งงานของเพศอื่นถูกมองเป็นเพียงคู่ชีวิต จึงถูกกลุ่ม LGBTQ+ ต่อต้าน เพราะมองเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่กฎหมายพรรคประชาธิปัตย์เปิดให้คนทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกัน เป็นทางเลือกทุกคู่ชีวิตทั้งชาย-ชาย,หญิง-หญิง รวมทั้งชาย-หญิง คำนิยามคู่ชีวิตของครม.เขียนว่า “คู่ชีวิต” คือ บุคคล 2 คน เป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และจดทะเบียนคู่ชีวิตตามพ.ร.บ.นี้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ให้นิยาม“คู่ชีวิต”คือ บุคคล 2 คน ไม่ว่า เพศใดจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ตามพ.ร.บ.นี้ อยากให้ใช้ร่างพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างหลัก เพราะมีมิติพัฒนาความสัมพันธ์ พัฒนาครอบครัว เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมซื้อเวลาของผู้มีอำนาจที่มักบอกขอกลับศึกษาผลกระทบก่อน เป็นการประกาศใช้พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อนำไปสู่การสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจังและจริงใจต่อไป ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ มองคนเท่ากัน ให้โอกาสทุกคน ทุกเพศ เลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชีวิตตัวเองได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นความหวังของทุกคู่ชีวิต
ต่อมาที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยส.ส.ฝ่ายค้านขึ้นมาสนับสนุนให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล เพื่อให้สิทธิความเป็นธรรมกับกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับหรือเลือกจะสมรสกับใคร โดยไม่นำเพศสภาพ หรือเพศกำเนิดมาเกี่ยวข้อง และเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม. มีเนื้อหาและหลักการไม่ตรงกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่สามารถนำมาแทนกันได้ ขณะที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมองว่า การไปแก้ไขนิยามเรื่องคู่สมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาไปกระทบกับกฎหมายอื่นๆอีกหลายฉบับ ซึ่งร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.มีความคล้ายคลึงกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในหลายประเด็น หากประเด็นใดที่เห็นไม่ตรงกันสามารถไปแก้ไขในชั้นกมธ.ได้
นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.ไม่ตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ อยากให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปก่อนแล้วไปแก้ไขในชั้นกมธ.อีกครั้ง ร่างของพรรคก้าวไกลแก้แค่ 3 คำ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือ 1.การสมรสชาย-หญิง แก้เป็นการสมรสระหว่างบุคคล-บุคคล 2.สามีภริยา เป็นคู่สมรส 3.บิดามารดา เป็นบุพการี ไม่มีความยุ่งยากอะไร อย่ามองแค่กฎหมายนี้เสนอโดยพรรคก้าวไกล แต่เป็นกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนหลายล้านคน อยากให้รับหลักการเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกัน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.แทนร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลที่ไปตัดคำว่า ชาย-หญิงออกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กระทบสิทธิประชาชนที่เป็นชายหญิงทั่วประเทศ เมื่อเทียบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จาก 17 ประการ มีความเหมือนกัน 15 ประการ ทั้งการสมรส การรับรองบุตรบุญธรรม การยินยอมรักษาพยาบาล สิทธิที่จะได้จากรัฐในฐานะคู่สมรส มีต่างกันอยู่ 2 ข้อคือ การหมั้นกับการอุ้มบุญที่สามารถไปเพิ่มเติมเนื้อหาในชั้นกมธ.ได้ ถือเป็นทางออกดีที่สุดในการรักษาสิทธิทุกฝ่าย โดยไม่กระทบสังคมส่วนใหญ่ การออกกฎหมายใดๆเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ต้องไม่กระทบสิทธิคนกลุ่มอื่น หากร่างกฎหมายมีผลสัมฤทธิ์เหมือนกัน ต่างกันแค่ชื่อ วิธีบัญญัติกฎหมาย ก็น่าจะยอมกันได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี