เลขาฯกกต.พบ‘วิษณุ’กว่าชั่วโมง เผยแจงรายละเอียด ม.169 ห้ามใช้ทรัพยากร-บุคลากรของรัฐเพื่อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง ยันไม่ได้ตกลงเรื่อง‘วันเลือกตั้ง’ บอก ครม.และประชาชนต้องรู้พร้อมกัน คาดหากยุบสภาวันนี้ ‘21 มี.ค.66’กกต.นัดประชุมหารือสรุปไทม์ไลน์เลือกตั้ง ขอทุกฝ่ายอยู่กับที่ก่อน ชี้ กกต.ประคองสถานการณ์ จนถึงวันเลือกตั้ง
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 20 มีนาคม 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุถึงการเข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (20 มีนาคม 2566) ว่า ได้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายในมาตรา 169 ทั้งเรื่องการลงพื้นที่หาเสียงในอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งไม่ได้มีการตกลงเรื่องการเลือกตั้ง แต่เน้นการพูดคุยมาตรา 169 ที่ กกต.ออกระเบียบกำหนดข้อห้ามการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง
นายแสวง กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต.และน่าจะประกาศหลังการยุบสภา ซึ่งในวันนี้นายวิษณุ ยังไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าวันนี้จะมีการประกาศยุบสภาหรือไม่
เมื่อถามว่าความเป็นไปได้ที่วันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค.ใช่หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ตามกฎหมายคือไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วัน แต่ประเด็นคือจะเลือกให้เป็นวันหยุด
เมื่อถามว่ารัฐบาลได้เสนอความเห็นวันที่จะเลือกตั้งหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่มี
เมื่อถามว่าวันหยุดยาว วันหยุดสั้น จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือไม่ นายแสวง กล่าวยืนยันว่า เป็นไปตามกฎหมาย ไม่รู้ว่าจะตกอยู่ในช่วงวันไหน ภายใน 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน
เมื่อถามว่ามีพรรคการเมืองไปร้องศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินกรณีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กังวลว่าจะทำให้วันเลือกตั้งขยายออกไปหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า กกต.เดินตามรัฐธรรมนูญ เวลาก็เดินตามที่รัฐธรรมนูญเช่นกัน
เมื่อถามว่ามีแผนอื่นกำหนดไว้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่มี เป็นไปตามกรอบเวลา เพราะกฎหมายให้ทำอย่างนั้น หากมีการไต่สวนฉุกเฉินก็คงต้องรอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่ามีนักการเมืองร้องเรียนเรื่องเขตเลือกตั้งในหลายพื้นที่ กกต.จะต้องดำเนินการอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้สิทธิ์ตามกฎหมายและกกต. ก็จะต้องรอศาล คงจะคาดเดาอะไรก่อนไม่ได้ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
“ยืนยันว่าการพูดคุยกับนายวิษณุวันนี้มีเรื่องเดียวคือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 169 ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลหรือ ครม.ก็ต้องควรรู้เท่ากับคนอื่น เพราะเรื่องของ กกต. ไม่ใช่เรื่อง ครม. การกำหนดไทม์ไลน์ต่างๆเป็นเรื่องของ กกต. หากครม.รู้ คนอื่นก็ต้องรู้เท่ากัน ประชาชนก็ต้องรู้เท่ากัน” นายแสวง กล่าว
เมื่อถามว่าประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไร หากพระราชกฤษฎีกายุบสภาประกาศในวันนี้ นายแสวง กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะประชุมกันในวันพรุ่งนี้หากมีการยุบสภาในวันนี้ ซึ่งกกต.เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันรับสมัคร กำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดเขตเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่จะไปสมัคร
เมื่อถามว่าวันสมัครจะเป็นวันที่ 3 หรือ 7 เมษายน นายแสวง กล่าวว่า ขอให้รอผลจาก กกต.พิจารณาก่อน ซึ่งถือเป็นอำนาจของกกต. ภายหลังจากที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา ในราชกิจจานุเบกษา ทาง กกต. ได้มีการนัดประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันพรุ่งนี้ (21มี.ค.66) ซึ่งขณะนี้ทาง กกต. ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ทุกด้านแล้ว พร้อมย้ำว่า กกต.ไม่ได้คิดต่างกับประชาชน
เมื่อถามว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 7 หรือ 14 พ.ค. มีความแตกต่างกันอย่างไร นายแสวง ย้ำว่า เป็นไปตามกรอบกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีหลายพรรคการเมืองออกมาร้องเรียนจะทำให้การเลือกตั้งสะดุดลงหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นนายทะเบียน ได้ทำตามกฎหมายทุกอย่าง บนการแข่งขัน อย่าไปกังวลอะไรมากถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งปล่อยให้เป็นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตามกฎหมายยังคงให้ความคุ้มครองทุกคนที่ยังไม่ได้ทำความผิด และเมื่อถามว่าจะเก็บไว้เพื่อดำเนินการตามหลังหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ไม่สามารถพูดไปก่อนล่วงหน้าได้ หากคนทำผิดก็ต้องผิด หากดีก็ดีแน่ ซึ่งทุกอย่างต้องไปดูที่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยบางการกระทำ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเป็นการกระทำความผิดก็ได้ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่มาร้องและผู้ที่ถูกร้อง
เมื่อถามว่า การแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง ท้องถิ่นที่ลงในราชกิจจานุเบกษาวันนี้ ระบุให้ข้าราชการทางการเมืองช่วยหาเสียงได้ นายแสวง กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภาตนไม่สามารถตอบแทนได้ ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น หากกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ก็คงไปริดรอนสิทธิ์เขาไม่ได้ อยู่ที่วันออกกฎหมายว่าสภาเขาคิดอย่างไร เมื่อถามว่าข้าราชการการเมือง จะสามารถช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า กฎหมายทุกเรื่องกำหนดชัดไว้แล้ว และหน้าที่ของ กกต. ต้องบริหารสถานการณ์การเลือกตั้งให้เป็นไปตามความเรียบร้อย ทุกคนควรอยู่กับที่ที่ควรอยู่ทั้งกกต. นักการเมือง ประชาชน และรัฐบาล ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งกกต. จากบริหารสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้นขอให้มั่นใจและสบายใจได้ ว่ากกต. จะทำงานอย่างเต็มที่
-005