วิเคราะห์จุดแข็ง-อ่อนว่าที่รัฐบาลใหม่‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ กับโจทย์ใหญ่การบ้านศก.
14 มิถุนายน 2566 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ฝากการบ้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลใหม่” โดยในช่วงหนึ่ง ผู้ดำเนินรายการได้ให้วิทยากรวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่ง ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ของตนจะใช้ฐานคิดจากพรรคก้าวไกล อันเป็นพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1
จุดแข็งของพรรคก้าวไกล คือ 1.จริงจังกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง กับ 2.สนใจปัญหาเศรษฐกิจของคนตัวเล็กตัวน้อย และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากดูจากนโยบายจะพบว่า พรรคก้าวไกลมีความพยายามทำระบบรัฐสวัสดิการ ใช้งบประมาณปีละ 6.5 แสนล้านบาท กระจายไปให้ประชาชน เช่น เงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน ขณะที่ระบุงบประมาณที่จะนำมาใช้ว่ามาจากภาษี อาทิ ภาษีที่ดินรกร้าง ภาษีที่ดินรวมแปลง ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีนิติบุคคล
“ส่วนจุดอ่อนก็คือเนื่องจากมีการเก็บภาษีตัวใหม่ๆ เยอะมาก ภาคเอกชนก็เกิดความกังวลมากว่านโยบายเหล่านี้มันจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่? นอกจากภาษีหลายคนยังห่วงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ประเด็นที่เป็นข้อสรุปของผมเองก็คือว่า แม้จะมีความตั้งใจที่ดี แต่ผมเชื่อว่านโยบายภาษีที่เสนอหลายตัวจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ ” ศ.ดร.อารยะ กล่าว
ศ.ดร.อารยะ กล่าวต่อไปว่า อย่างเรื่องการเก็บภาษีที่ดินรกร้าง ที่ผ่านมาพบการปลูกกล้วยบ้าง มะนาวบ้าง สาเหตุคืออัตราการเก็บภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้ทำเกษตรกรรมนั้นต่ำกว่าอัตราของที่ดินรกร้าง บวกกับเจ้าของที่ดินต้องการเก็บที่ดินนั้นไว้ลงทุนกับสิ่งที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม แต่วิธีการแบบนี้ทำได้เฉพาะเจ้าของที่ดินรายใหญ่เท่านั้นเพราะมีความพร้อมด้านฐานะ แต่ชนชั้นกลางที่พอจะมีที่ดินอยู่บ้างไม่สามารถทำได้และต้องเสียภาษีในอัตราเต็มที่โดยไม่อาจเลี่ยง จากเป้าหมายที่ต้องการช่วยเกษตรกรและลดความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้น
ในความเห็นของตน เสนอให้ลดช่องว่างระหว่างอัตราภาษีที่ดินรกร้างกับที่ดินเพื่อการเกษตรลง การเลี่ยงภาษีก็จะลดลง โดยในต่างประเทศการเก็บภาษีที่ดินจะเรียบง่ายไม่ได้มีแบ่งหลายอัตรามากมายเหมือนประเทศไทย ทั้งนี้ วิธีคิดของรัฐบาลหรือระบบราชการคือการไปเพิ่มภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลง ภาษีความมั่งคั่ง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ร่ำรวยก็สามารถหาทางเลี่ยงภาษีได้อยู่ดี อาทิ การย้ายเงินออกนอกประเทศ การจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ทางภาษี ในขณะที่ชนชั้นกลางที่เพิ่งเริ่มมีฐานะดีขึ้นไม่สามารถทำแบบนั้นได้
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร อาจจะเป็นสีส้มคือพรรคก้าวไกล หรือสีแดงคือพรรคเพื่อไทยก็ได้ แต่ทั้ง 2 พรรคมีความคล้ายกันและจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน 1.ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพรรคเพื่อไทยจะทยอยขึ้นไปให้ถึง 600 บาท/วัน ภายใน 4 ปี ขณะที่พรรคก้าวไกลประกาศขึ้นครั้งเดียวให้ได้ 450 บาท/วัน กับ 2.การให้เงิน เช่น เงินผู้สูงอายุและเด็กเล็กของพรรคก้าวไกล หรือเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย
จุดแข็งคือในระยะสั้นจะช่วยกระตุ้นการบริโภค-จับจ่ายใช้สอยของประชาชน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) โตขึ้น แต่จุดอ่อนคือในระยะยาวอาจต้องไปหาเงินมาใช้หนี้รัฐ ยังไม่มีความชัดเจนว่าเงินที่จะนำมาให้ประชาชนนั้นมีที่มาอย่างไร โดยหากรายรับไม่พอกับรายจ่ายรัฐบาลก็ต้องกู้เงินซึ่งก็จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นภาระของรัฐบาลไปอีกหลายปี และรัฐก็ต้องเก็บภาษีมากขึ้น แต่หากไม่กู้เงินรัฐบาลก็ต้องเพิ่มการเก็บภาษีทันที
เช่นเดียวกับเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจุดแข็งคือการทำให้รายได้คนทำงานเพิ่มขึ้น รวมถึงกระตุ้นการบริโภคและการเติบโตของ GDP ในระยะสั้น ซึ่งค่าจ้างไม่ได้ขึ้นเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ แต่ต้องให้คนที่มีทักษะมีเงินเดือนสูงขึ้นด้วย เช่น ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำคือ 350 บาท/วัน คนที่มีทักษะอาจจะได้ 450 บาท/วัน อยู่ หากขยับค่าจ้างขึ้นต่ำจาก 350 เป็น 450 ขึ้นทีเดียวร้อยละ 30 คนที่มีทักษะอยู่แล้วซึ่งได้ 450 ก็คงไม่ยอม ก็ต้องให้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่อาจไมต้องขึ้นร้อยละ 30 เหมือนค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ทุกระดับต้องขยับขึ้นไม่มากก็น้อย
“แต่ระยะปานกลางหรือระยะยาวคงต้องมาดูจุดอ่อน แล้วธุรกิจ บริษัทห้างร้านที่เข้าจ้างแรงงานพวกนี้อยู่เขาจะลดคนงานไหม? เขาอาจจะไมได้เก็บคนไว้ทุกคน พอค่าแรงขึ้นโดยเฉพาะ SME ก็อาจจะต้องลดคนหรือว่าไปใช้เครื่องจักรแทน ใช้ระบบอัตโนมัติแทน ซึ่งเดี๋ยวนี้ระบบอัตโนมัติไม่แพงเหมือนสมัยก่อนแล้วด้วย มันมีโอกาสที่คนจะถูกทดแทนโดยเครื่องจักร โดยเทคโนโลยีได้ อันนี้จุดอ่อนคืออาจทำให้คนมีงานทำในฐานะลูกจ้างน้อยลง” น.ส.กิริฎา กล่าว
น.ส.เอด้า จิรไพศาลกุล CEO and Co-Founder เทใจ-TaejaiDotcom กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นในฉันทามติของประชาชนจะทำให้พรรคแกนนำรัฐบาลที่ได้รับเลือกมานั้นได้เป็นรัฐบาล ซึ่งในฐานะที่ทำงานภาคประชาสังคมและอยู่กับชุมชน จุดแข็งของคือมีนโยบายที่เห็นหัวประชาชน ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้การพัฒนาประเทศครอบคลุมประชาชนในวงที่กว้างขึ้น อีกทั้งด้วยความที่ประชาชนเลือกมาจึงมีได้รับการสนับสนุนจากประชาชน นอกจากนั้นยังมีนโยบายที่แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น กระบวนการยุติธรรม สิ่งแวดล้อม มากไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจ
“ในฝั่งของจุดอ่อน ด้วยความที่แกนนำรัฐบาลที่กำลังจะขึ้นมา พรรคอันดับ 1 ไม่เคยบริหารงานราชการมาก่อน กับอีกพรรคหนึ่งที่ไมได้บริหารงานราชการมา 8-9 ปีแล้ว ฉะนั้นเชื่อว่าจุดอ่อนอันหนึ่งเลยคืออาจจะมีระยะเวลาในการปรับไม่ว่างบประมาณที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับนโยบายที่เขาวางไว้ กับปรับตัวบุคลากรในภาครัฐที่จะเอื้อให้การทำนโยบายที่วางไว้เป็นไปตามนั้น” น.ส.เอด้า กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี