"วราวุธ"เผยบ่ายนี้รู้แคนดิเดตนายกฯ ชทพ. ย้ำส่งแค่ 100 เขต หวัง กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งคงไม่มีอะไรแปลกๆ เข้ามา ลั่น ส.ส.ของพรรคเข้าประชุม 15-16 ก.พ.ครบทั้งสองวัน
เมื่อเวลา 08.50 น.วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมบริหารพรรค ชทพ.จะประชุมพิจารณารายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในช่วงบ่ายวันที่ 7 ก.พ.ว่า บ่ายวันเดียวกันนี้ ชทพ.จะมีการประชุม กก.บห.เพื่อตัดสินรายชื่อที่จะเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คาดว่าไม่เกินเวลา 15.00 น.น่าจะได้รายชื่อกันเรียบร้อย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ชทพ.ส่งผู้สมัครครบ 400 เขต หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ไม่ครบ เพราะด้วยการใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ทำให้สามารถลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อได้ทุกเขตแม้จะไม่ส่งผู้สมัครส.ส.ในเขตนั้น จึงจะส่งประมาณ 100 เขตเท่านั้น โดย ชทพ.ยังตั้งเป้าว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเพื่อให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคได้
เมื่อถามถึงการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งแรกของพรรคที่ จ.สุพรรณบุรี ในวันที่ 10 ก.พ.นี้ นายวราวุธ กล่าวว่า จะมีการเปิดเวทีปราศรัยที่ลานหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นการเอาฤกษ์เอาชัย นำเสนอนโยบายให้กับชาว จ.สุพรรณบุรี ซึ่งถือเป็นฐานที่มั่นของ ชทพ.และเป็นการเปิดตัวแสดงความพร้อมของ ชทพ.ให้กับประชาชนทั่วประเทศได้เห็น ส่วนการเปิดปราศรัยในเวทีอื่นๆ หลังจากนี้จะต้องหารือกับพื้นที่และผู้สมัครก่อนว่าจะให้ทางพรรคไปปราศรัยอย่างไร เพราะในบางพื้นที่มีความละเอียดอ่อน บางพื้นที่ผู้สมัครของเดินไปเคาะประตูบ้านดีกว่าให้เปิดปราศรัย ถือเป็นยุทธศาสตร์แต่ละคนแต่ละพื้นที่
เมื่อถามถึงการจับมือจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้ง ท่าทีของ ชทพ.เป็นอย่างไร นายวราวุธ กล่าวว่า หลังเลือกตั้งสิ่งที่สำคัญคือ แนวนโยบายที่ได้นำเสนอคือ ว้าว ไทยแลนด์ ต้องได้รับการตอบรับ และเมื่อเลือกตั้งเข้ามาแล้วเราจะต้องนำนโยบายที่เสนอนั้นไปปฏิบัติได้จริง และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หลังเลือกตั้งจะต้องดูตัวเลขว่าแต่ละพรรคมีตัวเลขออกมาเป็นสมการได้เท่าไหร่ แล้วจึงมาหารือกันถึงแนวทางการทำงาน
เมื่อถามถึงการพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้ง ของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องยึดเอาเสียงของประชาชนเป็นหลัก คงไม่มีอะไรแปลกๆ เข้ามา สิ่งที่เป็นขนบธรรมเนียมของชาวบ้านที่คุ้นเคย การจะไปปรับเปลี่ยนอาจทำให้ชาวบ้านสับสนได้ เพราะบางครั้งเราเคยเห็นแล้วว่าพอข้ามถนนไปเป็นอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งแล้ว
ต่อข้อถามว่า กรณีในอดีตเคยมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยการผ่ากลางเขตเลือกตั้ง เราจะได้เห็นอย่างนั้นอีกหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ตนก็ตอบไม่ถูก ต้องแล้วแต่การรับฟังเสียงของประชาชนเสียก่อน เพราะทราบว่า กกต.ต้องรับฟังเสียงของชาวบ้าน ที่จะต้องรับฟังทุกพื้นที่แล้วสะท้อนกลับมา ต้องให้แต่ละพื้นที่เป็นคนตัดสิน เพราะบางครั้งชาวบ้านคุ้นเคยแล้วก็ไม่ได้เป็นปัญหา แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยและทำให้เกิดความสับสนคงไม่ควร
เมื่อถามถึงกรณีหลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่ององค์ประชุมสภาในวันที่ 15 - 16ก.พ.ที่จะมีการอภิปรายโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 นายวราวุธ กล่าวว่า ในส่วนของ ชทพ.ได้ขอให้สมาชิกทุกคนของพรรคอยู่ครบในการเข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้เป็นการอภิปรายโดยไม่ลงคะแนน เป็นโอกาสที่ฝ่ายค้านจะได้ตั้งคำถามและฝ่ายรัฐบาลจะได้ตอบคำถาม และข้อสงสัยในสิ่งที่ประชาชนสงสัย องค์ประชุมจะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การอภิปรายใน 2 วันนั้นเป็นไปด้วยดี
- 006